‘Green Ocean Strategy’ ยกระดับกลยุทธ์เพื่อ ‘ทุกคน’ และ ‘โลก’

www.plewseengern.com

มองภาพรวมระดับโลก Green Economy หรือ เศรษฐกิจสีเขียว ไม่ใช่เรื่องใหม่แกะกล่อง โดยได้ถูกพูดถึงมาหลายปีแล้ว แต่ไม่เคยตกเทรนด์ นอกจากนั้นยังมีการศึกษา อภิปราย ขยายแนวคิดอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจโลกมีทางเลือกไม่มาก หากยังต้องการรักษาการเติบโตไปพร้อม ๆ กับการดูแลโลกไม่ให้เจ็บป่วยมากไปกว่านี้
มีคำพูดที่กล่าวว่า Green Economy ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางเดียวสำหรับโลกและผู้ประกอบการ เศรษฐกิจสีเขียว ทั้งนี้ Green Economy ก็คือเศรษฐกิจที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นธรรมทางสังคม สามารถลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและความขาดแคลนเชิงนิเวศได้ ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ อธิบายการพัฒนาสีเขียวว่า ประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ การเพิ่มจีดีพี การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน

มองภาพระดับเล็กลงมา ธุรกิจขนาดใหญ่จนถึง SME ล้วนแสวงหากลยุทธ์ในการเติบโตไปพร้อมกับกระแส Green Economy หากคุณเคยได้ยินกลยุทธ์น่านน้ำหลากสีหรือ Ocean Strategy กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean) และน่านน้ำสีแดง (Red Ocean) น่าจะเป็นหัวข้อที่ได้ยินบ่อยที่สุดจากปริมาณหนังสือ บทความ และคอร์สอบรมที่มีอยู่มากมาย

ส่วน Green Ocean Strategy หรือกลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว กลับได้รับความสนใจน้อยกว่าและมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นการทำซีเอสอาร์รูปแบบหนึ่งเท่านั้น

เมื่อ Blue Ocean Strategy ไม่เพียงพออีกต่อไป

Blue Ocean Strategy หรือกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม ซึ่งได้รับความนิยมกว่า เป็นการสร้างตลาดใหม่ที่เป็นช่องว่างที่คู่แข่งยังไม่เข้ามา ถึงกระนั้น Blue Ocean Strategy ก็ยังไม่ตอบโจทย์ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการสร้างอุปสงค์ใหม่เพื่อครอบครองน่านน้ำสีครามไม่ได้การันตีว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ขณะที่อุปสงค์สีเขียวกลายเป็น Third Factor ที่ผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและการบริโภคที่ยั่งยืนกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จาก Green Action Plan for SMEs – Turning environmental challenges into business opportunities ของสหภาพยุโรป ระบุถึงข้อดีของธุรกิจสีเขียวต่อ SME ว่า จะเป็นตัวช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของธุรกิจผู้ประกอบการสีเขียวในอนาคต ที่ทั้งอียูและโลกกำลังให้ความสนใจ เป็นโอกาสของ SME ในห่วงโซ่สีเขียว ซึ่งจะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างงานใหม่ๆ สามารถเข้าถึงตลาดสีเขียวที่กำลังเติบโต

ที่สำคัญคือ การขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของโจ ไบเดน ซึ่งมีนโยบายชนิดกลับหลังหันจากโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างชัดเจน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ที่ชู Green Economy ในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และกลับเข้าร่วมความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือความตกลงปารีสอีกครั้ง

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังสหรัฐฯ รวมถึงไทยคือ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (carbon border adjustment mechanism) หรือ การเก็บภาษีคาร์บอน เป็นการใช้มาตรการทางภาษีกับสินค้านำเข้า ที่มีการใช้พลังงานเข้มข้นและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดกระบวนการผลิตในระดับสูง มีการประเมินว่าอัตราภาษีของสหรัฐฯ อาจสูงถึง 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอน และอาจมีนโยบายบังคับให้สินค้านำเข้าต้องติดฉลากคาร์บอน เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดการใช้งานอย่างไร ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนและทำให้

สินค้านำเข้าจากไทยมีราคาสูงขึ้น รวมถึงอาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน

Green Ocean Strategy จึงถูกพัฒนาขึ้นสำหรับธุรกิจที่ต้องการตอบสนองอุปสงค์สีเขียว การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน และความยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว โดยนำความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การแข่งขัน

โดย Green Ocean Strategy สามารถใช้ในกระบวนการต่างๆ ของธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสั่งซื้อ โลจิสติกส์ การตลาด หรือการออกแบบ รวมไปถึงการจัดการกับของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตด้วย

น่านน้ำสีครามสู่น่านน้ำสีเขียว

คำถามคือ SME จะเริ่มใช้ Green Ocean Strategy อย่างไร จากเว็บไซต์ greenoceansociety.com แนะนำว่าต้องเริ่มจาก 7 Green Habits หรือ 7 อุปนิสัยสีเขียว ซึ่งประกอบด้วย 7R คือ อุปนิสัยแห่งการคิดใหม่ (Rethink) อุปนิสัยแห่งการลด (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) การปฏิเสธ (Refuse) การปรับสภาพ (Recondition) และการคืนกลับ (Return)

