“มะเร็งรักษาทุกที่” ช่วยนับแสนสร้างสุขนับล้าน ผลงาน “อนุทิน” ต่อยอดระบบสุขภาพไทย

“ผู้ป่วยมะเร็งกว่า 2 แสนคน ที่ได้รับการยกระดับการให้บริการ พวกเขาต่างมีลูก มีพ่อ มีแม่ มีพี่ มีน้อง ซึ่งคนใกล้ชิดเหล่านี้ ที่มีจำนวนหลักล้านคน ก็ล้วนมีความสุขจากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย”

“ผมไม่คิดจะเลิกระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค อะไรก็ตาม ที่เป็นสิทธิ์ของประชาชน ประชาชนก็ควรจะได้รับ สังคมไทยต้องไม่ลืมคนให้กำเนิด ต้องไม่ลืมคนคิดโครงการดี ๆ อย่างนี้แล้ว เราก็ต้องทำให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป”

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวไว้ เมื่อครั้งเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขใหม่ๆ
ท่ามกลางกระแสข่าวว่าจะมีการล้มเลิกระบบบัตรทอง ด้วยสาเหตุเรื่องงบประมาณ แต่ข่าวดังกล่าว จบลงทันที เมื่อท่าทีของนายอนุทิน ชัดเจนว่าจะเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อ ที่สำคัญยังมุ่งหมาย จะพัฒนาไปข้างหน้า และดีขึ้นเรื่อยๆ

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุด คือ โครงการ “มะเร็งรักษาทุกที่” ที่ตอบโจทย์ผู้ป่วยเป็นจำนวนนับแสนคนทั่วประเทศ
อันที่จริง การป่วยด้วยโรคมะเร็ง นับว่าสาหัสมาก แต่การรักษาที่ผ่านมา ดูจะตอกย้ำ ความปวดร้าวให้ลึกลงไปอีก

ด้วยความซับซ้อน และมีขั้นตอนมากมาย ต้องใช้หมอหลายคนในการรักษา ผู้ป่วยมะเร็งปอด 1 คน อาจต้องใช้หมอที่ดูแลการผ่าตัดปอด หมอที่ดูแลเรื่องโรคมะเร็ง หมอที่ดูแลเรื่องเลือด นักโภชนาการ เป็นต้น

ขณะที่ขั้นตอนการรักษา อาจมีทั้งการผ่าตัด การใช้ยาเคมีบำบัด และการฉายแสง ซึ่งกระจายการให้บริการ กันอยู่ในแต่ละโรงพยาบาล สร้างความลำบากให้กับผู้ป่วย ในการเดินทางมารักษา ที่ล้วนแล้วแต่เป็นภาระงบประมาณ

นี่คือปัญหาที่นายอนุทิน ได้รับฟังมานานพอสมควร และเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข

ดังนั้น เมื่อเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงเดินหน้าโดยทันที รูปแบบการแก้ปัญหาคือ ให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และสถานพยาบาลที่เกี่ยวข้อง บูรณาการข้อมูลผู้ป่วยระหว่างกัน ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง ได้รับบริการการรักษาครอบคลุมทุกกระบวนการ ในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด สามารถรักษาข้ามเขต ข้ามจังหวัดได้

นโยบายนี้ ถือว่านายอนุทิน กำลังทำเรื่องยาก แต่ที่สุด ก็ประสบความสำเร็จ และเดินหน้าเป็นรูปธรรม เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ระหว่างนั้น นายอนุทิน ได้เติมเต็มศักยภาพการรักษา เพื่อให้สอดรับกับนโยบาย ด้วยการจัดหาเครื่องฉายรังสีมาเพิ่มอีก 7 เครื่อง ติดตั้งทั่วประเทศ ได้แก่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ รพ.พุทธชินราชพิษณุโลก รพ.สมุทรสาคร รพ.ร้อยเอ็ด รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช รพ.สุรินทร์ และ รพ.มหาราชนครราชสีมา

นโยบาย มะเร็งรักษาทุกที่ นอกจากจะมีการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาต่อเนื่องโดย ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวแล้ว ยังเปิดช่องให้โรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ สามารถชักชวนโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาเป็น เครือข่ายการรักษาได้อีก ส่งผลดีต่อการลดความหนาแน่น และลดระยะเวลาการรอคิวได้อย่างมหาศาล

