นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2566) เวลา 16.00 น. ณ โรงแรม อัล มีรอซ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีปิด “การจัดทดสอบท่องจำฮะดีษ ระดับชาติ ครั้งที่ 1” และมอบรางวัลชนะเลิศแก่ผู้เข้าทดสอบท่องจำฮะดีษ ระดับชาติ ครั้งที่ 1
โดยมีนายอับดุลเราะห์มาน บิน อับดุลอาซีซ อัล ซูไฮบานี เอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย นายเอาวาฎ บิน สัฟตีย์ อัลอะนะซีย์ ปลัดกระทรวงกิจการศาสนาอิสลามและการเผยแพร่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นายยัสเซอร์ บิน ราชิด บิน ฮุสเซน อัล-วาดานี อัล-โดซารี แกรนด์อิหม่ามและนักเทศน์ของแกรนด์มัสยิดฮารอมและนักอ่านอัลกุรอานแห่งมหานครมักกะห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
นายอรุณ บุญชม ผู้แทนจุฬาราชมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดทดสอบท่องจำฮะดีษ ระดับชาติ ครั้งที่ 1 และผู้บริหารคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นักเรียน นักศึกษา ให้การต้อนรับและเข้าร่วมงาน โดยเมื่อนายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึง นายชาติชาย บัลบาห์ อัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบรางวัลแก่ผู้เข้าทดสอบท่องจำฮะดีษ ระดับชาติ ครั้งที่ 1 จำนวน 12 รางวัล และกล่าวแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัล พร้อมกล่าวว่า คำสอนของทุกศาสนาล้วนเป็นวิถีปฏิบัติและเครื่องขัดเกลาจิตใจของคนในสังคมโดยรวมให้มีศีลธรรม ประเทศไทยเป็นประเทศพหุวัฒนธรรม มีหลากหลายเชื้อชาติและศาสนาที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสงบร่มเย็นภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก และทรงอุปถัมภ์กิจการของศาสนาอิสลามเสมอมา
โดยเฉพาะการได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีรับสั่งให้นายต่วน สุวรรณศาสน์ อดีตจุฬาราชมนตรี แปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทยฉบับพระราชทาน เพื่อให้ชาวไทยมุสลิมได้เข้าใจในหลักการของศาสนาอิสลามได้มากขึ้น
โดยในส่วนของราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียได้มีการพัฒนาและยกระดับความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นและดำเนินการมาครบ 1 ปี ในวันพุธที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา จากความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การรักษาพยาบาล ตลอดจนด้านวัฒนธรรมและการศึกษา
ดังนั้น การจัดทดสอบท่องจำในครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งมิติความร่วมมือระหว่างกัน และยังส่งเสริมความร่วมมือด้านศาสนา วัฒนธรรม และสังคมของสองประเทศ เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมชาวมุสลิมให้มีการรักในการอ่าน การท่องจำ และการศึกษาความหมายของฮะดีษอันเป็นวจนของพระศาสดา และสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ตามแบบฉบับของท่านศาสดามูฮัมหมัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในฐานะผู้นำรัฐบาล รำลึกอยู่เสมอว่าคนไทยทุกคนคือพี่น้องกัน อาจมีความแตกต่างทางความเชื่อ แต่ก็ให้เกียรติและเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน โดยในส่วนของชาวมุสลิมถือเป็นประชาชนไทยที่รัฐบาลได้ให้การดูแลมาโดยตลอด ทั้งในเรื่องการดำรงชีพและการปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนา
ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้อำนวยความสะดวกแก่ชาวไทยมุสลิมทั้งการออกกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักการศาสนาอิสลาม การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ปีละกว่า 13,000 คน การจัดงานเลี้ยงละศีลอดเดือนรอมฎอนแก่ชาวไทยมุสลิมและบรรดาทูตานุทูตประเทศมุสลิมประจำประเทศไทย
รวมทั้งการจัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกด้านธุรกรรมการเงินอิสลามแก่ชาวมุสลิมและบุคคลทั่วไป ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันภัยและประกันชีวิตแบบอิสลาม ในรูปแบบตะกาฟุล (TAKAFUL) คือ การค้ำประกันร่วมกัน ซึ่งเป็นรูปแบบการประกันภัยที่ศาสนาอิสลามให้การยอมรับบนพื้นฐานของความร่วมมือและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
พร้อมทั้งนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการจัดทดสอบท่องจำฮะดีษฯ และผู้มีส่วนร่วมทุกคน รวมทั้งขอบคุณรัฐบาลซาอุดีอาระเบียที่ได้ให้การสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์แห่งความร่วมมือฉันมิตรในมิติต่าง ๆ ระหว่างกันต่อไป
สำหรับการจัดการทดสอบท่องจำฮะดีษ ระดับชาติ ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทยภายใต้การอุปถัมภ์ของสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย ร่วมกับสำนักจุฬาราชมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านศาสนา วัฒนธรรม และสังคมของสองประเทศ อีกทั้งเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมมวลมุสลิมให้มีความตระหนักในการอ่าน การท่องจำ และการศึกษาความหมายของฮะดีษอันเป็นวจนของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) และซุนนะห์ อันเป็นจริยวัตรของท่านไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น อันเป็นการเสริมสร้างพลังคุณธรรมจริยธรรมในจิตใจของผู้ศึกษา
โดยเฉพาะเยาวชนมุสลิม เพราะฮะดีษมีความสำคัญรองจากอัลกุรอานต่อวิถีการดำรงชีวิตของมุสลิมในการจรรโลงตนเอง ครอบครัว และสังคมให้ธำรงมั่นในคุณงามความดีตามจริยวัตรอันสูงส่งของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) แห่งอิสลาม อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสังคมให้เกิดแรงบันดาลใจ กระตุ้นความสนใจทั้งนักอ่านและนักท่องจำพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ได้มีการท่องจำอัลกุรอานมากยิ่งขึ้น และการสร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตตามครรลองแห่งอิสลาม