รัฐบาลปูทางการค้าไทย-มาเลเซีย เติบโตต่อเนื่อง มุ่งเป้า 1.02 ล้านล้านบาท ในปี 2568

24 กรกฎาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีกับความร่วมมือทางการค้าของไทย-มาเลเซียที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นการค้าทั้งสองฝ่ายจะบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.02 ล้านล้านบาท) ในปี 2568 รวมถึงจะมีการหารือเพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ระดับรัฐมนตรี ซึ่งมีแผนจะจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2566 นี้

โดยรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กลางเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้หารือกับกระทรวงการค้าภายในและค่าครองชีพมาเลเซีย (Secretary General of the Ministry of Domestic Trade and Cost of Living) และคณะ เพื่อหารือถึงความร่วมมือด้านการส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ การกำกับดูแลการค้าภายในประเทศให้มีความเป็นธรรม และการฟื้นฟูการค้าชายแดน

ซึ่งมาเลเซียถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในอาเซียน อีกทั้งการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35 ของการค้ารวมระหว่างสองประเทศ โดยปี 2565 มีตัวเลขการค้าชายแดนระหว่างกันอยู่ที่มูลค่า 336,118.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.05

โดยไทยมีสินค้าที่ส่งออกไปยังมาเลเซียที่สำคัญได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ

นอกจากนี้ มาเลเซียยังมีความสนใจที่จะร่วมมือเพื่อส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์กับไทย นับได้ว่าเป็นการบุกเบิกประเด็นธุรกิจใหม่ๆร่วมกัน ซึ่งมีการวางแผนที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการแฟรนไชส์เข้าร่วมงานแสดงสินค้าของแต่ละฝ่ายเพื่อสร้างโอกาสขยายพันธมิตรทางการค้า การจับคู่ทางธุรกิจ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องขั้นตอนและกฎระเบียบเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์

ทั้งนี้ มาเลเซียเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ของไทย โดยเฉพาะสาขาอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งปัจจุบันแฟรนไชส์ของไทยที่อยู่ในตลาดมาเลเซีย จำนวน 6 ราย ได้แก่ อเมซอน แบล็คแคนยอน กาแฟดอยช้าง ตำมั่ว บาบีก้อน และสมาร์ทเบรน (Smart Brain) ขณะที่แฟรนไชส์ของมาเลเซียที่อยู่ในไทยมีประมาณ 6 ราย อาทิ Secret Recipe Laundry Bar และ Unisense

ที่ผ่านมา ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพเข้าไปลงทุนในมาเลเซีย ได้แก่ ธุรกิจสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป โดยเฉพาะสินค้าฮาลาล ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารไทย ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว การก่อสร้าง โดยรัฐบาลได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด การขยายพันธมิตรการค้าไทย การสนับสนุนการลงทุนของนักธุรกิจไทย และ กิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยร่วมกับพันธมิตรในมาเลเซียมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ

1) การจัดโครงการส่งเสริมการค้าสินค้าอาหารฮาลาลในประเทศมาเลเซียภายใต้ชื่องาน “I Love Thailand Fair”

2) การจัดตั้ง Thailand Pavilion ในงานแสดงสินค้า Malaysia International Halal Showcase (MIHAS) ซึ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อและผู้บริโภคในมาเลเซียต่อสินค้าฮาลาลจากไทย

3) การจัดกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยและธุรกิจบริการร้านอาหารไทยในมาเลเซีย ซึ่งมุ่งประชาสัมพันธ์สินค้าและร้านที่ได้รับตรา THAI SELECT ในมาเลเซีย ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น และ

4) เชื่อมโยงสมาคมการค้า/ผู้ประกอบการมาเลเซียกับกลุ่มผู้ประกอบการไทย อาทิ สมาคมผู้ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์แห่งรัฐสลังงอร์ (The Selangor And Federal Territory Engineering And Motor Parts Traders Association: EMPTA) กับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น

“นายกรัฐมนตรีชื่นชมความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่ทำให้การค้าระหว่างไทย-มาเลเซียเติบโต โดยเฉพาะการเปิดตลาดธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างโอกาสให้นักธุรกิจทั้งสองประเทศ โดยรัฐบาลพร้อมที่จะกระชับความร่วมมือระหว่างไทย-มาเลเซียในทุกมิติ และทุกระดับ เพื่อกระชับความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดและเพื่อเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน” นางสาวรัชดาฯ กล่าว

Written By
More from pp
TIC ไทยประกันภัย ห่วงใยคนไทยช่วงวิกฤตโควิด-19 ขยายเวลาผ่อน 0% นานสูงสุด 10 เดือน*
TIC ไทยประกันภัย เอาใจช่วยคนไทยช่วงวิกฤตจากพิษโควิด-19 ขยายระยะเวลาการผ่อนเบี้ยประกันภัย 0% ให้นานขึ้นสูงสุดถึง 10 เดือน* เพียงมียอดซื้อประกันตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไปต่อผลิตภัณฑ์ ผ่าน...
Read More
0 replies on “รัฐบาลปูทางการค้าไทย-มาเลเซีย เติบโตต่อเนื่อง มุ่งเป้า 1.02 ล้านล้านบาท ในปี 2568”