ชาวนาเกลือมีเฮรับปีใหม่ !!! “อลงกรณ์” เผยบอร์ดเกลือเห็นชอบโครงการรักษาเสถียรภาพราคาเกลือ โครงการสินเชื่อชะลอการขายเกลือ ปีการผลิต 2565/66 รองรับปริมาณเกลือทะเลปีหน้า 5 แสนตัน มอบสถาบันเกลือทะเลไทย (Salt Academy) ผนึก กยท.
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ครั้งที่ 5/2565 แบบ Hybrid Meeting โดยผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Zoom Cloud Meeting และห้องประชุมกรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 65
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพีรพันธ์ คอทอง รักษาราชการแทนหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายชาญยุทธ์ ภาณุทัต ที่ปรึกษากรมส่งเสริมการเกษตร
ดร.จุฑามาศ ทะแกล้วพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันเกลือทะเลไทย ประธานสหกรณ์เกลือและผู้แทนชาวนาเกลือ ทูตเกษตรประจำสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ (ประเทศเบลเยี่ยม สหรัฐอเมริกา อิตาลีออสเตรเลีย อินโดนีเซีย จีน ญี่ปุ่น) ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตัวแทนภาคเอกชนและหน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนเกษตรกรนาเกลือ เข้าร่วมการประชุม
นายอลงกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้สรุปผลการดำเนินการการพัฒนาเกลือทะเล ในปี 2565 รวมถึงกิจกรรมการสืบทอดและฟื้นฟูประเพณีทำขวัญเกลือและพิธีแรกนาเกลือ เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของเกลือทะเลไทย และเป็นหนึ่งในแนวทางการส่งเสริม Soft power ตลอดจนการคุ้มครองเกลือทะเลไทยจากการค้าระหว่างประเทศ
การแสวงหาโอกาสในการส่งออก การพัฒนามาตรฐานเกลือ เพื่อเข้าสู่ตลาดผู้บริโภค รวมทั้งการใช้ผลผลิตจากนาเกลือไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ เช่น การใช้ขี้แดดนาเกลือเพื่อเป็นปุ๋ยให้กับพืช
ตลอดจนการแปรรูปเกลือเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เกลือ เช่น เกลือสปา สบู่เกลือ การให้ความสำคัญของการสร้างแบรนด์ การพัฒนานาเกลือเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวการช่วยเหลือเกษตรกรกรณีเกิดภัยพิบัติ การสนับสนุนแหล่งสินเชื่อเงินทุนให้กับเกษตรกร ฯลฯ
พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมและขอบคุณคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยและหน่วยงานจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการบูรณาการการทำงานเชิงรุกจากทุกภาคส่วนร่วมกัน ตลอดจนการสร้างระบบและโครงสร้างการพัฒนาเกลือทะเลไทยอย่างยั่งยืน มีการจัดตั้งสถาบันเกลือทะเลไทยซึ่งเป็นศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (ศูนย์ AIC) ประเภทศูนย์ความเป็นเลิศด้านเกลือ ในการยกระดับการพัฒนาเกลือทะเลไทยสู่มาตรฐานสากล
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงาน ดังนี้
(1) ผลการดำเนินงานอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาด้านเกลือทะเล “ประเพณีแรกนาเกลือ” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ณ วิสาหกิจชุมชนสหกรณ์ หมู่ 3 โคกขาม ตำบลโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร
(2) การคาดการณ์ปริมาณผลผลิตเกลือทะเล ปีการผลิต 2565/66 คาดการณ์ว่า จะมีผลผลิตเกลือทะเลรวม 7 จังหวัด จำนวน 531,201.87 ตัน โดยจังหวัดเพชรบุรี เป็นจังหวัดที่มีผลผลิตเกลือทะเลมากที่สุด จำนวน 219,292 ตันคิดเป็นร้อยละ 41.27 รองลงมา ได้แก่สมุทรสาคร จำนวน 208,674.84 ตัน คิดเป็นร้อยละ 39.28 จังหวัดสมุทรสงคราม 93,840 ตัน จังหวัดชลบุรี 4,015.75 ตัน จังหวัดฉะเชิงเทรา 2,520.27 ตัน จังหวัดปัตตานี 2,310.01 ตัน และจังหวัดจันทบุรี 549 ตัน
(3) ความก้าวหน้าการดำเนินงานการพัฒนาเกลือทะเลไทย สถาบันเกลือทะเลไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีสถาบันเกลือทะเลไทย ซึ่งได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาเกลือทะเลไทย และการแก้ไขปัญหาเกลือทะเลอย่างเป็นระบบมา ตั้งแต่ปี 2559 จนปัจจุบัน ยกระดับเป็นศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 Kick off เป็น “ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center หรือ AIC)” ให้เป็นแหล่งบริการเกษตรกรที่รวบรวมองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร
สามารถนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปใช้พัฒนาต่อยอดการผลิต สามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร และให้สินค้ามีคุณภาพและมาตรฐาน โดยเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน สำหรับในปีงบประมาณ 2565 ได้ดำเนินการในกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้
