๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ นางสาวรัชดา ธนาดิเรก กรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เปิดเผยว่า
นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ติดตามการดำเนินงานในการแก้ปัญหายาเสพติดพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาโดยตลอด และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชนที่จะทำให้การแก้ปัญหาสำเร็จอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่๔ รายงานว่า นับตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ กองทัพภาค๔ ได้เริ่มดำเนินโครงการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดโดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง (Community Based Treatment CBTx) มีตำบลมะนะยง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นตำบลต้นแบบ
ซึ่งขณะนี้สามารถขยายผล มีตำบลเข้าร่วมโครงการและดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม รวม ๓๘ ตำบลนำร่อง ซึ่งในปีหน้าจะทำการขยายผลให้ครบ ๒๙๐ ตำบลในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา
นางสาวรัชดากล่าวว่า เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีสภาพแวดล้อมและบริบทที่ต่างจากพื้นที่อื่น การใช้แนวทางCBTx จึงต้องปรับให้สอดคล้องกับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการยอมรับของคนในชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการ ซึ่งประกอบด้วย ๕ ขั้นตอน กล่าวคือ
๑. ค้นหาเชิงรุก: โดยการใช้กำลังในการลาดตระเวนพื้นที่มั่วสุมของเยาวชนกลุ่มเสี่ยง การตั้งจุดตรวจ จุดสกัดบนเส้นทางสายหลัก-สายรอง หรือผู้ปกครองนำบุตรหลานมารายงานตัวกับผู้นำชุมชนเพื่อเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ
๒. คัดแยกและคัดกรองเชิงรุก: ทำการแยกผู้เสพและผู้ติดยาเพื่อเข้ารับการบำบัดที่ถูกต้อง ณ ศูนย์ที่ได้จัดไว้
๓. ส่งเข้าบำบัด: เยาวชนที่ไม่สามารถเลิกด้วยตนเองได้ จะถูกส่งเข้ารับการบำบัดยาเสพติดของกระทรวงสาธารณสุข อย่างน้อยสี่เดือน
๔. ติดตามผล บ่มเพาะนิสัยใหม่: เยาวชนที่รับการบำบัดในชุมชน จะต้องปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาทุกวันในระยะเวลา ๖๐ วันโดยมีคณะกรรมการโครงการฯ เป็นผู้ทำหน้าที่สอดส่องดูแลพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด
๕. สร้างอาชีพ: เมื่อได้รับการบำบัดและผ่านการอบรมให้มีนิสัยที่ดี เป็นคนมีจิตอาสา มีความรับผิดชอบต่อตนเองและครอบครัว เยาวชนก็จะได้รับการฝึกอบรมมีวิชาชีพเพื่อที่จะสร้างความมั่นคงในเรื่องรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัวด้วย
“นายกรัฐมนตรี พอใจกับกับการขับเคลื่อนโครงการฯอย่างมาก เพราะปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้พบมากขึ้น เป็นปัญหาที่นำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว ปากท้อง และความมั่นคงของประเทศ ซึ่งการริเริ่มโครงการนี้โดยแม่ทัพภาค๔ และการขยายผลอย่างเป็นรูปธรรม เป็นเครื่องยืนยันถึงความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายความมั่นคง ข้าราชการในตำบล ผู้นำศาสนา และผู้ปกครอง
ซึ่งรัฐบาลจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้มีโครงการนี้ครบ ๒๙๐ ตำบล ในจังหวัดชายแดนใต้ นำไปสู่การลดจำนวนผู้ติดยาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรม และเปลี่ยนผู้เสพให้เป็นพลังของชุมชนต่อไป” นางสาวรัชดา กล่าว