อาฆาตมาดร้าย-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ดูเหมือนจะไม่มีอะไร

แต่สาระมหาศาล

เรื่องที่รัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ จะพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ให้มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น

ใช้นโยบาย ๘+๑ การกำหนดโครงสร้างเวลาเรียน ๘  กลุ่มสาระการเรียนรู้ และให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ แยกออกมา ๑ รายวิชาอย่างชัดเจน นั่นกลายเป็นข้อถกเถียงถึงเจตนาว่าเพื่ออะไรกันแน่

กระทรวงศึกษาธิการ ระบุถึงเป้าหมายว่า เพื่อบ่มเพาะให้นักเรียนภาคภูมิใจรักความเป็นไทย หวงแหนในสิ่งที่บรรพชนให้ไว้เป็นมรดกทางปัญญา รักษา สืบสาน ต่อยอดและนำมาปรับประยุกต์ในปัจจุบัน

มาดูในรายละเอียด

กระทรวงศึกษาธิการกำหนดจัดเวลาเรียนรายวิชาประวัติศาสตร์ ระดับประถมศึกษา ๔๐ ชั่วโมงต่อปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ๔๐ ชั่วโมงต่อปี

และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม ๓ ปี ๘๐  ชั่วโมง

สถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก  (Active Learning) ด้วยวิธีการที่หลากหลาย

เช่น การใช้พิพิธภัณฑ์เป็นสื่อ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและต่อยอดประวัติศาสตร์สู่งานอาชีพ การบูรณาการประวัติศาสตร์กับรายวิชาอื่น และการศึกษานอกสถานที่และแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เป็นต้น

แต่ทั้งหมดนี้ถูกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายหัวก้าวหน้า ฟันธงว่า เป็นการปลุกให้เยาวชนรักชาติแบบอนุรักษนิยม ไม่อ้างอิงข้อเท็จจริง ไม่สอนประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ ไม่ได้ให้เด็กคิดเอง แต่ให้ท่องจำตามที่รัฐบาลต้องการ

ฟังความทั้งสองฝ่าย ประเด็นจึงอยู่ที่ การสอนประวัติศาสตร์ไทย มีเป้าหมายอะไร

ครับ…นี่คือสิ่งที่ยังเข้าใจไม่ตรงกัน

ต้องไปดูจุดเริ่มต้น

นั่นคือประเทศไทยมีปัญหาอะไร ถึงต้องปรับวิธีการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ให้เด็กๆ เสียใหม่

ยกตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ครับ

“ปิยบุตร แสงกนกกุล” โพสต์เฟซบุ๊ก บอกว่า…

“…จากคดี ๑๑๒ วิจารณ์เศรษฐกิจพอเพียง ที่ผู้พิพากษาลงความเห็นว่า กล่าวถึงราชบิดาของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ผิด ๑๑๒ ถ้ายึดตามมาตรฐานแบบนี้ ก็ไม่ต้องเรียนประวัติศาสตร์กันแล้ว

เพราะเราจะวิจารณ์ รัชกาลที่ ๖ พระเจ้าตากสิน พระเจ้าเอกทัศ หรือหนังสุริโยไทก็วิจารณ์ขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์ ไม่ได้เลย!…”

สะดุดตาประการแรกเลย คนที่เข้าใจประวัติศาสตร์ แบบประวัติศาสตร์จริงๆ ไม่เอาความรู้สึกทางการเมืองมาปะปน การใช้คำว่า “ราชบิดาของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน” มันสะท้อนถึงมิติทางประวัติศาสตร์ของ “ปิยบุตร”

คนทั่วไปจะใช้ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” หรือไม่ก็  “ในหลวง ร.๙”

แต่ “ปิยบุตร” ใช้ต่างออกไป

เพราะอะไรครับ?

คนเคารพนับถือจะไม่ใช้คำนี้

“ปิยบุตร” จะเคารพนับถือในหลวง ร.๙ หรือไม่ เป็นเรื่องปัจเจก แต่ในแง่ประวัติศาสตร์ ต้องให้ความเคารพ

ปัญหาใหญ่ของประเทศวันนี้คือ เยาวชนนอกจากรู้ประวัติศาสตร์เพียงผิวเผินแล้ว ยังไม่เคารพประวัติศาสตร์อีกด้วย

ฉะนั้น การปรับวิธีเรียนประวัติศาสตร์เสียใหม่ ต้องไม่พุ่งเป้าไปที่เรื่อง รักชาติ หรือไม่รักชาติ เรื่องรักหรือเกลียดห้ามกันไม่ได้ แต่เป้าหมายต้องอยู่ที่ความเข้าใจประวัติศาสตร์อย่างถูกต้อง

เมื่อเข้าใจถูกต้องแล้ว จะรักชาติ หรือชังชาติ เป็นผลจากการศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อเข้าถึงประวัติศาสตร์

ใครที่ไม่ชอบประวัติศาสตร์ชาติตัวเอง มันก็ช่วยไม่ได้

กรณี ม.๑๑๒ “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี  รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๓ ปีถึง ๑๕ ปี”

ที่ “ปิยบุตร” เห็นแย้งกับผู้พิพากษา ในแง่กฎหมายก็รับฟังได้

แต่อย่าลืมว่าคำว่า “วิจารณ์” กับคำว่า “โจมตี” นั้น มีความหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

การวิจารณ์เศรษฐกิจพอเพียง สามารถวิจารณ์ได้ และมีการวิจารณ์ทางวิชาการกันอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ไม่มีใครพูดฟ้องว่าผิด ม.๑๑๒