(1) การสนับสนุนให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ด้านแรงงานเพิ่มความสะดวก แม่นยำ และง่ายต่อการบริหารจัดการ ระบบจัดการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยรถขนเกลือรถกลิ้งนาเกลือไร้คนขับ
(2) การสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปการวิจัยและพัฒนาเพื่อแปรรูปผลผลิตเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงอาทิ เกลือคุณภาพสูงน้ำแร่ เซรั่มบำรุงผิว สบู่ดอกเกลือ
(3) การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยววิถีใหม่จากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม เกษตรภูมิปัญญาและระบบบริหารสถานที่ท่องเที่ยวการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยท้องถิ่นสร้างเนื้อหาการท่องเที่ยว ตลอดจนบริหารจัดการเส้นทางและจำนวนนักท่องเที่ยวได้ด้วยตนเองบนเส้นทางสายเกลือ การยกระดับวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น เช่น พิธีแรกนาเกลือทำขวัญเกลือ
(4) การสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เน้นการแปลงของเสียให้เป็นแหล่งรายได้การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการเดิมในระบบ รวมทั้งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ผู้ประกอบการรายใหม่ เช่น โมเดลZero waste การใช้ประโยชน์จากวัสดุเศษเหลือ ปุ๋ยอินทรีย์ขี้แดดนาเกลือสำหรับพืชผลต่าง ๆ เกลือน้ำทะเลเทียมเพื่อการเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณา ประเด็นสำคัญ ดังนี้
(1) เห็นชอบในหลักการโครงการสินเชื่อชะลอการขายเกลือ ปีการผลิต 2565/66 โดยเป็นเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมในครั้งที่แล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อชะลอปริมาณเกลือทะเลไม่ให้ออกสู่ตลาดพร้อมกัน บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรนาเกลือด้านค่าใช้จ่ายในครอบครัวและหนี้สิน ตลอดจนยกระดับราคาเกลือให้สูงขึ้นและรักษาราคาเกลือให้มีเสถียรภาพ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ ธ.ก.ส. กระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานอื่น ๆ เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
(2) แนวการพัฒนาความร่วมมือด้านการตลาดเกลือทะเลไทยในต่างประเทศ โดยความร่วมมือจากทูตเกษตร(ประเทศเบลเยี่ยม สหรัฐอเมริกา อิตาลี ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย จีน ญี่ปุ่น) เพื่อพิจารณาแนวทางความร่วมมือช่องทางการตลาดไปยังต่างประเทศ เช่น ช่องทางการขยายตลาดไปต่างประเทศด้วยการตลาดออนไลน์ การให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศที่สามารถส่งออก มาตรการสินค้าเกษตรในแต่ละประเทศ
ความรู้ทั้งกฎหมายการค้า ภาษี สถิตินำเข้าส่งออกที่น่าสนใจ รวมไปถึงเทคนิคที่สร้างสินค้าให้โดนใจ สามารถเข้าใจ Insight แต่ละประเทศได้ และการเจาะไปที่การตลาดที่เหมาะสมในแบบประเทศนั้น ๆ เป็นต้น เพื่อการสร้างโอกาสในการแข่งขันในตลาดใหม่ และลดผลกระทบกับภาคการเกษตรของไทยเพื่อให้การขับเคลื่อนการสร้างโอกาสในการลงทุนการขยายช่องทางการตลาดเกลือทะเลในต่างประเทศด้วย
(3) การใช้นิยามศัพท์ “นาเกลือสมุทร” และ “นาเกลือทะเล” โดยที่ประชุมมีมติใช้คำว่า “นาเกลือทะเล” ซึ่งมีความเหมาะสม และเข้าใจง่ายตรงตามความหมายการทำนาเกลือของเกษตรกร
ที่ประชุมยังได้รับทราบ การนำเสนอนวัตกรรมแผ่นใยสังเคราะห์เคลือบน้ำยาง หรือแผ่นกั้นน้ำรับเทค (RUBTEX WATERPROOF MEMBRANE (RUBTEX W.M.)) ของ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งเกิดจากการพัฒนาของบริษัท เท็กเซ็ท จำกัด ร่วมวิจัยกับฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย โดยเหมาะกับการใช้งานลักษณะงานปูบ่อ อ่างเก็บน้ำ ฝาย เขื่อน ระบบส่งน้ำ คันกั้นน้ำ และใต้คันทาง เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้ กยท. ร่วมกับสถาบันเกลือทะเลไทย ทดสอบนวัตกรรมแผ่นใยสังเคราะห์เคลือบน้ำยางในการปูพื้นนาเกลือของเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อทดสอบประสิทธิภาพและความเหมาะสมต่อการนำมาใช้ในแปลงนาเกลือของเกษตรกรหรือไม่อย่างไรต่อไป ซึ่งเป็นการส่งเสริมการใช้ยางธรรมชาติในประเทศเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง
“รูปแบบและแนวทางการพัฒนาเกลือทะเลไทยเชิงโครงสร้างและระบบโดยแพล็ตฟอร์มการพัฒนาเกลือ ถือเป็นแม่แบบโมเดลการพัฒนาสามารถนำไปใช้เป็นแพลตฟอร์มการพัฒนาภาคเกษตรด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ได้อีกด้วย” นายอลงกรณ์ กล่าว