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การจัดบริการของเขตสุขภาพที่ 6 จ.ชลบุรี ซึ่งโรงพยาบาลใหญ่อย่าง โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี ได้ทำการเชื่อมต่อการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ด้วยการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือเอ็มโอยู (MOU) ร่วมกับ รพ.วิภาราม อมตะนคร

ซึ่งแต่เดิม รพ.มะเร็งชลบุรี มีเครื่องฉายแสง 3 เครื่อง ขีดความสามารถทั้งปี สามารถฉายแสงได้ประมาณ 1,800 ราย จึงมีผู้ป่วยอีกราว 1,200 ราย ต้องไปรักษาที่อื่น ประชาชนได้รับการักษาอย่างล่าช้า แต่เมื่อได้รับความร่วมมือจาก รพ.วิภาราม อมตะนคร ผลปรากฏว่าสามารถทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงรังสีรักษาได้อย่างทันเวลาตามที่กำหนดไว้

“มันเป็นโครงการที่ดีมาก ทุกอย่างมันอำนวยความสะดวกผ่านแอปพลิเคชั่นหมดแล้ว”

“พิมพ์ลดา บุญกิตติ์อนันต์” ผู้ป่วยมะเร็งปอด เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ ที่ได้รับการรักษา ตามนโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ สีหน้าของเธอเต็มไปด้วยความสดใส แต้หากย้อนกลับไป ในช่วงเริ่มต้นของการรักษาที่ไม่มีนโยบายนี้ ต้องบอกว่าเหมือนหนังคนละม้วน

“ตอนรู้ว่าเป็นมะเร็งปอด ก็เหมือนหัวใจ มันหล่นวูบ เราสู้ต่อ แต่พอมาเจอขั้นตอนการรักษา และความยากลำบากในการรักษา ต้องบอกว่า แทบจะถอดใจ สมัยนั้น ต้องวิ่งไป วิ่งมา ระหว่างโรงพยาบาลต้นสังกัด กับโรงพยาบาลที่ส่งตัวมา ต้องวิ่งไป วิ่งมา ส่งเอกสารไปมา แล้วคนวิ่งคือเรา การเดินทาง ต้องมีค่าใช้จ่าย เราจ่ายไปเยอะมาก แล้วเราป่วย ต้องเดินทางอีก คราวนี้ ต้องสู้กับโรค สู้กับค่าใช้จ่าย มันท้อถอยมาก”

แต่วันนี้ ชีวิตของ “พิมพ์ลดา” เปลี่ยนไป โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการรักษาอย่างดี เธอมีกำลังกลับมาสู้โรค และมีกำลังในการดำเนินชีวิตอีกครั้ง

โครงการนี้ ช่วยลดภาระการเดินทาง และลดภาระงบประมาณ ช่วยให้ผู้ป่วย มีความหวังในการมีชีวิตรอด แทนที่จะต้องเดินทางไกล อย่างยากลำบากเพื่อไปรักษา ทั้งนี้ นับตั้งแต่การดำเนินโครงการ รายงานจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า นโยบาย มะเร็งรักษาทุกที่ให้บริการประชาชนแล้วกว่า 2.4 แสนคน

นี่คือ ผู้ป่วยมะเร็งกว่า 2 แสนคน ที่ได้รับการยกระดับการให้บริการ พวกเขาต่างมีลูก มีพ่อ มีแม่ มีพี่ มีน้อง ซึ่งคนใกล้ชิดเหล่านี้ ที่มีจำนวนหลักล้านคน ก็ล้วนมีความสุข จากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย

เรียกได้ว่านโยบาย “มะเร็งรักษาทุกที่” ของนายอนุทิน ได้ เติมความหวังผู้ป่วยนับแสน สร้างความความสุขคนไทยนับล้าน

Written By
More from pp
“พวงเพ็ชร” Kick off 7,000 เทศบาล อบต โหลดแอป OCPB Connect ของ สคบ. ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค กระจายสู่ท้องถิ่น ร้องทุกข์ online
30 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค...
Read More
0 replies on ““มะเร็งรักษาทุกที่” ช่วยนับแสนสร้างสุขนับล้าน ผลงาน “อนุทิน” ต่อยอดระบบสุขภาพไทย”