วช.ชวนชมสิ่งประดิษฐ์ไทย-นานาชาติกว่า 1,000 ผลงาน ในงาน “วันนักประดิษฐ์ 2566” 2-6 กุมภาพันธ์ ณ ไบเทค บางนา

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ หน่วยภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นนานาชาติ ประกาศความพร้อมการจัดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” (Thailand Inventors’ Day 2023) ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 24 เพื่อน้อมรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ การทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย”

โดยในปีนี้มีผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นจากนักประดิษฐ์ไทยและนานาชาติส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 1,000 ผลงาน บนพื้นที่กว่า 17,000 ตารางเมตร ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00-17.00 น. ณ อีเวนท์ ฮอลล์ 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) กล่าวว่า งานวันนักประดิษฐ์ 2566 ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” ถือได้ว่าเป็นเวทีระดับชาติที่ยิ่งใหญ่อีกเวทีหนึ่ง ที่เปิดโอกาสให้ผลงานด้านการประดิษฐ์คิดค้นของคนไทย ได้รับการเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนในวงกว้าง อีกทั้งยังเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการคิดค้น การวิจัย และนวัตกรรมระหว่างนักประดิษฐ์ไทยกับนักประดิษฐ์นานาชาติ

“งานวันนักประดิษฐ์ ที่จัดมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนี้ ยังถือเป็นเวทีสำคัญที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลให้กับนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ สร้างความภาคภูมิใจให้กับนักประดิษฐ์ทุกภาคส่วน ที่สำคัญคือเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างนักประดิษฐ์ด้วยกัน นักประดิษฐ์กับภาคเอกชนอันจะนำไปสู่การต่อยอดผลงานสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 ยังมีผลงานสิ่งประดิษฐ์ในหลากหลายมิติ ทั้งในส่วนนิทรรศการ งานสัมมนา ที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และการต่อยอดในด้านต่างๆ และงานนี้ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะกับนักประดิษฐ์เท่านั้น แต่ภาคธุรกิจ ภาคประชาชนที่สนใจก็สามารถมาร่วมชมงาน มาร่วมพูดคุยกับนักประดิษฐ์ หรือร่วมงานสัมมนา เพื่อนำไอเดียและแรงบันดาลใจต่างๆ ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจ อาชีพที่ท่านกำลังทำอยู่ได้เช่นกัน

งาน “วันนักประดิษฐ์แห่งชาติ ประจำปี 2566” ประกอบด้วย นิทรรศการ “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” และ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการผลงานที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ นิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่ได้รับรางวัลจากนานาชาติ นิทรรศการนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สร้างมูลค่า นิทรรศการพื้นที่เรียนรู้กับนวัตกรรมโดรน ขบวนการผู้พิทักษ์ป่าไม้ ขุมทรัพย์ป่าชายเลน นิทรรศการ U2Tนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สู่นวัตกรรม

นิทรรศการนักประดิษฐ์วิจิตรศิลป์ นิทรรศการจุดเริ่มต้นเล็กๆสู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ นิทรรศการหน่วยงานเครือข่าย 6 กลุ่มเรื่อง ประกอบด้วย ด้านความมั่นคง ด้านการเกษตรเพิ่มมูลค่า ด้านอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ด้านนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ด้านนวัตกรรมสังคมผู้สูงวัยและผู้พิการ และด้านนวัตกรรมสีเขียว มหกรรมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติ

การประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ : โครงการ Bangkok International Intellectual Property, Invention and Technology Exposition (PITEx) การประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน โครงการ Thailand New Gen Inventors Awards 2023 : I-New Gen Award 203 ตลอดจนตลาดสินค้าและนวัตกรรมอย่างครบครัน ก่อนจะถึงวันงานมีผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นไฮไลท์ส่วนหนึ่ง จากกว่า 1,000 ผลงาน มาแนะนำ อาทิ

