ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล
เอาตามสภาพความเป็นจริงแล้ว การพัฒนาประเทศชาติในยุคสมัยตั้งแต่เริ่มต้นราชวงศ์จักรี มาจนถึงห้วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ออกดอกออกผลนำมาสู่ความเจริญที่เป็นรากฐานอันสำคัญยิ่งสำหรับสิ่งที่ได้รับการสานต่อในห้วงเวลาที่ประเทศไทยนั้นปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เพราะฉะนั้นการบัญญัติให้วันที่ 24 มิถุนายนซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเพียงวันเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ให้ถูกเรียกว่าเป็นวันชาติของไทย เป็นความตั้งใจที่จะปฏิเสธอดีตความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ รวมไปถึงความสำคัญอันมิควรลืมได้ของบูรพกษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรีตั้งแต่เริ่มกรุงรัตนโกสินทร์
วันที่ 24 มิถุนายน อาจจะถูกเรียกในงานเสวนาเชิงสนุกสนานได้ว่าเป็นวันชาติไทย แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่ว่าคุณจะพยายามเขียนประวัติศาสตร์ออกมาอย่างไร คำอธิบายที่เหมาะสมที่สุดสำหรับ 24 มิถุนายน คือวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น
ความเป็นชาตินั้นมีอยู่จริง มันไม่ใช่สิ่งสมมติ พสกนิกรชาวไทยนั้นมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาช้านาน ถึงแม้ว่ามีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ รวมถึงรสนิยมด้านต่างๆ ในการดำรงชีวิต แต่ความเป็นชาติที่มีมาช้านานในส่วนอื่นนั้น มีความเป็นเอกภาพผ่านมาหลายยุคหลายสมัย ด้วยความที่คนไทยนั้นไม่เคยลืมว่าบรรพบุรุษได้เคยเสียสละเลือดเนื้อเพื่อบูรณาการดินแดนที่นำมาสู่ความเป็นขวานทองในยุคปัจจุบัน
ความเป็นชาตินั้นย่อมไม่สามารถลืมสิ่งที่เป็นความสำเร็จในเชิงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ได้ ตลอดจนยุคหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผลงานอันสำคัญยิ่งของทุกรัฐบาลตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน
ชาติคือชุมชนเสถียรของมนุษย์ ที่ก่อตัวขึ้นบนพื้นฐานของภาษา ดินแดน ประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ องค์ประกอบสี่ประการนี้สามารถยึดโยงกลับไปสู่ยุคสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ทั้งนั้น นอกเหนือไปจากนั้น หากดูถึงระยะเวลาอันยาวนานในยุคสมัยที่ประเทศไทยนั้นปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มันเป็นห้วงเวลาที่ราชอาณาจักรไทยนั้นมีพัฒนาการในหลายๆ ด้าน รวมไปถึงการสานความสัมพันธ์ที่สำเร็จลุล่วงและออกดอกออกผลกับประเทศอื่นๆ
บททดลองของการใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันนั้นก็มีในบางระยะเวลาซึ่งผลทางการบริหารราชการแผ่นดินนั้นมีผลต่อการพัฒนาชีวิตของพลเมืองให้ดีขึ้น อย่างไรก็ดีแม้จวบจนยุคปัจจุบันความไร้ซึ่งปัญหาของสถาปัตยกรรมทางการเมืองยุคนี้ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ความสำเร็จของการเมืองเรื่องประชาธิปไตยยังเป็นที่ถกเถียงและมีข้อสงสัยอยู่มาก ที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้คือที่เรียกภาษาอังกฤษว่า Dysfunctional Democracy
กล่าวได้ว่า Democratic Experiment ในประเทศไทยนั้น เมื่อเวลาล่วงผ่านไป 91 ปี ยังมิได้สร้างผลงานอันยิ่งใหญ่ในหลายเรื่องได้เทียบเท่ากับวิวัฒนาการในด้านต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในยุคสมัสมบูรณาญาสิทธิราชย์เเละอาณาจักรต่างๆมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์
ในโลกซึ่งมีความผันผวนในความเป็นจริงของการบังคับใช้ระบอบการปกครองในหลายๆ ประเทศ ซึ่งนำมาสู่ยุคของ Illiberal Democracy และนำมาสู่ยุคของ Liberal Totalitarianism ในที่สุดแล้วโมเดลของการเมืองซึ่งนำมาสู่สถาปัตยกรรมทางการปกครองที่ออกดอกออกผลที่สุดให้กับการพัฒนาประเทศชาติ เป็นสิ่งที่ในปัจจุบันถูกท้าทาย
ในวิชารัฐศาสตร์มักจะมีการสอนกันว่า Democracy is the least worst form of government หรือระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองซึ่งเลวร้ายน้อยที่สุด อีกสิ่งหนึ่งที่ลืมสอนกันก็คือว่า ความเจริญ บ่อยครั้งก็ไม่ได้เกิดขึ้นในยุคสมัยที่ประเทศใดประเทศหนึ่งปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมตะวันตกหรือในรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันในไทย
กล่าวโดยสรุป ถ้าจะพูดถึงความยิ่งใหญ่ของชาติไทยซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะช่วงหลัง 2475 นั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ที่ยิ่งใหญ่ไพศาลไปมากกว่าประวัติศาสตร์หลัง 2475
24 มิถุนายน ไม่ควรที่จะเคยถูกเลือกเเละบัญญัติให้เป็นวันชาติไทยในยุคของคณะราษฎรตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ
คณะราษฎรอาจจะเรียก 24 มิถุนายน เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือวันประชาธิปไตย หรือไม่ก็วันอภิวัฒน์สยาม แต่เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมที่จะเรียก 24 มิถุนายน ให้เป็นวันชาติไทยมาตั้งแต่แรก ในเมื่อความเป็นชาติของประชาชนชาวไทยบนแผ่นดินไทยนี้มีมาช้านาน ตั้งแต่สมัยที่เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แน่นอน มีมานานแสนนานก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง