๔ มิถุนายน ๒๕๖๕ นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ๒๕๕๘ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า กฎหมายอุ้มบุญ
รัฐบาลโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้มีการดำเนินคดีกับหญิงไทยและขบวนการรับจ้างตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ)อย่างต่อเนื่อง
และด้วยคดีดังกล่าวมักเป็นคดีที่มีความซับซ้อนทั้งในการสืบหาผู้ร่วมขบวนการ หรือเส้นทางการเงินที่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ
ดังนั้น เพื่อขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งสองหน่วยงานดังกล่าว จึงได้ลงนามความร่วมมือในการปฏิบัติงานในการสืบสวนคดี ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเข้าถึงข้อมูล ซึ่งจะทำให้การป้องปราม การตัดตอนเส้นทางการเงิน และการนำตัวผู้กระทำความผิดไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือต่างชาติมาดำเนินการตามกฏหมาย เป็นไปอย่างเข้มข้นและถึงที่สุด
โดยล่าสุดดีเอสไอได้รับแจ้งจาก สบส. กว่า ๑๐ คดี ซึ่งรับเป็นคดีพิเศษแล้ว ๒ คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน
สำหรับภาพรวมการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ของประเทศไทย สบส.รายงานว่า มีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์โดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ ๔๕ มีการให้บริการทำเด็กหลอดแก้วกว่า ๒๐,๐๐๐ รอบการรักษา การผสมเทียมกว่า ๑๒,๐๐๐ รอบ มีการพัฒนาระบบเพื่อส่งเสริมสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านการเจริญภัณฑ์ทางการแพทย์ผ่านการรับรองมาตรฐานรวมทั้งสิ้น 104 แห่ง รายสร้างรายได้ให้ประเทศกว่า ๔,๕๐๐ ล้านบาท