“ชุดอุปกรณ์ดูแลอนามัยช่องปากสำหรับผู้ป่วยพิเศษ” ผลงานสิ่งประดิษฐ์ชิ้นเอก ของสองทันตแพทย์ผู้ห่วงใยสุขอนามัยช่องปากของผู้ป่วยพิเศษที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้นี้ ถูกออกแบบคิดค้นโดย รศ.ดร.ทพญ.พรสวรรค์ ธนธรวงศ์ และ รศ.ทพญ.แพรวพัชร ปัจฉิมสวัสดิ์โดยวันนี้ รศ.ดร.ทพญ.พรสวรรค์ เป็นตัวแทน เล่าถึงแรงบันดาลใจในการคิดค้นว่า ปัจจุบันโลกได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเมื่อกลุ่มผู้สูงอายุป่วยอาจทำให้ไม่สามารถดูแลสุขอนามัยในช่องปากด้วยตัวเองได้อย่างทั่วถึง และยังเหมาะกับคนทุกกลุ่มที่ป่วยแล้วไม่สามารถดูแลตัวเองได้ รวมถึงเด็กเล็กที่อยู่ในช่วงฝึกแปรงฟันให้ถูกวิธี

“ชุดอุปกรณ์นี้ผลิตจากซิลิโคนเกรดทางการแพทย์ ประกอบด้วย “ปลากัด” อุปกรณ์ช่วยง้างปากให้ค้างได้ยาวนาน “กระจกส่องภายในช่องปาก” เพื่อรั้งแก้มหรือลิ้น และตรวจดูความสะอาดเรียบร้อยภายในช่องปาก “ที่ขูดลิ้น” ช่วยทำความสะอาดเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก บริเวณลิ้นและกระพุ้งแก้ม เพื่อกำจัดคราบอาหารและเสมหะเหนียวที่ตกค้าง โดยมีอุปกรณ์เสริมคือ “ด้าม” ออกมาให้ต่อความยาวกับอุปกรณ์ชิ้นต่างๆ เพื่อทำให้สามารถทำความสะอาดเพดานปากได้อย่างนุ่มนวล ช่องปากนั้นเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญเพราะเป็นด่านแรกในการนำสิ่งต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นถ้าผู้ดูแลละเลยเรื่องความสะอาดบริเวณนี้จะส่งผลให้ภายในปากเป็นที่สะสมแบคทีเรียที่หมักหมม เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ส่งผลให้ปอดอักเสบ อุปกรณ์นี้จะเป็นผู้ช่วยมือหนึ่งให้ผู้ดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

“เนื้อเทียมแห้งไร้สารการก่อภูมิแพ้” ผลงานตอบโจทย์กระแสการบริโภคอาหาร “วีแกน” ที่ผู้บริโภคต้องการรับโปรตีนจากพืชมากกว่าเนื้อสัตว์ รศ.ยุพกนิษฐ์ พ่วงวีระกุล มหาวิทยาลัยรังสิต และ สุวิมล สร้อยทองสุข นักวิจัยอิสระ กล่าวว่า Plant Based Food คือเทรนด์ใหม่สำหรับคนรักสุขภาพ ที่กำลังมาแรง อย่างเนื้อเทียมแห้งนี้ เป็นโปรตีนพืชที่ได้จากการนำกากรำที่สกัดน้ำมันออกแล้ว ซึ่งภายในกากรำนั้นยังคงมีโปรตีนจำนวนมาก จึงได้นำมาผ่านกระบวนการดึงโปรตีนออกมา โดยจะได้โปรตีน 15-19% และนำมาผ่านกระบวนการเอกซ์ทรูชัน เพื่อให้เกิดเส้นใย มีความแห้ง มีลักษณะคล้ายหมูหยอง สะดวกต่อการจัดเก็บ มีอายุนานขึ้น เมื่อจะนำไปปรุงอาหารจะต้องเติมน้ำหรือน้ำมัน เพื่อให้ได้เนื้อสัมผัสเหมือนเนื้อสัตว์ปกติ โดยเนื้อเทียมแห้ง 100 กรัม เมื่อเติมน้ำตามที่กำหนดปริมาณจะเพิ่มขึ้น 4 เท่า หรือประมาณ 400 กรัม นอกจากนี้เรายังได้ร่วมมือกับเชฟสมบุญ มุจลินทน์กุล เชฟและเจ้าของร้านอาหารบ้านใบพลู ในการนำเนื้อเทียมแห้งนี้ไปปรุงเป็นเมนูวีแกนหลากหลายเมนู อาทิ หอยจ๊อ ไก่สะเต๊ะ ซึ่งล้วนได้รับการตอบรับจากลูกค้าของร้านเป็นอย่างดี ปัจจุบันเนื้อเทียมแห้งนี้ผลิตออกมา 2 รสชาติ คือ เนื้อและไก่ โดยมีจุดเด่นคือ โปรตีนสูง ไขมันต่ำ โซเดียมต่ำ ไม่มีโคเลสเตอรอล ไม่มีกลูเตนและถั่ว อุดมด้วยวิตามินบี ไร้สาร MSG จึงเหมาะกับผู้แพ้กลูเตน ผู้ทานอาหารวีแกน หรือผู้ไม่ทานผลิตภัณฑ์อาหารจากเนื้อสัตว์”

