จากที่ปรากฏเป็นข่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. เข้าปฏิบัติการจับกุมวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หลังมีผู้ร้องเรียนทุจริตเงิน จำนวน 80,000 บาท โครงการจัดพิธีกรรมทางศาสนาพิธีบวงสรวงเทพยดาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 นั้น
นายประสพ เรียงเงิน หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม และโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและตน ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว อยู่ระหว่างรอการรายงานข้อมูลอย่างเป็นทางการจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มอบหมายให้กองกฎหมายติดตามตรวจสอบข้อมูล และดำเนินการตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง รวมถึงดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยข้าราชการพลเรือน โดยจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
หากพบว่ามีการทุจริตจริง จะถือว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 85 ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งมาตรา 88 ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัย จะต้องได้รับโทษทางวินัยสูงสุด คือ การไล่ออก และจะดำเนินการทางวินัยตามหน้าที่และอำนาจ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 136 ควบคู่ไปด้วย
โฆษก วธ. กล่าวต่อว่า “ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเคร่งครัด โดยได้มอบนโยบายการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 4 ด้าน คือ
1. สร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านความซื่อสัตย์สุจริตและต่อต้านการทุจริต
2. พัฒนาระบบการดำเนินงานและการบริการประชาชนให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
3. พัฒนาประสิทธิภาพการจัดการเรื่องร้องเรียนกรณีการทุจริต และ
4. สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการป้องกันการทุจริต
ที่ผ่านมากระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมกับภาคีเครือภาคสังคมจัดกิจกรรมเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้เยาวชนเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริต และร่วมกันรณรงค์การต่อต้านการทุจริต เพื่อสร้างสังคมไทยให้โปร่งใส และไม่ทนต่อการทุจริต ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เช่น
กิจกรรมการประกวดต่อต้านการทุจริตผ่านศิลปะ การแสดงพื้นบ้านไทยประยุกต์ โดยใช้ศิลปะการแสดงพื้นบ้านไทยจากทุกภาคทั่วประเทศ นำมาพัฒนาต่อยอดและออกแบบการแสดงที่สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริต รวมถึงผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ในการประกาศเจตจำนงสุจริต และนโยบายไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) ทุกรูปแบบ
มีการอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้าง การเงิน บัญชี การใช้ทรัพย์สินของทางราชการ ความรับผิดทางละเมิด ฯลฯ และได้เน้นย้ำกับผู้บริหารทุกหน่วยงาน ต้องช่วยกันกำกับดูแล ติดตามตรวจสอบ รวมทั้งมีมาตรการต่างๆ ทั้งในเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังด้วย”
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด แจ้งเวียนทุก สวจ. ทั่วประเทศ กำชับเน้นย้ำให้ทำงานด้วยความโปร่งใส ไม่ทุจริต คอร์รัปชั่น หากพบกระทำผิดจะดำเนินการโดยเคร่งครัดทั้งทางอาญาและทางวินัย ขอให้ จนท. ทุกคนและเครือข่ายภาคประชาชนช่วยกันเฝ้าระวัง ตรวจสอบ
หากใครพบเห็นการทุจริตให้ร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสให้ทราบผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ติดต่อด้วยตนเองที่กระทรวงวัฒนธรรม ส่งไปรษณีย์มาที่ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต สป.วธ. เว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม www.m-culture.go.th ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected] โทรศัพท์หมายเลข 0-2209-3561 สายด่วนวัฒนธรรม 1765 และfacebook ศปท.กระทรวงวัฒนธรรม โดยจะเก็บข้อมูลผู้แจ้งไว้เป็นความลับ
นอกจากนี้ ได้ขอให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรมที่รับผิดชอบพื้นที่เขตตรวจราชการต่างๆ ช่วยกำกับดูแล ตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานดังกล่าวโดยใกล้ชิดด้วย หากพบการกระทำผิดหรือมีข้อร้องเรียนจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและถือปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ จะเน้นย้ำเรื่องดังกล่าวในการประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม วันที่ 12 กันยายน 2565 อีกครั้งหนึ่งด้วย