สภาพิการ “บำนาญสส.” – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”
หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี ๖๖ “ตั้งคำถามรัฐบาล” ประมาณว่า
เงินเดือน-สวัสดิการ-บำนาญข้าราชการ “ที่เพิ่มขึ้นทุกปี เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศเป็น “ช้างป่วย” จะแก้อย่างไร?
“……ทุกๆ ๑ บาท ที่เก็บภาษีและกู้มา ๔๐% กลายเป็นเงินเดือน สวัสดิการ กับบำนาญข้าราชการ ช่วง ๑๐ ปี ที่ผ่านมา เงินที่ใช้ไปกับบำนาญมากขึ้น ๒ เท่า

ปี ๕๗ บำนาญอยู่ที่ ๑.๔ แสนล้าน ปี ๖๔ อยู่ที่ 3 แสนล้าน ปี ๖๖ อยู่ที่ ๓.๒๒ แสนล้าน
ตอนนี้ มีข้าราชการเกษียณ ๘ แสนคน แต่ในปี ๒๕๘๐ จะมีเกษียณ ๑.๒ ล้านคน แค่บำนาญของบุคคลากร ก็เกินงบประมาณที่เราจะใช้ไปเยอะมาก

กระบวนการรัฐราชการ รัฐอุ้ยอ้าย จึงเป็น “ช้างป่วย” ที่ปรับตัวไม่ได้ เราจะแก้ไขเรื่องนี้กันอย่างไร
ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ ประเทศจะพัฒนาได้อย่างไร?”

เนี่ย ประมาณนี้……..
ถ้าพิธาอภิปรายเรื่องนี้ให้ครบ “กระบวนการบำเหน็จบำนาญ” จะไม่มีใครว่าอะไร

แต่นี่ จำเพาะ “จิกกระบาล” ที่บำนาญข้าราชการอย่างเดียว จึงไม่แปลก ที่ก้อนอิฐ โดยเฉพาะจาก “ข้าราชการประจำ” ไปลงที่กระบาลพิธา!

เพราะข้าราชการ “มีบำนาญ” มีเหตุ-มีผลเป็นที่เข้าใจได้ ไม่เป็นต้นเหตุของ “ช้างป่วย” โดยตรง อย่างที่พิธาเจาะจง
นักการเมือง “สส.-สว.” นั่นตะหาก

ถ้าบอกว่า “ความโลภ-ความเห็นแก่ตัว” ของนักการเมือง คือ “ความเสียสละ” ของผู้อาสาเข้ามาทำงาน เป็นเหตุผล ไม่มีส่วนทำให้ “ช้างป่วย” ละก็
นั่น “ตรรกะจิตป่วย” ของคนอภิปรายชัดๆ!

หลายคนยังไม่รู้นะว่า นักการเมือง “สส.-สว.” มีบำเหน็จบำนาญ

แต่เดิมไม่มีหรอก……….
“ทักษิณ ชินวัตร” สมัยเป็นนายกฯ ตอนปี ๒๕๔๗ นั่นแหละเป็นผู้ออกกฎหมายให้ “บำเหน็จบำนาญ สส.-สว.”

ผู้จัดการออนไลน์ เมื่อปี ๒๕๔๗ ไตเติลข่าวไว้อย่างนี้

“รัฐบาลทักษิณทิ้งทวนการอยู่ครบเทอมสมัยแรก ปลายปี ๔๗ ด้วยการมีมติ ครม.เมื่อ ๒๓ พย.๔๗
อนุมัติร่าง พ.ร.ฎ.๒ ฉบับ

ฉบับแรก-ให้ขึ้นค่าตอบแทนและเงินประจำตำแหน่งแก่ข้าราชการการเมือง (ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา)

โดยประธานสภาผู้แทนฯ ได้เงินเดือนเพิ่ม จาก ๑๑๔,๐๐๐ บาท เป็น ๑๑๕,๙๒๐ บาท อัตราเดียวกับเงินเดือนนายกรัฐมนตรี

ประธานวุฒิสภาได้เงินเดือนเพิ่ม จาก ๑๐๘,๕๐๐ บาท เป็น ๑๑๐,๓๙๐ บาท
รองประธานสภาผู้แทนฯ และรองประธานวุฒิสภา ได้เงินเดือนเพิ่ม จาก ๑๐๔,๕๐๐ เป็น ๑๐๖,๓๓๐ บาท

ส.ส.-ส.ว.ได้เงินเดือนเพิ่ม จาก ๗๗,๐๐๐ บาท เป็น ๑๐๔,๓๓๐ บาท!
พรฎ.อีกฉบับ ที่ครม.ทักษิณอนุมัติในวันนั้นด้วย คือพรฎ.บำเหน็จบำนาญสส.-สว.โดยกำหนดว่า ………

ผู้เป็น ส.ส.-ส.ว.ตั้งแต่ ๑๑ ต.ค.๔๐ ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ได้รับบำเหน็จบำนาญ กำหนดไว้ดังนี้

ผู้เคยเป็น ส.ส.หรือ ส.ว.ตั้งแต่ ๒-๓ ปี ได้รับบำเหน็จบำนาญร้อยละ ๒๐ ของเงินเดือน,
เคยเป็น ๓-๗ ปี จะได้รับร้อยละ ๓๐
เคยเป็น ๗-๑๑ ปี จะได้รับร้อยละ ๔๐
เคยเป็น ๑๑-๑๕ ปี จะได้รับร้อยละ ๕๐
เคยเป็น ๑๕-๒๐ ปี จะได้รับร้อยละ ๖๐
เคยเป็น ตั้งแต่ ๒๐ ปี ขึ้นไป จะได้ร้อยละ ๗๐

แม้อัตราบำเหน็จบำนาญจะสูงมากแล้ว แต่ยังไม่เป็นพอใจอดีต ส.ส.บางส่วน เรียกร้องเพิ่มบำเหน็จบำนาญให้สูงขึ้นอีกเท่าตัว

และให้ขยายสิทธิครอบคลุมถึงผู้ที่เคยเป็น ส.ส.-ส.ว.ก่อนปี ๒๕๔๐ หรือก่อนที่ รธน.ปี ๔๐ จะบังคับใช้ด้วย

นี่แหละ……….
เรื่องบำเหน็จบำนาญ เพราะนายพิธาเอา “ความจริงครึ่งเดียว” คือเฉพาะส่วนข้าราชการประจำไประบายสี โดยไม่พูดถึงบำเหน็จบำนาญข้าราชการการเมืองเลย
มันก็สมควรถูกด่าอยู่หรอก!

อีกอย่าง อภิปรายยังกะว่า “บำนาญข้าราชการ” เป็นเรื่องเพิ่งเกิดในรัฐบาลยุคพลเอกประยุทธ์งั้นแหละ

พูดชัดๆ คือ อะไรที่เป็นปัญหา ก็พยายามสร้างมุมหักเหให้ทัวร์ไปลงที่นายกฯ ประยุทธ์ ทำนองนั้น

ศาสตราจารย์กิตติคุณ “ดร.เขียน ธีระวิทย์” นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ท่านแสดงความเห็นเรื่องนี้ ว่า

“ต้องเข้าใจว่า “ข้าราชการการเมือง” มีต้นกำเนิดมาจากตะวันตกสมัยกรีก ตั้งแต่สมัยอริสโตเติล
เขาให้เกียรตินักการเมืองที่เป็นอาสาสมัคร ทำงานให้ฟรีๆ ตอนนั้น มีเกียรติมาก ตอนหลัง ประเทศอื่นก็ให้เงินค่าตอบแทน
ก็โอเคค่าตอบแทน………

แต่มาถึง “บำเหน็จบำนาญ” ผมคิดว่า มันไปอีกระดับหนึ่งแล้ว

แต่เดิม ข้าราชการการเมือง มันเป็นอาสาสมัคร ทำงานด้วยใจสมัคร มีอาชีพอยู่แล้ว ไปเปรียบเทียบกับ “ข้าราชการประจำ” ไม่ได้

“ข้าราชการประจำ” เขาเริ่มต้น โดยให้ “เงินเดือนต่ำ” มาก คนที่เป็นข้าราชการประจำที่มีไฟแรง มีความสามารถมากไม่ค่อยจะอยู่กันหรอก

เพราะฉะนั้น ข้าราชการประจำ จึงเอาบำเหน็จบำนาญเป็นเครื่องล่อใจว่า เอาละ..จน..จนไป แต่พอเกษียณอายุแล้ว เขายังอยู่ได้

พวกนี้ เริ่มต้น โดยเงินเดือนของเขา ถ้าคุณวุฒิเท่า ส.ส.-ส.ว.เงินเดือนเขาไม่ถึงเศษ ๑ ส่วน ๑๐ ของ ส.ส.-ส.ว. ที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้
พวกที่มีคุณวุฒิเท่าๆ กันเนี่ย “คุณธรรม” นี่ คำนวณยากนะ วัดกันยาก มันเริ่มโดยอัตราเงินเดือนที่ “ต่ำมาก”

ฉะนั้น โดยเหตุผลที่เขามีอยู่ ก็เพื่อให้เป็นหลักประกันว่า เมื่อทำงานไปสักพักหนึ่งแล้ว มีหน่วย-มีก้าน มีชื่อเสียง และอะไรดี คนอื่นมาซื้อไปไม่ได้
ไม่งั้นพวกดีดี คนอื่นมาซื้อตัวไปหมด

มันก็จะเหลือข้าราชการที่ไม่มีความรู้ความสามารถ ถ้าเช่นนั้น ก็ทำให้ระบบราชการที่เป็นอยู่มันก็อ่อนแอ และรักษาผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติไม่ได้”

ไม่เพียงแต่เจตนารมณ์ของการให้บำเหน็จบำนาญข้าราชการการเมืองจะ “ไปด้วยกันไม่ได้” กับข้าราชการพลเรือน

แม้แต่เงินเดือนของข้าราชการการเมืองยัง “ทิ้งห่าง” ข้าราชการพลเรือน ชนิดไม่เห็นฝุ่น

ยิ่งมองไปถึงสิทธิแห่งการได้รับบำเหน็จบำนาญของข้าราชการการเมืองกับข้าราชการพลเรือนแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเป็น ส.ส.-ส.ว.แค่ ๒ ปี ก็ได้บำเหน็จบำนาญแล้ว แต่ข้าราชการ ต้องทำงาน ๑๕ ปีขึ้น ถึงจะมีสิทธิได้รับบำเหน็จ

และต้องทำงาน ๒๕ ปี ขึ้นไป ถึงจะมีสิทธิเลือก
ว่า “จะรับบำเหน็จ” หรือ “บำนาญ”?

นี่ยังไม่รวมถึงว่า อัตราและยอดเงินบำเหน็จบำนาญที่แต่ละฝ่ายได้รับ จะต่างกันขนาดไหน?
“ระดับปลัดกระทรวง ซี-๑๑ ระดับอธิบดี ซี-๑๐ เราก็รู้กันว่า มันมีกี่คน ผมลองคำนวณประมาณ ๔ หมื่นคน จะมีระดับนั้นสัก ๑ คน

ระดับนั้น จะมีเงินเดือน ๕๐,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ บาท นั่นก็เท่ากับ “ครึ่งหนึ่ง” ของข้าราชการการเมืองปัจจุบัน นั่นประเภท Top แล้วนะ สูงสุดของข้าราชการประจำ

เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้ทราบจากคนที่ไปตำแหน่งสูงสุดในหน่วยของเขา หน่วยสำคัญมาก มีบำนาญไม่ถึง ๓ หมื่นบาท/เดือน นี่รับราชการมาเกือบ ๔๐ ปี

เพราะฉะนั้น พอเกิดเรื่องอย่างนี้ แม้กระทั่งอัตราที่อยู่ในร่างพระกฤษฎีกาปัจจุบัน ผมคิดว่า ประชาชนรู้แล้วเนี่ย เขาทนไม่ค่อยไหวกันหรอกนะ”

ครับ…นั่นเป็นปฏิกิริยาสังคมตอนปี ๔๗ ที่ไม่เห็นด้วยกับที่ทักษิณออกกฎหมายให้บำเหน็จบำนาญสส.-สว.

