เปิดปฏิบัติการช่วยเหลือลูกช้างป่าพลัดหลง อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี

ตามที่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ได้รับรายงานจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ หลังชาวบ้านในพื้นที่พบลูกช้างป่าพลัดหลงจากฝูง ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 ในพื้นที่ ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ชาวบ้านได้สร้างคอกไม้ไผ่ขนาดเล็ก เพื่อรอฝูงช้างป่าให้เข้ามารับลูกช้างป่าพลัดหลงตัวดังกล่าว แต่ยังไม่พบฝูงช้างป่ามารับแต่อย่างใด จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่เข้าช่วยเหลือ

จากนั้นนายอนันต์ โพธิ์พันธ์ุ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 ได้ให้เจ้าหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ออกปฏิบัติการช่วยเหลือลูกช้างป่าพลัดหลง ตามลำดับเหตุการณ์ ดังนี้

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 นายไชยวุฒิ อารีย์ชน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ประสานงานขอสนับสนุนทีมสัตวแพทย์ ประจำ สบอ.3 (บ้านโป่ง) เข้าประเมินสุขภาพลูกช้างป่า

ต่อมานายมานะ เพิ่มพูล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้ประชุมทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการสุขภาพสัตว์ป่า และสัตวแพทย์ประจำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่า จัดเตรียมอุปกรณ์การรักษาในเบื้องต้นและเดินทางเข้าพื้นที่ภายในวันดังกล่าว ถึงพิกัดที่พบลูกช้างป่า ในช่วงค่ำจึงทำการประเมินอาการสุขภาพและเข้าทำการรักษา

เบื้องต้น พบว่าเป็นลูกช้างป่าพลัดหลง เพศเมีย จำนวน 1 ตัว อายุประมาณ 1 เดือนเศษ น้ำหนักโดยประมาณ 130-150 กิโลกรัม มีสภาพอ่อนแรงมาก ขาดน้ำรุนแรง ถ่ายเหลว มีเยื่อเมือกซีด พบแผลหลุมในช่องปาก พบแผลแมลงวันวางไข่บริเวณปลายริมฝีปากล่างและใบหู พบรอยขีดข่วนบริเวณลำตัว ได้การให้นมผงชนิดเอนฟาแลคผสมยาขับลมไกรวิเตอร์ ทุก 1 ชม. และให้สารน้ำเข้าหลอดเลือดดำ วันที่ 30 พ.ย. 2565 ทำการรักษาต่อเนื่อง ตามแผนการรักษาของทีมสัตวแพทย์

ขณะเดียวกัน ทีมสัตวแพทย์และคณะเจ้าหน้าที่ ได้ประชุมเพื่อประเมินแนวทางการรักษา พบปัญหา อุปสรรคด้านพื้นที่ เดินทางเส้นทางชัน (เดินขึ้นเขา) ป่ารกทึบ ไม่สามารถใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ได้ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ทีมสัตวแพทย์ ลงความเห็นว่า ควรนำลูกช้างป่าพลัดหลงตัวดังกล่าว มาดูแลรักษาเบื้องต้น ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เนื่องจากมีทีมสัตวแพทย์จากสบอ.3 (บ้านโป่ง ) สัตวแพทย์จากส่วนกลางกรมอุทยานฯ รวมทั้งยารักษา และอุปกรณ์ที่มีความพร้อม สะดวกในการเดินทาง และระยะทางการเคลื่อนย้ายใกล้กว่าพื้นที่อื่นๆ จะทำให้การรักษามีผลดีต่อสุขภาพของลูกช้าง เพราะไม่สามารถฟื้นฟูร่างกายได้ภายในเร็ววัน โดยลงความเห็นว่า ควรใช้เฮลิคอปเตอร์เข้า ขนย้ายลูกช้างป่าดังกล่าว

โดยวันนี้ ( 3 ธันวาคม 2565) เวลา 8.00 น. เฮลิคอปเตอร์ทหาร ภายใต้การกำกับการของ พลตรี วุทธยา จันทมาศ ผบ.กกล.สุรสีห์ พ.อ.รณวรรณ พจน์สถิตย์ ผบ.ฉก.ลาดหญ้า พ.อ.ธัชเดช อาบัวรัตน์ รอง ผบ.ฉก.ลาดหญ้า และพันเอกธัชเดช อาบัวรัตน์ รองเสนาธิการกองกำลังสุรสีห์ กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ จ.กาญจนบุรี ยกตัวเคลื่อนย้ายลูกช้างจาก พื้นที่ป่าในเขต ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี

โดยมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายบนเฮลิคอปเตอร์ จากทีมสัตวแพทย์ จำนวน 3 ท่าน (สพ.ญ.ลักขณา ประสิทธิชัย นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สอป.สบอ.3 (บ้านโป่ง) สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชรนายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก) ใช้เวลาการบินประมาณ 30 นาที มายังพิกัดจุดลง ฮ. ณ โรงเรียนวัดคอกช้าง ต.องค์พระ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี

เวลา 10.00 น. เฮลิคอปเตอร์ถึงโรงเรียนวัดคอกช้างโดยปลอดภัย เวลา 10.30 น. เคลื่อนย้ายลูกช้างโดยรถบรรทุกขับเคลื่อน 4 ล้อ เป็นรถย้ายสัตว์ป่าโดยเฉาะซึ่งมีตู้ควบคุมอุณภูมิและอุปกรณ์กู้ชีพเบื้องต้น เดินทางโดยรถยนต์ ระยะ 120 กิโลเมตร (ประมาณ 2 ชั่วโมง) เพื่อนำลูกช้างไปทำการรักษา ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์ พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี โดยจะได้นำลูกช้างส่งต่อเพื่อพักรักษาตัว ณ อาคารอเนกประสงค์ซึ่งเตรียมความพร้อมสถานที่โดยการฆ่าเชื้อโรคเรียบร้อย และมีความพร้อมด้านยารักษา อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ ทำการวางแผนการรักษาฟื้นฟูลูกช้างต่อไป

ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

Written By
More from pp
“พระราชินีแห่งภูฏาน” เสด็จฯ ลงพระนามเยี่ยม เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ
22 ธันวาคม 2565  เวลา 10.00 น. สมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก แห่งภูฏาน เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานแจกันดอกไม้ ที่หน้าพระรูปพร้อมลงพระนามเยี่ยมพระอาการประชวร...
Read More
0 replies on “เปิดปฏิบัติการช่วยเหลือลูกช้างป่าพลัดหลง อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี”