​นายกฯ หารือ ปธน.เวียดนาม ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ส่งเสริมความร่วมมือรอบด้าน ย้ำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง พร้อมผลักดันศักยภาพด้านเศรษฐกิจดิจิทัล

16 พฤศจิกายน 2565 เวลา 16.00 น. ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับ นายเหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย (Official Visit)

โดยนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเวียดนาม ได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น นายกรัฐมนตรีเชิญประธานาธิบดีเวียดนามไปยังห้องสีงาช้างด้านนอก เพื่อลงนามในสมุดเยี่ยม และได้หารือความร่วมมือเต็มคณะ ในเวลา 16.25 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ผู้นำทั้งสองได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับความร่วมมือ โดยฝ่ายไทยมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมด้วย ดังนี้

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ให้การต้อนรับประธานาธิบดีเหวียน ซวน ฟุก และคณะผู้แทนเวียดนามที่เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในวันนี้ ซึ่งการเยือนครั้งนี้มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นการเยือนไทยครั้งแรกภายหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเวียดนาม และเป็นการเยือนไทยของประมุขแห่งรัฐของเวียดนามครั้งแรกในรอบ 24 ปี ซึ่งไทยและเวียดนามจะต้องจับมือกันเพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างเข้มแข็ง พร้อมยินดีที่ทั้งสองประเทศจะเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ทวิภาคี โดยเฉพาะในโอกาสที่ปีหน้าจะครบรอบ 10 ปีของการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

ด้านประธานาธิบดีเวียดนามขอบคุณรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยที่ให้การต้อนรับอย่างเป็นเกียรติและเปี่ยมไปด้วยมิตรไมตรีที่อบอุ่นของความเป็นพี่น้องกัน ซึ่งที่ผ่านมา เวียดนามและไทยได้ทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมขึ้นในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งไทยคือเพื่อนที่ใกล้ชิดที่เวียดนามให้ความสำคัญสามารถหารือเพื่อสร้างสรรค์ความร่วมมือ สร้างสันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ถือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ทั้งในกรอบของอาเซียน ภูมิภาคและโลก พร้อมยินดีกับการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ซึ่งเวียดนามยินดีสนับสนุนความร่วมมือเพื่อให้การประชุมเอเปคในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเวียดนามได้หารือในประเด็นความร่วมมือต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่

ด้านการเมืองและความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ไทยและเวียดนามมีการแลกเปลี่ยนการเยือนและหารือระดับสูงอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีอุปสรรคในสถานการณ์โควิด-19 โดยล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้ต้อนรับรองประธานาธิบดีเวียดนาม เยือนไทยเมื่อเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสพบปะกับนายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังว่าจะได้เยือนเวียดนามเพื่อร่วมการประชุมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (JCR) ครั้งที่ 4 โดยวันพรุ่งนี้จะมีการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมด้านความมั่นคงไทย – เวียดนาม ครั้งที่ 4 ที่กระทรวงกลาโหม โดยเห็นพ้องที่จะจัดการประชุมคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง (JWG on PSC) ครั้งที่ 12 ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ซึ่งประธานาธิบดีฯ เสนอให้กระชับความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือระหว่างประเทศ ตลอดจนการดูแลความมั่นคงด้านการประมงที่คำนึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลด้วย

ด้านเศรษฐกิจ ไทยและเวียดนามเป็นคู่ค้าที่สำคัญระหว่างกันในอาเซียน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเสนอให้ทั้งสองฝ่ายเร่งอนุญาตการนำเข้า – ส่งออกสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรประเภทผัก ผลไม้ ข้าว และสินค้าปศุสัตว์และเร่งรัดจัดทำความตกลงและกลไกเจรจาด้านการเกษตรระหว่างกัน โดยทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคการขนส่งสินค้าจากไทยผ่านเวียดนามไปประเทศที่สาม รวมทั้งเห็นพ้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญอื่น ๆ อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ยาและเวชภัณฑ์ ด้านการลงทุน ทั้งสองฝ่ายพร้อมสนับสนุนนักลงทุนให้เข้ามาทำธุรกิจระหว่างสองประเทศ พร้อมยินดีกับการจัดตั้งหอการค้าไทยในเวียดนาม หรือ ThaiCham เมื่อปี 2564 ซึ่งจะช่วยเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ด้านประธานาธิบดีเวียดนามเห็นว่า ทั้งสองประเทศต่างเป็นคู่ค้ารายใหญ่ซึ่งกันและกัน จำนวนกว่า 18,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ พร้อมชื่นชมที่ทั้งสองฝ่ายมีเสถียรภาพมากในการเพิ่มมูลค่าสินค้าต่างตอบแทน และยินดีที่จะขยายธุรกิจด้านพลังงานสีเขียว รวมทั้งโลจิสติกส์

