วันนี้ “๔ พฤษภาคม” วันฉัตรมงคล
ขอนำเรื่อง “มงคล” จากที่ “นายกฯ ประยุทธ์” โพสต์เฟซ ถึงการมาเยือนของนายกฯญี่ปุ่น “นายเกคิชิดะ ฟูมิโอะ” ระหว่าง ๑-๒ พค.๖๕ มาบันทึกไว้ ดังนี้
ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha
พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักทุกท่านครับ
ช่วงวันที่ 1-2 พ.ค.นี้ ประเทศไทยมีโอกาสที่ดียิ่ง ในการให้การต้อนรับการเยือนอย่างเป็นทางการ ของนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และคณะกว่า 100 คน ซึ่งเป็นผู้แทนระดับสูงจากหลายกระทรวงสำคัญของญี่ปุ่น
ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว รวมทั้งกระทรวงกลาโหม
นับเป็นการเยือนเป็นทางการในระดับนายกรัฐมนตรี ครั้งแรกในรอบ 9 ปี เพื่อสานต่อและขยายผลความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ประเทศ ที่มีมาอย่างยาวนาน 135 ปี ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
ผมมีความยินดีที่จะเรียนให้ทราบถึงความสำเร็จร่วมกัน จากการหารือเพื่อเพิ่มพูนความเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ระหว่างไทยและญี่ปุ่นให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น อย่างน้อย 8 ด้าน ดังต่อไปนี้
1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเสริมสร้างศักยภาพ Startup และ SMEs ให้มีนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งการร่วมมือภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว ของทั้งสองประเทศ
2.การส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่น ในอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า-แบตเตอรี่-อะไหล่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีดิจิทัล และ BCG ทั้งในพื้นที่ EEC และทั่วทุกภูมิภาคของไทย ที่จะต้องพิจารณาส่งเสริมโดยตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง
รวมทั้งเรื่องเวชภัณฑ์-ยา-เครื่องมือแพทย์ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้ผลิตยาระดับโลก รัฐบาลก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุน การวิจัย หรือขยายธุรกิจ โดยตั้งโรงงานผลิตยาในประเทศไทยให้มากขึ้น
โดยไทยก็มีความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อส่งเสริมบทบาทของไทย ให้เป็น “ศูนย์กลางด้านสุขภาพและการแพทย์ (Healthcare,Wellness & Medical Hub)” ของโลก
3.การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและพื้นที่ EEC
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยส่งเสริมการสร้างแรงงานทักษะสูงใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่รองรับการลงทุนของญี่ปุ่น ผ่านสถาบันโคเซ็นในไทย(KOSEN Education Center)เพื่อมุ่งพัฒนาให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
4.การเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงาน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
5.การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ระบบราง โครงข่ายดิจิทัล และ 5G
6.การส่งเสริมการค้าระหว่างกัน โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA : Free Trade Agreement) ต่างๆ ที่สองฝ่ายเป็นภาคีอยู่
รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก
7.การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 และเตรียมความพร้อมรองรับโรคอุบัติใหม่ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ซึ่งผมได้ยืนยันความพร้อมของไทย ในการเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่”
รวมทั้งมีการหารือถึงแนวทางการส่งเสริมให้มีการผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศเป็นลำดับตามสถานการณ์ เพื่อให้ประชาชนของทั้งสองประเทศ สามารถกลับมาเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกัน ขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้มากขึ้น
8.ความร่วมมือด้านความมั่นคงร่วมกัน ภายใต้กลไกทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ การต่อต้านการก่อการร้ายสากล ความมั่นคงทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางทะเล เป็นต้น
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการลงทุนในไทยมากที่สุด โดยในปี 2564 มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน 178 โครงการ จากทั้งหมด 1,674 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 80,733 ล้านบาท จากทั้งหมด 642,680 ล้านบาท
เฉพาะในเดือน มี.ค.65 มีการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนญี่ปุ่น 2 ราย มีมูลค่าการลงทุนราว 630 ล้านบาท
โดยผมมุ่งหวังสนับสนุนให้ภาคเอกชนญี่ปุ่น ให้ความสำคัญและเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้งของห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ที่สามารถเชื่อมโยงทั้งภูมิภาคนี้ได้
นอกจากนี้ ในฐานะญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายสำคัญของโลก ผมได้มอบหมายให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย เดินทางไปหารือกับภาคเอกชนญี่ปุ่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 5 บริษัท
เพื่อเน้นย้ำนโยบายของรัฐบาลและความพร้อมของไทย ในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่เข้มแข็งและมีศักยภาพ
โดยมีการออกมาตรการส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร
รวมทั้งระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งเรื่องแบตเตอรี่ การรีไซเคิลแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนต่างๆ และสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า
ซึ่งการทำงานร่วมกัน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ของทั้งสองประเทศหลังจากนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญ ผลักดันให้ไทยสามารถเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การเป็น “ผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” ในภูมิภาค
และเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก รวมทั้งบรรลุนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น อีกด้วย
การมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการของผู้นำประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือไปสู่ความสำเร็จของทั้งสองประเทศ ในหลากหลายมิติ
เพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การวิจัย การท่องเที่ยว สาธารณสุข ที่จะเกิดอาชีพใหม่ๆ อีกมากมาย
และวางรากฐานไปสู่อนาคตของประเทศไทย ด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สู่ความเจริญก้าวหน้าที่ยั่งยืน ที่เราจะส่งมอบต่อให้กับลูกหลานของเราในวันข้างหน้าครับ.
——————————–
มาฟัง “มุมสะท้อน” คนไทยระดับอาจารย์ด้านวิศวกรรมกันบ้าง ดังนี้
Kunchit Phiu-Nual
#นายกญี่ปุ่นเยือนไทย
ดูเผิน ๆ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เดินตามอเมริกาแทบทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องปฏิบัติการทางทหาร ในยูเครน
หลายท่านคงคิดว่านายกญี่ปุ่นมาครั้งนี้ จะมาชักชวนไทยให้ต่อต้านรัสเซีย ตามนโยบายสหรัฐฯที่แสดงออกอย่างชัดเจนในการเป็นศตรูกับรัสเซีย
แต่ผมบอกได้เลยว่า นายกญี่ปุ่น คนญี่ปุ่น ไม่ใช่คนโง่เง่าเลย แถมฉลาดเป็นกรด
ผมมั่นใจว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีระบบงานวิจัยที่ดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง งานวิจัยญี่ปุ่นขึ้นอยู่กับอาจารย์แต่ละท่าน ที่จะสร้างกลุ่มลูกศิษย์ที่มีความสามารถสูง สืบต่อกันมา (train of thought)
และด้วยวิธีนี้เองที่ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาแนวคิดเพื่อการทำงานต่างๆ ได้อย่าง ยอดเยี่ยม
นโยบายการค่างประเทศก็เช่นเดียวกัน ญี่ปุ่นมองผลประโยชน์ตัวเองว่าจะเป็นอย่างไร หากไทยมีสถานะ 1, 2, 3 เช่น เป็นตัวแทนหรืออาจถึงขั้นลูกไล่สหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ หรือสนิทสนมกับจีนมากเกินไป หรือถูกเพื่อนบ้านที่มีรูปแบบการปกครองแตกต่างกัน สร้างเงื่อนไขให้เป็นศัตรู และมีเรื่องราวถึงขั้นก่อสงคราม ในวันใด วันหนึ่ง
ท่านนายกฯ ญี่ปุ่นจึงดำเนินนโยบายต่างประเทศกับไทย อย่างที่เราเห็นกันอยู่ในการเดินทางมาครั้งนี้
ความสัมพันธ์ ไทย – ญี่ปุ่นปัจจุบัน ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง
ญี่ปุ่นต้องการให้ไทย ดูแลตัวเองได้ดีกว่าเดิม เข้มแข็งกว่าเดิม และต้องการให้ใช้เทคโนโลยีด้านอาวุธจากญี่ปุ่น แทนที่จะเป็น จากจีน หรือจากประเทศอื่น ๆ
ผลประโยชน์ที่ญี่ปุ่นจะได้ คือ ความเข้มแข็งของไทยที่จะคุ้มครองการลงทุนของคนญี่ปุ่นในไทย ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นมาก
ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่น และแม้แต่ลูกพี่ใหญ่ คือ สหรัฐฯ เองได้พบว่า สหรัฐฯ เดินนโยบายต่างประเทศกับไทยในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาผิดพลาดอย่างมาก
ประการแรก สหรัฐฯ หนุนทักษิณ ซึ่งจนบัดนี้ได้พบแล้วว่า คนไทยส่วนใหญ่ที่มีสติปัญญา รู้เช่น เห็นชาติทักษิณ และพบว่า ทักษิณคงจะไม่มีทางหวนกลับมาได้
นอกจากนี้ นโยบายต่างประเทศด้านอื่นๆ ของสหรัฐฯ ที่ใช้กับไทยก็ผิดพลาดอย่างมาก
ไทยไม่ยอมสยบกับการบีบคั้นด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่อง GSP การค้า เรื่องเทคโนโลยี เรื่องนโยบายอาเซียนกับเมียนมา
(ซึ่งสหรัฐฯ ต้องการให้รัฐบาลที่โปรตะวันตกขึ้นมาปกครองเมียนมา เพื่อที่จะค่อยๆ สูบทรัพยากรมหาศาลจากเมียนมา)
นโยบายสนับสนุน NGO ที่แข็งกร้าว (สหรัฐฯ กับเยอรมนี เป็น 2 ประเทศงี่เง่า ที่สนับสนุนความพยายามล้มสถาบัน)
ความร้าวฉานนี้ ต้องใช้เวลาในการกลบเกลื่อน และยังต้องการมุ่งไปที่ยุโรปตะวันออกมากขึ้น
ประกอบกับสหรัฐฯ ต้องการดำเนินนโยบายใต้ดินโดยใช้ไทยเป็ฐาน จึงต้องการที่จะลดบทบาทด้านอื่นๆ ลง โดยเฉพาะนโยบายในอาเซียน
ท้ายที่สุด เป็นเรื่องของ 3 ประเทศด้านตะวันออกของเรา ที่มีระบอบการปกครองสังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ ซึ่งแตกต่างกับไทยโดยสิ้นเชิง
โดยเฉพาะเวียดนาม ที่พยายามพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ซึ่งมีอะไรๆ ที่แปลกประหลาด คือ ประเทศชาติมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับโซเวียต
ในขณะที่ ปชช.ส่วนใหญ่ที่เป็นเศรษฐี มีเงินส่งกลับมาพัฒนาประเทศ มาจากสหรัฐอเมริกา เงินจำนวนนี้ มีความสำคัญกับประเทศเวียดนามมาก
นอกจากนี้ เทคโนโลยีต่าง ๆ ก็นำพามาจากสหรัฐฯ ฉะนั้น เวียดนามจึงเป็นประเทศที่น่าสนใจมาก เป็นแหล่งรวมของ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี จาก 2 ประเทศ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
และ ปชช.เวียดนาม ยังเป็นชนกลุ่มที่ต้องการความยิ่งใหญ่ เห็นได้จาก การครอบงำทางเศรษฐกิจและการเมืองกับลาว และกัมพูชา
ฉะนั้น วิธีเดียวที่การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยจะปลอดภัย คือ ญี่ปุ่นต้องเพิ่มความรับผิดชอบกับไทย และในขณะเดียวกัน ก็สร้างสรรเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติด้วย
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นจึงคืบคลานเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธกับไทย และยิ่งง่ายมากด้วย เพราะกิจการพัฒนาอาวุธสำหรับญี่ปุ่น ดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ
ฉะนั้น ในอนาคต เพื่อนๆ ลองจับตาดูว่า เราจะมีความร่วมมือกับญี่ปุ่นด้านกิจการทหารเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร
แต่ผลประโยชน์ของญี่ปุ่นในกรณีนี้ สอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทยอย่างยิ่ง
—————–
พรุ่งนี้ มีอีกวัน อย่าหนีนะ!