ผักกาดหอม
งวดเข้ามาทุกที
อีกเพียง ๒ สัปดาห์ คนกรุงได้เข้าคูหาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กันแล้วครับ
อาทิตย์ที่ ๒๒ พฤษภาคม นอกจากเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แล้ว ยังครบรอบ ๘ ปีรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ อีกด้วย
ฉะนั้นไม่แปลกครับ การหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จึงมีการจับโยงการเมืองระดับประเทศ โจมตีรัฐบาลประยุทธ์ ถล่มทหาร ลากไปถึงสถาบันเบื้องสูง
เพราะผู้สมัครฝั่งรัฐบาลมีอยู่หลายคน
ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, สกลธี ภัททิยกุล ก็เหมือนยิงนัดเดียวได้นกหลายตัว
แต่ประเด็นที่เป็นข่าวและมองข้ามไม่ได้คือ การหาเสียงเลยเถิดของ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล
การสร้างประเด็นในการหาเสียง โดยตั้งใจให้ล่อแหลมในการตีความนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่คิดขึ้นได้เดี๋ยวนั้นอย่างแน่นอน
แต่เป็นการตั้งประเด็นวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการวิจารณ์ต่อ และเล็งเห็นผลว่า จะนำไปสู่อะไร
เช่นกรณี ทวงคืนสนามหลวง “วิโรจน์” ไม่ใช่คนแรกที่พูด แต่เป็นแกนนำ ๓ นิ้ว เคยใช้เป็นคมเปญในการเคลื่อนไหวมาก่อน
ที่สำคัญมีเจตนากระทบกระเทียบไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
แม้กระทั่งการลงพื้นที่ชุมชนของผู้สมัคร ส.ก. ส.ข. จากพรรคก้าวไกล มีการจัดรูปแบบการแสดงความเห็นโดยใช้การติดสติกเกอร์สี ว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย
เป็นแพลตฟอร์มเดียวกันกับเด็กๆ นำไปใช้เป็นเครื่องมือโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์
และบางคนต้องเข้าเรือนจำอยู่ในขณะนี้
ถามว่าบังเอิญหรือไม่?
ในการเดินสายหาเสียงของ “วิโรจน์” เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายนที่ผ่านมา ก็เป็นอีกครั้งที่มีการเปิดประเด็นใหม่ขึ้นมา
พูดนโยบายสนับสนุนการอ่าน ในงานเสวนา “(ว่าที่) ผู้ว่าฯ อ่านอะไร: วิสัยทัศน์และนโยบายเกี่ยวกับหนังสือ” ที่งาน Summer Book Fest
“วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ตอบคำถามทำอย่างไรให้คน กทม. เข้าถึงหนังสือว่า
….ห้องสมุดต้องเป็นสถานที่ที่เก็บหนังสือที่คนอยากอ่านมากกว่าจะเป็นสถานที่เก็บหนังสือโฆษณาชวนเชื่อ หนังสือที่ใช้การไม่ได้ ๗๐% เป็นหนังสือที่ไม่เหมาะกับความต้องการของคนอ่าน
หากหนังสือหลากหลาย เอาหนังสือขายดีอย่าง “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” หรือ “ประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่เหนือการเมือง” ที่เด็กวัยรุ่น คนรุ่นใหม่เขานิยมอ่านมาเข้าห้องสมุด คนก็จะเข้าห้องสมุดมากขึ้นแน่นอน…
ก็อย่างที่รู้กันครับ มีการใส่ชุดข้อมูลให้เด็กๆ มาตั้งแต่ พรรคอนาคตใหม่ ก่อร่างสร้างตัว
ชุดข้อมูลที่ว่า มีการเปิดเผยมาตลอด โดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล
เลิกประเพณีไหว้ครู
เลิกเรียก พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา มีแค่ คุณ ผม ดิฉัน เอาตามแบบฝรั่ง มี ไอ กับ ยู อ้างว่า แก้ปัญหาระบบอาวุโส
ที่ลำดับญาติกันก่อนนี้ เป็นตัวแทนของอำนาจนิยมกีดกันโอกาสและความคิดสร้างสรรค์
ฉะนั้นไม่แปลกครับที่ “วิโรจน์” จะพุ่งเป้าไปที่ คนรุ่นใหม่
ทำไมต้องอ่าน “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” หรือ “ประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่เหนือการเมือง”
ก็มีคำตอบอยู่ในตัวครับ
มันคือการต่อยอดสิ่งที่ปูทางมาตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่
ถามว่ามีเจตนาอะไร?
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถาม “วิโรจน์” ในเรื่องนี้ครับ
—————-
…ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร กับการเสนอแนะนำหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” ของ ณัฐพล ใจจริง
“ในงานเทศกาลหนังสือฤดูร้อน ครั้งที่ ๒ Summer Book Fest ๒๐๒๒ ที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เมื่อวันเสาร์ผ่านมา มี “เวที” การเมืองเล็กๆ ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และอาจจะมีนัยสำคัญที่บ่งชี้ถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จะเกิดขึ้นในอีกราว ๒ สัปดาห์กว่าๆ จากนี้…..
ส่วนคุณวิโรจน์นั้น มาในแนวอุดมการณ์ที่เป็นนามธรรมและคุณค่า คือการนำเสนอในแง่มุมที่ว่า การสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้แข็งแรงนั้น จะต้องอยู่ภายใต้บรรยากาศที่ผู้คนมีเสรีภาพ ทั้งเสรีภาพในการเลือกหาเลือกอ่าน เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ได้อ่านไป ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ถูกต้องทีเดียว
ในการพูดรอบนี้ คุณวิโรจน์ได้เอ่ยชื่อหนังสือหลายเล่มที่เป็นหนังสือขายดีและเป็นที่นิยมของคนรุ่นหนุ่มสาวฝั่งฝ่ายประชาธิปไตย เช่น “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” ของ อาจารย์ณัฐพล ใจจริง
การสร้างพื้นที่ซึ่งจะมี “เสรีภาพ” ในการอ่าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น มันยังอยู่ในกรอบขอบอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. หรือจะต้องผ่านการขับเคลื่อนผ่านอำนาจรัฐในระดับที่ใหญ่ไปกว่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม โครงการ “คูปองตาสว่าง” ที่จะเป็นบัตรแทนเงินสดที่ กทม.จะแจกให้เด็กๆ นำไปใช้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนเพื่อส่งเสริมประสบการณ์ชีวิตเชิงวัฒนธรรม เช่น ไปเข้าพิพิธภัณฑ์ ซื้อหนังสือที่ชอบ หรือลงเรียนกีฬา ดนตรี ศิลปะ และกิจกรรมอื่นๆ ที่ตนเองสนใจได้ตามใจชอบนั้นก็น่าสนใจมาก”
จากคอลัมน์ “คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.’ บนเวทีหนังสือฤดู ‘ร้อน'” ของ กล้า สมุทวนิช ใน มติชน ๔ พ.ค.๒๕๕๖
ผมเชื่อว่า สิ่งที่คุณกล้าเขียน เป็นความจริง และผมอยากถามคุณวิโรจน์ว่า คุณไม่ทราบว่า หนังสือ “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” ของ ณัฐพล ใจจริง มีปัญหาในการนำเสนอข้อเท็จจริงทางวิชาการหรือครับ?
ถ้ายังไม่ทราบ ผมจะนำบางตัวอย่างมาใส่ไว้ในคอมเมนต์นะครับ แล้วหวังว่าจะให้ความสำคัญกับชาว กทม.อย่างผม ด้วยการตอบข้อสงสัยของผมนะครับ ขอบคุณครับ
๑.การกล่าวว่า สมเด็จย่าทรงอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหาร https://www.facebook.com/chaiyan.chaiyaporn/posts/4754306784622195
๒.การกล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่เก้าทรงทราบแผนการรัฐประหาร ๒๔๙๐ ล่วงหน้า ๒ เดือน
https://www.facebook.com/chaiyan.chaiyaporn/posts/4754320144620859
๓.การกล่าวว่า กรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รับรองรัฐประหารอย่างแข็งขันและรวดเร็ว https://www.facebook.com/chaiyan.chaiyaporn/posts/4549205991798943 และ
https://www.facebook.com/chaiyan.chaiyaporn/posts/4551549161564626
๔.การกล่าวว่า กรมขุนชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รับรองรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว
https://www.facebook.com/chaiyan.chaiyaporn/posts/4634878403231701
๕.กรมขุนชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เข้าประทับเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรีของ จอมพล ป. ในปี พ.ศ.๒๔๙๓
https://www.facebook.com/chaiyan.chaiyaporn/posts/4062196647166549
๖.กรมขุนชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงไม่พอใจกับการขับไล่ ควง อภัยวงศ์ ลงจากอำนาจ และค้านการแต่งตั้งจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทน
https://www.facebook.com/chaiyan.chaiyaporn/posts/4656286887757519 และ https://www.facebook.com/chaiyan.chaiyaporn/posts/4112982145421332
๗.กรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงมีความคิดที่จะกำจัด จอมพล ป.
https://www.facebook.com/chaiyan.chaiyaporn/posts/4691508317568709
๘.ในหลวงรัชกาลที่ ๙ มีพระราชประสงค์ที่จะตั้งให้พระองค์เจ้าธานี พระยาศรีธรรมาธิเบศ และหลวงสินาดโยธารักษ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพล ป. ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ รวมถึงการอ้างถึง หม่อมเจ้านักขัตรมงคล ว่าทรงมีบทบาทในการให้คำแนะนำในหลวงให้มีท่าทีไม่พอใจรัฐบาล
https://www.facebook.com/chaiyan.chaiyaporn/posts/4523325177720358
๙.แผนการเสด็จฯ เยือนชนบทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มีจุดประสงค์เพื่อท้าทายอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
https://www.facebook.com/chaiyan.chaiyaporn/posts/4713470282039179
๑๐.คำกล่าวอ้างของ พูนศุข พนมยงค์ ในหนังสือพิมพ์ Observer ปี ๒๕๐๐ เกี่ยวกับประเด็น “กรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ ๘” ที่ปรากฏในวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ใจจริง และบทความของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
https://m.facebook.com/100001287626532/posts/4629874763732065/
—————-
ทั้งหมดนี้ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่แทบทุกกิจกรรมของพรรคก้าวไกล รวมทั้งคณะก้าวหน้า ที่ล่าสุด “ปิยบุตร” ยกรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ที่อเมริกาเป็นคนเขียนให้ ขึ้นมาเพื่อกดทับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย
ล้วนเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อพุ่งเป้าไปที่สถาบันเบื้องสูงทั้งสิ้น
กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา
และเจตนาของ พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า ก็เป็นไปตามที่แสดงออกมา
อยากให้คนกลุ่มนี้มีอำนาจหรือเปล่าครับ?