22 มีนาคม 2566 นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยนายธนิศร์ ศรีประเทศ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพรรคภูมิใจไทย ร่วมแถลงข่าวประจำสัปดาห์ หลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกา ให้มีการกำหนดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยประเด็นแรก นายศุภชัย กล่าวว่า ในวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2566 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ที่ทำการพรรคภูมิใจไทย ชั้น 4 จะมีการสัมมนาหัวข้อ ทิศทาง กฎหมายกัญชาเพื่อสุขภาพ และการแพทย์ หลังการเลือกตั้ง
สืบเนื่องจากมีการเรียกร้องจากภาคประชาชน ที่ต้องการให้มีการสัมนนาเพื่อให้เกิดความชัดเจน ถึงแนวทางของกฎหมายกัญชา ซึ่งได้มีการพิจารณาอยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ผ่านมา แต่ไม่แล้วเสร็จ อีกทั้งมีกรณีที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ กล่าวหาโจมตีนโยบายกัญชา เพราะฉะนั้นภาคประชาชน จึงได้มีการเรียกร้องขอให้มีการจัดสัมมนาประเด็นเรื่องกัญชาสุขภาพทางการแพทย์
สำหรับเรื่องที่ 2 คือ การกล่าวหาเงินบริจาคของพรรคภูมิใจไทย การบริจาคเงินให้กับพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดเรื่องของการบริจาคว่า การดำเนินการใด เกี่ยวกับเรื่องการบริจาค จะต้องผ่านการดำเนินการตามกฎหมายอย่างไร ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในร่างพ.ร.บ. เรื่องนี้มีการร้องเรียนเข้ามาทางพรรคภูมิใจไทย
การที่จะมีการบริจาคเงินให้กับพรรค ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล พรรคในฐานะที่เป็นผู้รับบริจาค ก็จะต้องดำเนินการตรวจสอบว่าบุคคลเหล่านั้น เป็นบุคคล หรือนิติบุคคล ที่ต้องห้าม ไม่ให้ดำเนินการหรือไม่ จะต้องตรวจสอบด้วยว่า เงินดังกล่าวนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุถึงแหล่งที่มา ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ขอยืนยันว่า การรับเงินบริจาคของพรรคภูมิใจไทย เป็นการดำเนินการตามกฏหมายโดยถูกต้องทุกประการ และเมื่อดำเนินการการรับเงินบริจาคแล้ว ขั้นตอนต่างๆ จะมีขั้นตอนตามกฎหมายที่จะต้องดำเนินการต้องรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายซึ่งเกี่ยวกับขั้นตอน
ด้านนายธนิศร์ ศรีประเทศ กล่าวถึงขั้นตอนทางกฎหมายว่า เรื่องการบริจาค หรือว่าการรับเงินบริจาคของพรรคการเมือง โดยทางใดก็ตาม จะมีสองส่วน ส่วนแรกคือ จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย อีกส่วนหนึ่ง จะมีระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อที่จะกำหนดขั้นตอนรายละเอียด รวมถึงการตรวจสอบต่างๆ ระยะเวลาในการที่จะต้องรายงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ การรับบริจาคเงิน ทางฝ่ายกฎหมายพรรคภูมิใจไทยให้ความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ หรือว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พรรคการเมืองต้องมีสำนวนในทุกเรื่อง ที่เกี่ยวกับการรับเงินบริจาค เพราะฉะนั้นการรับเงินจากบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล จะถูกกำหนดว่าจำนวนเงินจะต้องไม่เกินสิบล้านบาท ทั้งสองกรณี
การรับเงิน ของบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลจะต้องมีหลักฐาน หลักฐานที่จะต้องส่งต่อพรรคการเมืองด้วย ประกอบกับเงินไม่ว่าจะเป็นสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หรือถ้าเป็นนิติบุคคลจะต้องมี หนังสือบริคณห์สนธิ จะต้องมีผู้ลงนาม ว่ามีใครมีอำนาจ หนังสือบริคณห์สนธิต่างๆ จะต้องถูกส่งไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งหมด
โดยจะถูกกำหนดว่า หลังจากเดือนนี้ ถ้าภายในเดือนนี้มีการรับบริจาคแล้ว ภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไป พรรคการเมืองจะต้องออกประกาศว่าเดือนที่ผ่านมา ใครบ้างที่บริจาคเงินให้กับพรรคการเมือง แล้วก็ส่งประกาศพร้อมแนบหลักฐานต่างๆ ไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง เงินบริจาคก็จะถูกส่งเข้าบัญชีพรรคการเมือง มีหลักฐานการส่งและรับเงิน และหลักฐานแสดงที่มาของเงินทั้งหมดว่ามาจากบริษัทใด บริษัทนั้นประกอบกิจการอะไร
ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้รับเอกสาร หลักฐานต่างๆ เหล่านี้แล้ว ก็จะดำเนินการตรวจสอบ การตรวจสอบ ก็จะตรวจสอบ ไปที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่าสิ่งที่ส่งไปถูกต้องหรือไม่ เเล้วก็จะประกาศให้กับสาธารณชนทราบ ว่าพรรคนี้ มีการรับบริจาคเงินเข้ามาเท่าไหร่ การเงินที่ได้มา ในส่วนของการรับบริจาค จะเอาไปทำอย่างอื่นไม่ได้ จะต้องเอามาดำเนินกิจกรรมทางการเมือง หรือเอามาใช้ในการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะฉะนั้นยืนยันได้ว่า พรรคภูมิใจไทยการรับบริจาคเงิน เราดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ
ขณะที่นายศุภชัย ยังกล่าวเสริมด้วยว่า กรณีที่มีผู้กล่าวหาว่าพรรคภูมิใจไทย มีเรื่องการรับเงินบริจาค ขอยืนยันว่า เรามีการดำเนินการตรวจสอบ และดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ รวมถึงสิ่งที่ทำก็เป็นการดำเนินการตามกฎหมายคือ ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยทุกครั้งมีการประกาศให้สาธารณชนเข้าไปตรวจสอบได้
สำหรับรายละเอียดยอดเงินบริจาค ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงกลางเดือน(มีนาคม) ปี 2566 มียอดรวมเงินบริจาค ให้กับพรรคภูมิใจไทย ทั้งสิ้น 355,033,639 บาท จำแนกเป็นปีดังนี้ ปี 2561 จำนวน 10,000,000 บาท, ปี 2562 จำนวน 161,000,000 บาท, ปี 2563 จำนวน 24,884,289 บาท, ปี 2564 จำนวน 35,952,000 บาท, ปี 2565 จำนวน 123,197,350 บาท และปี 2566 ถึงปัจจุบัน (กลางเดือนมีนาคม 66) จำนวน 8,730,000 บาท
อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่มีบุคคลบางคนได้ดำเนินการกระทำในลักษณะที่เป็นการที่ผิดพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญในการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 73 คือ มีการออกไปดำเนินการในลักษณะที่ไปทำลายคะแนนนิยมพรรคภูมิใจไทย ถึงแม้ต่อมาจะมีการไม่กล่าวถึงชื่อพรรคโดยตรง แต่พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ทำให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยความสุจริต และเที่ยงธรรม
ในวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยได้มีการไปยื่นหนังสื่อต่อกรรมการการเลือกตั้ง ให้ดำเนินการกับบุคคลที่กระทำการดังกล่าวซึ่งเป็นผลให้ การเลือกตั้ง เป็นไปโดยไม่สุจริต และเที่ยงธรรม จนถึงวันนี้พฤติการณ์ดังกล่าวก็ยังปรากฏอยู่ ก็พบว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งยังไม่มีการดำเนินการอะไร ที่จะทำให้บุคคลที่ทำผิดกฎหมายนั้นมีการยุติการกระทำดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เหมือนกับว่าในฐานะผู้มีอำนาจรับใช้ตามกฎหมาย ปล่อยให้บุคคลได้มีการกระทำความผิดโดยท่านละเว้นที่จะดำเนินการ
เพราะฉะนั้นจึงขอเรียกร้องไปยัง คณะกรรมการการเลือกตั้งให้ดูแลจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม ที่เป็นผลกระทบต่อพรรค ขอให้ดำเนินการต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้จะบรรดาว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. จะมีการดำเนินการไปร้องเรียน กับผู้อำนวยการการเลือกตั้งกกต. จังหวัดในทุกจังหวัดด้วย
“สำหรับ การเปิดรับสมัครว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. มีผู้ที่ได้เสนอตัวเข้ามาจะเป็นผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ เกินกว่าหนึ่งร้อยคน ซึ่งก็อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการสรรหา และกรรมการบริหารพรรคพิจารณา สำหรับในเขตเลือกตั้ง ก็บางเขตก็มีผู้สมัครเกินกว่าหนึ่งคน ส่วนใหญ่เกินกว่าหนึ่งคน แต่บางเขตก็ยังขาดอยู่
แต่ภาพรวมในตอนนี้ มีผู้เสนอตัวสมัครเข้ามาเกิน แต่สามารถที่จะดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งพรรคจะมีการดำเนินการในเรื่องของกระบวนการไพรมารี่ ในวันที่ 26 -27 มีนาคม นี้ โดยมีขั้นตอนกฎหมายต่อไป และยืนยันว่า ยังไม่มีใครที่จะย้ายพรรค “ นายศุภชัย กล่าวทิ้งท้าย