เมื่อนายพิธา ยกเฉพาะ “บำนาญข้าราชการประจำ” อ้างเป็นเหตุช้างป่วย โดยละเว้นไม่พูดถึงบำนาญ “ข้าราชการการเมือง” คือสส.-สว.ที่ทักษิณประเคนให้ด้วย

“นันทิวัฒน์ สามารถ” อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ จึงโพสต์ข้อความนี้ เมื่อ ๓ มิย.๖๕

“……..ที่ยังคาใจอยู่ ก็การอภิปรายของนักการเมือง ที่ว่า เงินบำนาญที่จ่ายให้ข้าราชการเกษียณอายุ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เหมือนช้างป่วย ฟังแล้วของขึ้น

ผมเป็นหนึ่งในข้าราชการบำนาญ ที่รับราชการจนครบเกษียณอายุ และมีสิทธิรับเงินบำนาญ
ข้าราชการที่จะได้รับเงินบำนาญ ต้องรับราชการมาไม่น้อยกว่า ๒๕ ปี ไม่ใช่เวลาวันสองวัน

วันที่ผมบรรจุเข้ารับราชการครั้งแรก รุ่นผมได้เงินเดือนๆ ละ ๑,๒๕๐ บาท ย้ำ ๑,๒๕๐ บาท พวกข้าราชการอย่างผมสู้ก้มหน้าทำงาน

ในขณะที่เพื่อนๆ ที่ “ทำงานเอกชน” รับเงินเดือนมากกว่าราชการหลายเท่า ข้าราชการเสียสละรับเงินเดือนน้อยและหวังสวัสดิการรักษาพยาบาลในยามแก่เฒ่า

ข้าราชการที่บรรจุหลังปี ๒๕๔๔ จะไม่ได้เข้าสู่กฎหมายบำนาญ แต่ทุกคน จะเข้าสู่ระบบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ “กบข.”

และเปิดโอกาสให้ข้าราชการที่รับราชการอยู่ในปี ๒๕๔๔ และยังไม่เกษียณ สามารถสมัครใจเข้าสู่ กบข.ได้
มีข้าราชการจำนวนมากสมัครใจเข้าสู่ กบข.

ดังนั้น เหลือข้าราชการที่รับเงินบำนาญจำนวนไม่มากนัก มองปัญหาให้ถูกจุดด้วย

พวกเราไม่ได้อิจฉานักการเมืองที่ทำงานด้วยน้ำลาย แต่ก็มีบำนาญเหมือนข้าราชการ กรรมาธิการงบประมาณลองเสนอเลิกบำนาญ ส.ส.ในขั้นกรรมาธิการให้ที

เผื่อจะประหยัดงบประมาณอย่างที่ ส.ส.เสนอ
ขอบ่นๆ ไปยังเพื่อนข้าราชการบำนาญทุกท่าน ให้รู้ว่านักการเมืองมองพวกเรายังไง”
………………………………

วันนี้ อุตส่าห์รีบคุย
กะว่าสองทุ่ม จะดูวอลเลย์บอลทีมไทยตบกับจีนให้เต็มตาซักหน่อย พอถึงเวลา หน้าจอดันบอก “สายสัญญานขัดข้อง”
“‘รมณ์เสีย” เลยผม!


Written By
More from plew
โลกของ “นายกฯผีเสื้อ” – เปลว สีเงิน
คลิกฟังบทความ…? เปลว สีเงิน ผีเสื้อ เกิดจากหนอน ฉันใด ก้าวไกล-พิธา ก็เกิดจากสามนิ้ว ฉันนั้น
Read More
0 replies on “สภาพิการ “บำนาญสส.” – เปลว สีเงิน”