“ศักดิ์สยาม” หารือ เลขาธิการเวทีการขนส่งระหว่างประเทศ เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการพัฒนาการขนส่งที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ นาย Young Tae Kim เลขาธิการเวทีการขนส่งระหว่างประเทศ (International Transport Forum: ITF) เข้าเยี่ยมคารวะและหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อนำไปสู่การกำหนดขอบเขตความร่วมมือที่เป็นไปได้ และการขอรับความร่วมมือทางวิชาการ ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนในเอเชีย (Sustainable Infrastructure Programme in Asia: SIPA) ระหว่างกระทรวงคมนาคมและ ITF

โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เข้าร่วมหารือ

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า การเข้าเยี่ยมคารวะและหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม และ ITF ในวันนี้ เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและนานาชาติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กระทรวงฯ จึงได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580)

เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยในอนาคตให้สามารถตอบสนองผู้ใช้บริการ และรองรับการเจริญเติบโตของประเทศ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีประสิทธิภาพ (Transport Efficiency) ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green and Safe Transport)

และประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม (Inclusivity) พร้อมเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทั้ง 4 มิติ (ทางบก ราง น้ำ และอากาศ) รวมถึงการสนับสนุนประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียกลาง ในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันหารือในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1. กรอบการดำเนินงานของ ITF ซึ่งเป็นเวทีหารือด้านนโยบายการขนส่งเพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน และส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของการขนส่งในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และการเข้าถึงการขนส่งอย่างเท่าเทียม

2. โครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของรัฐบาลไทย ได้แก่

1) การจัดทำแผนการพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองคู่ขนานไปกับโครงข่ายรถไฟทางคู่ (MR-MAP) ซึ่งเป็นระบบคมนาคมในอนาคตเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพ กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น 2) การพัฒนาถนนภายในประเทศที่สำคัญซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการเดินทางในอนาคต อาทิ การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) และโครงการทางพิเศษ พระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร 3) การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

4) การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาค 8 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น พิษณุโลก อุดรธานี หาดใหญ่ และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในราคาที่เป็นธรรม และเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า

5) การพัฒนารถไฟความเร็วสูงระหว่างไทย – สปป.ลาว ในการพัฒนาท่าเรือเพื่อรองรับการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้า

6) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร

7) การพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางทะเลในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน ที่จังหวัดชุมพรและระนอง (Land Bridge) เพื่อเชื่อมโครงข่ายการขนส่งของประเทศและระหว่างประเทศทั้งทางถนน ทางราง และทางน้ำ ซึ่งจะช่วยให้เกิดแนวเส้นทางที่ตรง ลดระยะเวลาการเดินทางและลดต้นทุนค่าขนส่ง เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศจากการคมนาคมขนส่ง

รวมถึงจะช่วยลดปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์พลังงานสะอาด ซึ่งขณะนี้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ได้มีนโยบายในการนำรถ เรือ และรถไฟพลังงานไฟฟ้าแทนการใช้พลังงานรูปแบบอื่น ๆ เพื่อให้คุณภาพอากาศในระบบการคมนาคมขนส่งของไทยดีขึ้น และช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ด้วย

3. ขอบเขตความร่วมมือที่เป็นไปได้ระหว่างกระทรวงคมนาคม และ ITF อาทิ โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนในเอเชีย (Sustainable Infrastructure Programme in Asia: SIPA) การพัฒนาแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ แนวทางปฏิบัติที่ดีด้านการขนส่งที่ดี รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนานโยบายด้านการคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ สนข. หารือร่วมกับผู้ประสานงานโครงการ SIPA ในการพิจารณาความพร้อมและความเป็นไปได้เพื่อสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการในโครงการ SIPA ต่อไป

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวขอบคุณเลขาธิการ ITF สำหรับคำเชิญให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก ITF ทั้งนี้ ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ITF กระทรวงคมนาคมจะต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีลำดับขั้นตอนในการพิจารณาถึงเหตุผลความจำเป็นรวมถึงงบประมาณที่เกี่ยวข้อง

Written By
More from pp
สืบนครบาล ร่วมกับ สน.สุทธิสาร อย. ตรวจสอบบ้านเช่าย่านห้วยขวาง พบซุกยาไวอากร้า และอาหารไม่ผ่าน อย. มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 14.00 น. พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.โชติวัฒน์...
Read More
0 replies on ““ศักดิ์สยาม” หารือ เลขาธิการเวทีการขนส่งระหว่างประเทศ เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการพัฒนาการขนส่งที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”