“ปิยบุตร” ลองกลับไปอ่านข้อความที่ “Nirut  Kaewcharoen” เขียนในเฟซบุ๊กเสียใหม่ ว่าวิจารณ์หรือโจมตี

คนธรรมดาถูกด่ายังฟ้องหมิ่นประมาทได้

“ปิยบุตร” ก็เช่นกันวันหนึ่งถูกด่าว่า ที่อ้างว่าเป็นนักวิชาการด้านกฎหมาย ที่จริงไม่ใช่เป็นแค่พวกหิวแสง หลอกมวลชนไปวันๆ นี่ด่าเบาๆ นะครับ “ปิยบุตร” ก็สามารถฟ้องหมิ่นประมาทได้

เนื้อหาที่ “Nirut Kaewcharoen” เขียน “ปิยบุตร” ตีความว่า หมายถึง ในหลวง ร.๙ แต่อ่านดีๆ ว่าใช่หรือไม่  หมิ่นพระบรมเดชานุภาพในหลวง ร.๑๐ หรือเปล่า

อย่าไปตีความคำพิพากษาของศาลเอาเอง แล้วทึกทักว่าต้องเป็นแบบที่ตัวเองเข้าใจทั้งหมด

แต่ก็ไม่แน่ “ปิยบุตร” อาจเข้าใจดีทุกอย่างว่าอะไรเป็นอะไร แต่จงใจที่จะไม่เข้าใจ เพราะเด็กๆ สมัยนี้อ่อนประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์คืออะไร

มันคือเรื่องที่ผ่านมาแล้ว

การศึกษาเรื่องที่ผ่านมาแล้ว ต้องตั้งอยู่บนข้อมูล ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ชอบหรือไม่ชอบ

รัชกาลที่ ๖ พระเจ้าตากสิน พระเจ้าเอกทัศ หรือหนังสุริโยไทก็วิจารณ์ขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์  ล้วนเคยถูกนำมาอยู่บนเวทีวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยครั้ง

อย่างพระเจ้าเอกทัศ (ขุนหลวงขี้เรื้อน) ปรากฏในจดหมายเหตุ บาทหลวงฝรั่งเศสได้เขียนบันทึกไว้ว่า “… บ้านเมืองแปรปรวน เพราะฝ่ายใน [พระราชชายา]  ได้มีอำนาจเท่ากับพระเจ้าแผ่นดินผู้มีความผิดฐานกบฏ ฆ่าคนตายเอาไฟเผาบ้านเรือนจะต้องได้รับโทษถึงประหารชีวิต แต่ความโลภของฝ่ายในให้เปลี่ยนเป็นริบทรัพย์สิน ริบได้ก็ตกเป็นของฝ่ายในทั้งสิ้น พวกข้าราชการเห็นความโลภของฝ่ายใน ก็แสวงหาผลประโยชน์กับผู้ต้องหาคดีให้ได้มากที่สุดที่จะหาได้ จะได้แบ่งเอาบ้าง ความเดือดร้อนลำเค็ญก็ยิ่งทับถมราษฎรมากขึ้น…”

มันคือการวิจารณ์ตามที่หลักฐานขณะนั้นปรากฏ

ในประวัติศาสตร์ไทย พระเจ้าเอกทัศเป็นพระมหากษัตริย์ที่ถูกกล่าวถึงในแง่ร้าย ถูกจดจำในฐานะยุคสมัยเสียกรุง

แต่การศึกษาประวัติศาสตร์ยุคใหม่ มีการพูดถึง พระเจ้าเอกทัศ ในมุมที่ต่างออกไปเหมือนกัน อาทิ เป็นแพะรับบาป เพราะสมัยอยุธยาตอนปลาย มีการแย่งชิงอำนาจกันสูง

ผลงานที่ปรากฏชัดในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศ คือ การออกพระราชบัญญัติเครื่องชั่ง ตวง รวมทั้ง มาตราเงินบาท  สลึง เฟื้อง ให้มีความเที่ยงตรง

ฉะนั้นอยู่ที่ “ปิยบุตร” ต้องการวิจารณ์ “พระเจ้าเอกทัศ” แบบไหน

ถ้าวิจารณ์แบบที่นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ วิจารณ์กัน มันก็ไม่มีปัญหาอะไร

แต่หาก ใช้ความรู้สึก ณ ปัจจุบัน ไปตัดสินอดีต แล้วโยงไปโยงมา ก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์พลาดขึ้นมาก็ไม่น่ารอดครับ

มีคนไปฟ้อง ม.๑๑๒ แน่นอน

เพราะเขาเรียกว่า ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย

Written By
More from pp
ลาลามูฟ ประเทศไทย ห่วงใยเพื่อนสี่ขา ผนึกกำลังลาลามูฟทั่วภูมิภาคเอเชียและลาตินอเมริกา เปิดตัวแคมเปญเพื่อสังคม “Make a Pawfect Move”
ลาลามูฟ แพลตฟอร์มให้บริการขนส่งแบบออนดีมานด์ เปิดตัวแคมเปญเพื่อสังคม “Make a Pawfect Move” ร่วมกับ มูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ องค์กรช่วยเหลือและดูแลสัตว์พิการหรือเจ็บป่วยในประเทศไทย รวมถึงรักษาสุขภาพและฟื้นฟูสัตว์เหล่านี้เพื่อให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถพบเจอบ้านใหม่ได้
Read More
0 replies on “อาฆาตมาดร้าย-ผักกาดหอม”