เมื่อ 4 ธันวาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังจากการประชุมติดตามปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของสำนักงานเขตบางขุนเทียน ในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ว่า
เขตบางขุนเทียนถือเป็นเขตที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ฝั่งกรุงธนใต้ มีพื้นที่ประมาณ 120 ตารางกิโลเมตร มีประชากรกว่า 180,000 คน ถือเป็นเขตที่สำคัญที่มีหลายภาคส่วน ทั้งธุรกิจ อุตสาหกรรม เส้นทางคมนาคม หมู่บ้านจัดสรร เกษตรกรรม และชายทะเล เป็นเขตเดียวของกทม. ที่มีชายทะเลยาว 4.7 กิโลเมตร
สำหรับเรื่องสำคัญที่มีการพูดคุยในวันนี้ มีเรื่องการจัดเก็บรายได้ เนื่องจากปีที่ผ่านมาแม้จะถือว่าจัดเก็บรายได้ได้สูงกว่าเป้า แต่ก็ยังถือว่ายังจัดเก็บได้ต่ำกว่าภาษีโรงเรือนที่เคยเก็บได้ จึงได้มีการพยายามเร่งทำฐานข้อมูลเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีการเก็บภาษีเพิ่มมากขึ้น ครบถ้วน และเป็นธรรม เพราะเป็นเรื่องสำคัญ
ส่วนปัญหาที่ต้องดำเนินการต่อ คือจุดน้ำท่วม เนื่องจากเขตบางขุนเทียน เป็นจุดที่มีน้ำทะเลหนุน และฝนตกในพื้นที่ ซึ่งได้มีการสำรวจพื้นที่ไว้หมดแล้ว และได้สั่งการให้สำนักการระบายน้ำวางแผนระยะยาวเพื่อแก้ปัญหา รวมถึงเรื่องการแก้ปัญหาน้ำทะเลหนุน รวมถึงการลอกท่อ โดยในปี 2566-2567 จะมีการลอกท่อให้ครบ 100% ในเขตบางขุนเทียน
เรื่องที่ต่อเนื่องมาคือ เรื่องการกัดเซาะชายฝั่งที่ถือเป็นปัญหามาโดยตลอด เขตบางขุนเทียนมีชายทะเล 4.7 กิโลเมตร ในขณะนี้มีชายฝั่งถูกกัดเซาะไปแล้วถึง 2,700 ไร่ ซึ่ง กทม. ได้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ไปแล้ว 5 ปีที่ผ่านมาเรื่องการทำตัวเขื่อน ซึ่งถือว่าได้มีการศึกษาในเรื่องของเขื่อนไม้ไผ่ รวมไปถึงหินทิ้ง หรือเสาไฟฟ้าปัก ซึ่งได้มีการทำมาแล้วในหลายยุคของผู้ว่าราชการที่ผ่านมา
ซึ่งจากการทำ EIA สรุปว่าทำแนวเขื่อนกั้นออกไปจากแนวเขตที่ดินไปในทะเล เป็นเขื่อนทุก 200 เมตร มีช่วงตรงกลาง 50 เมตร มีการวิเคราะห์เชิงเทคนิค และผู้เชี่ยวชาญได้ดูแล้ว ซึ่งประชาชนเห็นด้วยในส่วนนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะพิจารณาต่อไป โดยประชาชนมองว่าใช้ไม้ไผ่ปักนั้นอยู่ได้ไม่นาน และจะกลายเป็นขยะลอยเข้าสู่ชายฝั่ง จึงคาดว่าเรื่องของการทำชายฝั่งนั้น จะมีการใช้ในส่วนของการใช้เสาไฟปักและการถมหินเป็นหลัก ซึ่งเป็นโครงการที่จะเดินหน้าต่อ