ในส่วนของการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในด้านอื่น ๆ ได้แก่ ด้านคมนาคม – ทั้งสองฝ่ายจะเร่งเจรจาเพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างไทยกับเวียดนามในทุกด้านทางบก ผ่านการปรับปรุงถนน R12 ใน สปป. ลาว และการจัดทำความตกลงเดินรถโดยสารไทย – ลาว – เวียดนาม และทางน้ำผ่านความตกลงเดินเรือชายฝั่งไทย – กัมพูชา – เวียดนาม ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล – ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารแห่งชาติเวียดนามได้เริ่มพัฒนาการเชื่อมโยงเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านระบบ QR code ระหว่างกัน โดยในอนาคตทั้งสองฝ่ายจะใช้ประโยชน์จากศักยภาพด้านเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการเงิน e-commerce ด้าน 5G และ 6G

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทาง Three Connects ใน 3 ด้าน ได้แก่

1. การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานหรือ supply chain ในอุตสาหกรรมที่เกื้อกูลกัน

2. การเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานรากและท้องถิ่น โดยเฉพาะระหว่างภาคอีสานของไทย กับภาคกลางและภาคใต้ของเวียดนาม

3. การเชื่อมโยงนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวที่ยั่งยืน ผ่านการประสานนโยบายระหว่าง โมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทยกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของเวียดนาม ประธานาธิบดีเห็นพ้องกับนายกรัฐมนตรี และยินดีที่จะส่งเสริมผลิตผลข้าวเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาค

ด้านการพัฒนาและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน ทั้งสองฝ่ายพร้อมต่อยอดความร่วมมือด้านวัฒนธรรมมากขึ้น ผ่านวัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่งเสริมการพัฒนาของชุมชนชาวเวียดนามในไทย โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่ได้จัดกิจกรรมฉลองการครบรอบ 45 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตในปีที่ผ่านมา รวมทั้งเห็นว่า เวียดนามเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์เมืองคู่มิตรกับไทยมากที่สุดเป็นอันดับต้น คือ 18 คู่ ซึ่งในวันนี้จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจเมืองคู่มิตรระหว่าง จังหวัดขอนแก่นกับนครดานังอีกคู่หนึ่งด้วย ขณะที่ประธานาธิบดีเวียดนามยินดีความชื่นชมบทบาทของสมาคมมิตรภาพของทั้งสองประเทศ ซึ่งมีศักยภาพอย่างมากในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

ด้านความเป็นหุ้นส่วนในอนุภูมิภาคและภูมิภาค ไทยและเวียดนามจะประสานท่าทีและความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนอนุภูมิภาคและภูมิภาค โดยเฉพาะกรอบ ACMECS และอาเซียน โดยเห็นพ้องที่จะสนับสนุนความเป็นเอกภาพภายในอาเซียนและร่วมกันแก้ไขปัญหาตาม ASEAN สำหรับความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการพัฒนา ACMECS เพื่อให้ประเทศลุ่มน้ำโขงร่วมกันกำหนดทิศทางอนาคตตัวเอง ในส่วนการบริหารจัดการน้ำ ทั้งสองฝ่ายเห็นควรส่งเสริมความร่วมมือกันให้มากขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) นอกจากนี้ ไทยอยู่ระหว่างการหาเสียงให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษในปี 2028 โดยเชื่อมั่นว่า งาน Expo 2028 Phuket จะเป็นเวทีสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน ซึ่งประธานาธิบดีเวียดนามยินดีสนับสนุนไทยในการเลือกตั้งในกรอบองค์การนิทรรศการโลก (BIE) ในเดือนมิถุนายนของปีหน้า (2566) ที่กรุงปารีส

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีอวยพรและเป็นกำลังใจให้ประธานาธิบดีเวียดนามประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศ และขอให้ประธานาธิบดีเวียดนาม ซึ่งเป็น “มิตรแท้ของไทย” ช่วยสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามให้มีความแน่นแฟ้นและก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป

Written By
More from pp
ระยองคือจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย เปลี่ยนถนนบางนา-ตราด ให้กลายเป็น ‘ก้าวไกลคอร์ริดอร์’ 
ก้าวไกลระยองคึกคัก ‘พิธา’ ลั่นพร้อมสร้าง ‘ก้าวไกลคอร์ริดอร์’ หวังคว้าชัยภาคตะวันออกตลอดเส้นบางนา-ตราด อ้อนขอให้ 'ระยอง' เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย ปักธงส้มทั้งแถบจังหวัดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
Read More
0 replies on “​นายกฯ หารือ ปธน.เวียดนาม ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ส่งเสริมความร่วมมือรอบด้าน ย้ำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง พร้อมผลักดันศักยภาพด้านเศรษฐกิจดิจิทัล”