งานศึกษาเรื่อง Green Ocean Strategy: Democratizing Business Knowledge for Sustainable Growth เมื่อต้นปี 2563 ระบุไว้ว่า Green Ocean Strategy เป็นสิ่งที่ไปไกลกว่า Red Ocean Strategy และ Blue Ocean Strategy เนื่องจากทั้งสองกลยุทธ์มีต้นทุนสูงในการใช้ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่จะสร้างผลกำไรระยะยาวโดยไม่คำนึงถึงต้นทุน

ขณะที่ Green Ocean Strategy มีความท้าทายมากกว่า ทั้งยังให้ผลตอบแทนและจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมนวัตกรรมที่สร้างผลกำไรและยั่งยืนด้วยการเปลี่ยนความต้องการไปสู่พื้นที่ตลาดใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยสังคม ช่วยให้เปลี่ยนความสามารถเชิงรุกเป็นความสามารถในการแข่งขันระยะยาวและยั่งยืน ซึ่งกลยุทธ์มหาสมุทรสีเขียวจะเกิดขึ้นได้จากนวัตกรรมทางสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้และเทคโนโลยี

งานดังกล่าวแนะนำการ Transform ธุรกิจ จาก Blue Ocean Strategy สู่ Green Ocean Strategy ไว้ว่า ให้ปรับเปลี่ยนจากการเข้าสู่ตลาดที่ยังไม่มีการแข่งขันไปสู่การจับตลาดเพื่อสังคม จากที่เคยสร้างการแข่งขันที่ไม่เกี่ยวข้องกับตลาดเดิม เปลี่ยนเป็นมุ่งเป้าไปที่การแบ่งปันคุณค่าจากการแข่งขัน จากที่เคยสร้างและจับ

อุปสงค์ใหม่ ๆ ก็หันมาเน้นการหาผลประโยชน์จากอุปสงค์ที่มีอยู่ จากที่เคยเน้นไม่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนต้นทุนและคุณค่า หันมาสู่การยกระดับการแลกเปลี่ยนแทน และเปลี่ยนจากการจัดวางระบบกิจกรรมขององค์กร เพื่อสร้างความแตกต่างและลดต้นทุนไปสู่การใช้ทุนทางปัญญาของมนุษย์เพื่อสร้างสิ่งเดียวกัน

Green for All
ประเด็นสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ Green Ocean Strategy ไม่ใช่กลยุทธ์ที่ใส่ใจเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว หากยังรวมถึงการใส่ใจคุณภาพชีวิตของพนักงาน ผู้บริโภค และผู้ผลิตด้วย ส่งผลให้ Green Ocean Strategy มีมิติที่อาจจะกว้างไกลกว่าแค่เรื่องธุรกิจ

ตัวอย่างที่ชัดเจนอย่าง Green Floral Crafts ธุรกิจของตกแต่งบ้านที่มีวิสัยทัศน์สีเขียวชัดเจน โดยแปลงออกมาเป็นกลยุทธ์ที่สร้างความแตกต่าง เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และได้รับการยอมรับ โดยผลิตภัณฑ์ของ Green Floral Crafts ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แถมยังเป็นงานฝีมือที่ผลิตโดยช่างและครอบครัวตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นที่ซื้อ นอกจากตอบโจทย์ความต้องการแล้ว ยังปกป้องสิ่งแวดล้อมและผู้คนอีกด้วย

กลับมาที่บ้านเรา โอ้กะจู๋ ผู้ประกอบการสวนผักออร์แกนิกที่นำความฝันของผู้ประกอบการทั้ง 3 คนมาแปลงเป็นธุรกิจสีเขียว เป็นการทำ Green Ocean Strategy ที่ประสบความสำเร็จ จากสวนผักธรรมดา แตกกิ่งก้านจนมีมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท โดยมีวิสัยทัศน์หลักว่าจะเป็นการปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์ด้วยการออกแบบและจัดการฟาร์มโดยไม่พึ่งพาสารเคมี คำนึงถึงผืนดิน ผลิตผล ระบบนิเวศ ครอบครัว และชุมชน

ผลผลิตที่ได้จากฟาร์มถูกเพิ่มมูลค่าขึ้นไป เป็นร้านอาหารเพื่อสุขภาพเรียกว่า Farm to Table แม้ราคาอาหารจะค่อนข้างสูง แต่กลับเป็นที่นิยมของผู้บริโภค เป็นการผนวกเอากระแสสีเขียวกับกระแสสุขภาพเข้าด้วยกันอย่างลงตัว เมื่อดูจากแนวทางการ Transform ที่ Green Ocean Strategy: Democratizing Business Knowledge for Sustainable Growth กล่าวไว้ พบว่า โอ้กะจู๋ ปรับเปลี่ยนธุรกิจจากตลาดที่มีการแข่งขันยังไม่สูงมากไปสู่การจับตลาดเพื่อสังคมและจากที่เคยสร้างการแข่งขันที่ไม่เกี่ยวข้องกับตลาดเดิม เปลี่ยนไปมุ่งเป้าที่การแบ่งปันคุณค่าจากการแข่งขันสู่ผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ

Green Ocean Strategy จึงไม่ใช่กลยุทธ์ที่มุ่งเพียงการแข่งขันเฉพาะหน้า แต่ยังสนใจผลกำไรในระยะยาว ความยั่งยืน และการอยู่ร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

ที่มา : กรุงไทย SME FOCUS


0 replies on “‘Green Ocean Strategy’ ยกระดับกลยุทธ์เพื่อ ‘ทุกคน’ และ ‘โลก’”