4 ตุลาคม 2565-แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จัดกิจกรรม “ห่วงใยผู้หญิงไทย ห่างไกลมะเร็งเต้านม (Rethink Pink, We Care)” เนื่องในเดือนแห่งการรณรงค์เพื่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านม พร้อมเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมเสวนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมและรหัสพันธุกรรมซึ่งสาเหตุหนึ่งของมะเร็งเต้านม ณ ศาลาศิริราช 100 ปี โรงพยาบาลศิริราช
เนื่องในโอกาสนี้ แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ได้แนะนำ โครงการ “We Care เพราะเราแคร์คุณ” ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งที่พบบ่อยในสตรี ได้แก่ มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งที่พบบ่อยในบุรุษ ได้แก่ มะเร็งต่อมลูกหมาก พร้อมทั้งแบ่งปันความรู้เรื่องโรคโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปเกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การวินิจฉัย ทางเลือกในการรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการดูแลตนเองเพื่อให้อยู่กับโรคมะเร็งได้อย่างไร้กังวล
นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ช่วยให้เราเข้าใจถึงเรื่องของพันธุกรรมและความผิดปกติในรหัสพันธุกรรมที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม เราพบว่ามะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในเนื้องอกที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดและมีหลายสาเหตุที่ทำให้แพร่กระจายและลุกลาม แอสตร้าเซนเนก้าตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาให้ความรู้ วินิจฉัยและพัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ประชาชนคนไทย”
ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และการใช้ประโยชน์จากข้อมูล เทคโนโลยี และนวัตกรรม ถือเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นในการดำเนินงานหลักของบริษัทฯ ด้วยเหตุนี้ แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม รวมถึงการจัดทำแบบประเมินความเสี่ยงทางพันธุกรรมด้วยตนเองในรูปแบบดิจิทัลสำหรับประชาชนพร้อมทั้งการออกแบบช่องทางการสื่อสารเพื่อให้ทุกคนได้รับคำปรึกษาที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า “ถึงแม้ว่ามะเร็งเต้านมเป็นโรคที่พบบ่อยในกลุ่มประชาชนทั่วไป โดยมากกว่าร้อยละ 70-75 เป็นมะเร็งที่เกิดจากการกลายพันธุ์ขึ้นในตัวเอง (sporadic cancer) โดยไม่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้เราทราบว่ามีผู้ป่วยจำนวนร้อยละ 5-10 เกิดโรคมะเร็งพันธุกรรมที่สามารถถ่ายทอดได้จากพ่อแม่สู่รุ่นลูก (hereditary cancer) โดยมะเร็งประเภทนี้มีสาเหตุจากการกลายพันธุ์ของยีน (gene) บีอาร์ซีเอ 1 (BRCA1) และ บีอาร์ซีเอ 2 (BRCA2) ซึ่งผู้ที่ตรวจพบจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม และความเสี่ยงดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น โดยประมาณการว่าผู้หญิงที่มีการกลายพันธุ์จะมีโอกาสสูงถึงร้อยละ 80 ที่จะเกิดมะเร็งเต้านมในช่วงหนึ่งของชีวิต นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราให้ความสำคัญกับการตรวจรหัสพันธุกรรมเพื่อที่จะได้คัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สามารถป้องกัน และรักษาได้อย่างทันท่วงที”
เดือนตุลาคม เป็นเดือนแห่งการรณรงค์เพื่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านม แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย จึงได้เดินหน้าสานต่อโครงการเสริมสร้างความตระหนักรู้ และความสำคัญของโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งมีอุบัติการณ์เกิดโรคสูงเป็นอันดับหนึ่งในเพศหญิง ผ่านกิจกรรม “ห่วงใยผู้หญิงไทย ห่างไกลมะเร็งเต้านม (Rethink Pink, We Care)” เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมาร่วมเสวนาให้ความรู้ พร้อมร่วมแบ่งปันประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ป่วยมะเร็ง โดยงานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชน อาทิ สถานวิทยามะเร็งศิริราช, โครงการ ART FOR CANCER บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด และโครงการวาโก้โบว์ชมพู สู้มะเร็งเต้านม โดย บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) และ
บริษัท ยีนพลัสเป็นต้น
แอสตร้าเซนเนก้าดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานเกือบ 40 ปี โดยเป็นผู้คิดค้น พัฒนา และจำหน่ายยา รวมถึง
มีส่วนริเริ่มโครงการต่างๆ มากมาย เพื่อการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยที่มากกว่าการรักษา พร้อมมุ่งนำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาต่อยอดและพัฒนาการดูแลสุขภาพของประชาชน (People) ชุมชน (Society) และโลก (Planet) อย่างยั่งยืน