กรมควบคุมโรค รณรงค์วันมาลาเรียโลก 2566 ยกระดับมาตรการจัดการการระบาดในพื้นที่ชายแดน มุ่งเป้าสู่ประเทศไทยปลอดไข้มาลาเรียภายในปี 2567

กระทรวงสาธารณสุข เปิดกิจกรรมรณรงค์วันมาลาเรียโลก ประจำปี 2566 ชูนโยบายเข้มยกระดับมาตรการจัดการการระบาดในพื้นที่แพร่เชื้อ มุ่งเป้าสู่ประเทศไทยปลอดไข้มาลาเรียภายในปี 2567 พร้อมส่งมอบชุดตรวจเชื้อมาลาเรียแบบรวดเร็ว และมุ้งชุบสารเคมี ให้กับ 6 จังหวัดที่มีเขตติดต่อประเทศเมียนมาร์
25 เมษายน 2566 ที่โรงแรมเดอะ แลนมาร์ค กรุงเทพฯ นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์วันมาลาเรียโลก ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมสู่การปฏิบัติ เพื่อกำจัดโรคไข้มาลาเรีย” (Time to deliver zero malaria: invest, innovate, implement) และมอบชุดตรวจเชื้อมาลาเรียแบบรวดเร็ว และมุ้งชุบสารเคมี ให้ 6 จังหวัดทางตะวันตกติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี เพชรบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันมาลาเรียโลกตรงกับวันที่ 25 เมษายน ของทุกปี โดยโรคไข้มาลาเรียถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตก ซึ่งปัจจุบันพบการระบาด และในการแก้ไขปัญหาโรคไข้มาลาเรียต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรีย

โดยชู 6 มาตรการจัดการในพื้นที่แพร่เชื้อ 6 จังหวัด ได้แก่

1) เพิ่มการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน 2) ขยายการเข้าถึงบริการตรวจรักษาในชุมชน 3) ตอบโต้เมื่อพบผู้ป่วยหรือเกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว 4) ควบคุมยุงพาหะให้ครอบคลุม 5) ติดตามการกินยา ผลการรักษาให้ครบ 6) ติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

และในวันนี้ได้ส่งมอบชุดตรวจเชื้อมาลาเรียแบบรวดเร็ว และมุ้งชุบสารเคมีให้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนได้นำไปใช้ป้องกันโรคไข้มาลาเรียในพื้นที่

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้จัดทำยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ. 2560-2569 ซึ่งผลการดำเนินงาน ตั้งแต่ปี 2560-2564 มีการประยุกต์ใช้นวัตกรรมในด้านต่างๆ ทั้งด้านการตรวจวินิจฉัย ด้านการรักษา และด้านการป้องกันควบคุมยุงพาหะ พบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยมีจำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง

แต่ในช่วงปี 2565 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายของประชากรข้ามพรมแดน โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยจำนวน 2,594 ราย ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมา ณ ช่วงเวลาเดียวกันถึง 3 เท่า พบมากสุดในจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน และกาญจนบุรี ตามลำดับ

อีกทั้งมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรีย ชนิดพลาสโมเดียมโนวไซ (Plasmodium knowlesi – Pk) มากขึ้นตั้งแต่ในช่วงปี 2565 ซึ่งเป็นเชื้อที่มีลิงหางยาวเป็นสัตว์รังโรค โดยพบมากในบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ของประเทศ

ดังนั้นกรมควบคุมโรคจึงได้ประกาศเจตนารมณ์ในการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการด้านการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวเสริมว่า ในวันที่ 25 เมษายน 2566 นี้ กรมควบคุมโรคได้จัดกิจกรรม “เข้าถึงตรงจุด หยุดการแพร่เชื้อมาลาเรีย” ภายในงานมีการเสวนาเรื่อง “นวัตกรรมสู่การปฏิบัติ เพื่อกำจัดโรคไข้มาลาเรีย” และการมอบประกาศนียบัตรและโล่เกียรติคุณให้แก่ จังหวัดปลอดไข้มาลาเรีย เขตสุขภาพปลอดไข้มาลาเรีย และผู้อุทิศตนในการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย ประจำปี 2566 เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และขอบคุณที่ทำให้คนไทยปลอดภัยจากโรคไข้มาลาเรีย

Written By
More from pp
กรมควบคุมโรค ร่วมกับเครือข่าย เร่งขับเคลื่อนการดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้าตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ 3 ด้านการป้องกันควบคุมและดูแลรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในคน ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า
Read More
0 replies on “กรมควบคุมโรค รณรงค์วันมาลาเรียโลก 2566 ยกระดับมาตรการจัดการการระบาดในพื้นที่ชายแดน มุ่งเป้าสู่ประเทศไทยปลอดไข้มาลาเรียภายในปี 2567”