“เท้าเทียมไดนามิกส์สำหรับผู้พิการขาขาดที่แข็งแรง” โดย รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อุปกรณ์ขาเทียม เท้าเทียมในต่างประเทศพัฒนาก้าวหน้าไปมาก ในการออกแบบให้ผู้พิการสามารถใช้ขาเทียมหรือเท้าเทียมนั้นได้ใกล้เคียงกับขาและเท้าของมนุษย์จริง แต่สำหรับในบ้านเราเท้าเทียมส่วนใหญ่จะเป็นไม้ มีน้ำหนักมาก หรือเป็นการนำเข้าซึ่งมีราคาแพง ตนจึงได้ตั้งใจพัฒนาคิดค้นกว่า 3 ปี ในการผลิตเท้าเทียมไดนามิกส์

“เท้าเทียมไดนามิกส์” นี้ผลิตจาก Carbon fiber เกรดการแพทย์ โดยเป็นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตขึ้นรูปในประเทศไทย เท้าเทียมไดนามิกส์นี้ออกแบบฟังก์ชั่นการทำงานให้มีความยืดหยุ่น สามารถกดขึ้นลง บิดซ้ายขวาได้ เสมือนกับเท้าของคนทั่วไป นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการกักเก็บและปล่อยพลังงานขึ้นในจังหวะที่เหมาะสมทำให้ผู้พิการที่ใช้เท้าเทียมไดนามิกส์สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้นานขึ้น สามารถเดินหรือวิ่งบนพื้นที่ขรุขระได้ ทำให้คุณภาพชีวิตผู้พิการดีขึ้น อีกทั้งเป็นผลงานคนไทย ราคาจึงจับต้องได้ มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ไม่ต้องเปลี่ยนเท้าเทียมบ่อยๆ การดูแลรักษาก็ทำได้ง่าย ปัจจุบันได้มีการออกแบบเท้าเทียมไดนามิกส์นี้ให้เหมาะกับผู้พิการทั้งชายและหญิงที่น้ำหนักตัวที่ต่างกันถึง 11 ไซส์”

จัดสรรเวลา ยกเลิกทุกนัด จับมือคนที่คุณรักไม่ว่าคุณจะเป็น ประชาชนทั่วไป นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือแม้แต่ ผู้ต้องการหาโอกาสทางธุรกิจ แวะมาเยี่ยมชมงาน “วันนักประดิษฐ์ 2566” (Thailand Inventors’ Day 2023) ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 ผ่านการลงทะเบียนออนไลน์ที่ http://inventorsdayregis.com

Written By
More from pp
สายวิ่งเตรียมฟิตซ้อม! บางกอกแอร์เวย์ส บูทีค ซีรีส์ 2024 เปิดรับสมัครนักวิ่ง สนามแรก “บางกอกแอร์เวย์ส สมุยฮาล์ฟ มาราธอน” ลงทะเบียนได้แล้ววันนี้ – 30 พฤษภาคม 2567 ทางเว็บไซต์ ThaiRun
ชาวสมุยและนักวิ่งเตรียมฟินกับเซอร์ไพรส์! ร่วมวิ่งกระทบไหล่ “เด่นคุณ งามเนตร” ที่จะมาประลองฝีเท้าในสนามแข่งขัน “บางกอกแอร์เวย์ส สมุยฮาล์ฟ มาราธอน 2024” 23 มิถุนายน 2567...
Read More
0 replies on “วช.ชวนชมสิ่งประดิษฐ์ไทย-นานาชาติกว่า 1,000 ผลงาน ในงาน “วันนักประดิษฐ์ 2566” 2-6 กุมภาพันธ์ ณ ไบเทค บางนา”