ศิระ มุ่งมะโน
“หมู-ไข่ไก่ แพงทั้งแผ่นดิน” เป็นพาดหัวข่าวตัวโตของสื่อไทยโดยพร้อมเพรียงกันโดยไม่ได้นัดหมาย หลังสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด สหกรณ์การเกษตรผู้เลี้ยงไก่ไข่สุพรรณบุรี จำกัด และชมรมผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน ประกาศปรับขึ้นราคาขายไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอีกฟองละ 10 สตางค์ เป็นฟองละ 3.50 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.65 ขณะที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2565 อีก 2-4 บาท/กก.เป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นวันพระที่ 6 ทำให้ราคาเฉลี่ยหน้าฟาร์มอยู่ที่ 96-98 บาท/กก. ราคาขายส่งห้างค้าปลีกอยู่ที่ 153-156 บาท/กก. และราคาขายปลีกอยู่ที่ 190-196 บาท/กก. สมาคมฯยังคาดการณ์ว่าราคาหน้าฟาร์มดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 98.81 บาท/กก. ในไตรมาศที่ 2 ของปีนี้
ส่วนผู้เลี้ยงไก่ไข่ก็อั้นไม่ไหวเช่นกันกับภาระต้นทุนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ มีการปรับราคาไข่คละหน้าฟาร์มตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 – 22 เมษายน 2565 แล้ว 4 ครั้ง รวม 70 สตางค์ต่อฟอง หรือ 21 บาทต่อแผง ทำให้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3.50 บาทต่อฟองขณะนี้ ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยไข่ไก่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรอยู่ที่ประมาณ 3 บาท ซึ่งเกษตรกรต้องแบกภาระต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น เรียกได้ว่า “เสี่ยง” ไม่แพ้กับการเลี้ยงสัตว์ประเภทอื่น ซึ่งต้นทุนที่แท้จริงขณะนี้ใกล้เคียงกับราคาขายมาก
ด้าน มาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ให้เหตุผลที่ต้องประกาศปรับขึ้นราคาไข่ไก่ เพราะต้นทุนโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น เช่น ราคาอาหารสัตว์ ที่ผู้ค้าได้ขึ้นราคาขายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อต้นเดือนเม.ย.2565 มีการปรับขึ้นอีกกก.ละ 60 สตางค์ ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงของผู้เลี้ยงรายย่อยขยับขึ้นมาอยู่ที่ฟองละ 3.20 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม ที่ต้นทุนฟองละ 2.94 บาท และแม้ประกาศปรับขึ้นราคาเป็นฟองละ 3.50 บาท แต่ราคาขายจริงขึ้นอยู่กับการการเจรจาของผู้ซื้อและผู้ขาย ถ้าเป็นลูกค้าประจำก็ขายที่ฟองละ 3.40 บาท ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ เร่งพิจารณาแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบ และอาหารสัตว์ อย่างเร่งด่วน
ราคาอาหารหลักของคนไทยทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นการปรับขึ้นตามกลไกตลาดตามหลักการอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเนื้อหมูประสบปัญหาหมูขาด-หมูแพงมาตั้งแต่ต้นปีจากการแพร่ระบาดของโรค ASF ทำให้ผลผลิตหายไปจากตลาด 50% กอรปกับช่วงฤดูร้อนที่อุณภูมิเฉลี่ย 36 องศาเซลเซียส ทำให้หมูหงุดหงิดได้และพาลไม่กินอาหารจนถึงเจ็บป่วย ผลผลิตจึงไม่เป็นไปตามเป้าหมายจับหมูได้ช้าลงไปอีก แต่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย ยังคงตรึงราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มไว้ช่วงปลายเดือนมกราคม-จนถึงปัจจุบันที่ 110 บาท/กก. ไม่เปลี่ยนแปลงและมีความพยายามที่จะให้ความร่วมมือคุมราคาหน้าฟาร์มไม่ให้เกิน 100 บาท/กก. ไปให้นานที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภค ส่วนไก่ไข่นั้นใช่จะอยู่สบาย อากาศร้อนอบอ้าวทำให้ไข่น้อยลงผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยต้นทุนก็สูง
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 18 พ.ศ. 2563 เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ให้คง ข้าวสาลี ข้าวโพด ไข่ไก่ สุกรและเนื้อสุกร หัวอาหารสัตว์และอาหารสัตว์ อยู่ในรายการสินค้าควบคุม 46 รายการต่อเนื่อง ลงวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 มีผลใช้บังคับเพียงหนึ่งปี เพื่อดูแลป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่ายหรือการกำหนดเงื่อนไข และวิธีปฏิบัติทางการค้า อันไม่เป็นธรรม ควรพิจารณายกเลิกและนำกลไกตลาดมาใช้ เพื่อสร้างสมดุลและความเป็นธรรมให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภค
ที่สำคัญรัสเซียบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 สร้างผลกระทบครั้งสำคัญต่อประชาคมโลก โดยเฉพาะราคาอาหารและพลังงาน อย่างที่ทราบกันดีทั้ง 2 ประเทศ ส่งออกออกข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปตลาดโลกรวมกัน 28% เพราะสงครามทำให้ต้องหยุดส่งออกทั้งหมด ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทะยานไม่หยุดโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) รายงานดัชนีสินค้าธัญพืชตั้งแต่เกิดสงครามสูงขึ้น 21% และถ้านับรวมราคาที่ปรับขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ 2564 จนถึงขณะนี้ ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว 30% ซึ่งทั้งข้าวสาลีและข้าวโพดเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ และอาหารสัตว์เป็นต้นทุน 70-80% ของต้นทุนเลี้ยงสัตว์…ซึ่งปีนี้นับได้ว่าเป็นปีที่ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์สูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่จำเป็นต้องมีการปรับราคาเนื้อสัตว์และราคาอาหารให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต
เมื่อเร็วๆนี้ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊ก “Dr.KOB” กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดจาก FAO ชี้ว่า ในหลายพื้นที่ของโลกกำลังเข้าสู่ช่วงการเกิดวิกฤตการณ์อาหาร โดยดัชนีราคาอาหารล่าสุดในเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นถึง 12.6% จากเดือนก่อนหน้า หากเทียบกับปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 17.9% ทำให้ระดับราคาอาหารโลกสูงสุดในรอบ 22 ปี ตั้งแต่ได้สร้างดัชนีนี้ขึ้นมา โดยราคาเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น 7% ผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้น 9.5% ธัญญพืชเพิ่มขึ้น 21% น้ำมันพืชเพิ่มขึ้น 39.1% ราคาน้ำตาล 4.6%
“ไม่น่าแปลกใจที่คนทั้งโลกจึงบ่นกันทั่วไปเรื่องราคาอาหาร เพราะสงครามที่ยุโรป รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลี 28% ของโลก ยิ่งไปกว่านั้น รัสเซียและเบลารูสเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยโปแตส 40% ของโลก เมื่อมีการ Sanctions รัสเซียและเบลารูส บวกกับการที่ยูเครนไม่สามารถเพาะปลูกได้ ข้าวสาลีและปุ๋ยจึงขาดแคลนหนัก ราคาอาหารสัตว์และราคาปุ๋ยที่พุ่งสูงขึ้น จึงส่งผลต่อไปให้ราคาอาหารและสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น เมื่อเรา ๆ คือผู้บริโภคไปซื้ออาหารจากตลาด จาก Supermarket สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ของแพงกันทั่วหน้า กำเงินไป 100 แต่ได้ของมาแค่ 80” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว
ส่วนไทยตอนนี้ก็มีปัญหาเช่นกัน ราคาอาหารในบ้าน นอกบ้าน กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบกับทุกๆ คน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังดีว่าไทยไม่เคยทิ้งภาคเกษตร ทำให้เราน่าพอจะผ่านเรื่องนี้ไปได้
ถึงจุดนี้เราคงต้องยอมรับความจริง ราคาสินค้าต้องปรับขึ้นตามกระแสโลกที่อยู่ในสถานการณ์ “ไม่ปกติ” ทั้งวิกฤตโรคระบาดคน คือ โควิด-19 และโรคระบาดในสุกรอย่าง ASF รวมถึงวิกฤตสงครามที่เหนือการควบคุมของทุกประเทศ ได้แต่รอวันสงครามเลิกรา การทำมาหากินในประเทศและทั้งโลกจะกลับเข้าสู่ระบบปกติอีกครั้ง ให้เศรษฐกิจโลกขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเต็มกำลัง สำคัญคือรัฐบาลต้องพิจารณาขจัดอุปสรรคทางการค้าเพื่อลดต้นทุนการผลผลิต ไม่ให้การผลิตหยุดชะงักเพราะของมีพอเพียงแต่ราคาสูงขึ้นหน่อย ดีกว่าของขาดราคาควบคุมไม่ได้เกิดตลาดมืดประชาชนเดือดร้อน “ข้าวยาก หมากแพง” จะมาเยือนโดยไม่ได้นัดหมาย