ความรับผิดชอบทางศีลธรรม-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ยังคงเป็นประเด็นร้อนแรง

ความเคลื่อนไหวในพรรคประชาธิปัตย์ยังยากที่จะสรุปว่า สุดท้ายแล้วจะไปจบที่ไหน

เพราะความขัดแย้งภายในที่ร้าวลึกเป็นประวัติการณ์ ค่อยๆ ระเบิดออกมาครั้งแล้วครั้งเล่า จะมีระเบิดลูกใหญ่ตามมาหรือไม่ ล้วนขึ้นกับคนในพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น

วานนี้ (๒๕ เมษายน) แม้เลือดไม่ไหลออกจากพรรค  แต่เขย่าประชาธิปัตย์ ชนิด “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ต้องขยับอีกรอบ

การลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ของ “กนก วงษ์ตระหง่าน” ให้เหตุผลว่า

“ผมจำเป็นต้องลาออกจาก รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยสำนึกทางศีลธรรม” มันคือการบีบให้ “จุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์” ลาออกจากหัวหน้าพรรค

หากพิจารณาในเหตุผลที่ “กนก วงษ์ตระหง่าน” ยกขึ้นมา มันคือการวิพากษ์ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” อย่างรุนแรง

“…จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกี่ยวข้องกับการกระทำของผู้บริหารระดับสูงของพรรคท่านหนึ่ง ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และได้เข้าสู่การพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรมแล้วนั้น สาธารณชนจำนวนมากแสดงการไม่ยอมรับ และรังเกียจต่อการกระทำตามที่ถูกกล่าวหานั้น ด้วยเห็นว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อศีลธรรมอย่างรุนแรง จนนำไปสู่การตั้งคำถามต่อมาตรฐานความรับผิดชอบทางศีลธรรมของผู้บริหารพรรคโดยรวม

และจากการดำเนินการของพรรคต่อเรื่องนี้โดยหัวหน้าพรรค กลับสวนทางกับความคาดหวังของสาธารณชนในเรื่องสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมของพรรค

พรรคประชาธิปัตย์มุ่งมั่นทำงานการเมือง ด้วยการยึดถือประชาชนเป็นใหญ่มาเป็นเวลาช้านาน ตามความหมายของชื่อพรรค คือ ‘ประชาธิปัตย์’

แต่ในขณะนี้เป็นที่ปรากฏชัดว่า ประชาชนผิดหวังอย่างมากต่อการตัดสินใจของพรรค ที่นำโดยหัวหน้าพรรค ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ด้วยสำนึกต่อศีลธรรมที่สำคัญยิ่งต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนักการเมือง

ผมจึงขอลาออกจากตำแหน่ง ‘รองหัวหน้าพรรค’  ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป…”

ครับ…แปลความหมายเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย

“กนก วงษ์ตระหง่าน” ส่งสัญญาณว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนหัวหน้าพรรค

ในทางการเมืองแล้ว ความรับผิดชอบทางศีลธรรม น้อยครั้งที่จะเกิด

เพราะการเมืองไทยยังไม่พัฒนาไปถึงขั้นนั้น

รัฐมนตรีโกง

ส.ส.ค้ายา

ส.ส.ฆ่าคนตาย

เราเห็นการกล่าวหาเรื่องทำนองนี้มานานโขแล้ว แต่แทบไม่มีการแสดงความรับผิดชอบทางศีลธรรมหรือรับผิดชอบทางการเมืองเลย

แม้กระทั่งการลาออกของ “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” ก็ยังคาบเกี่ยวเรื่องความรับผิดชอบทางศีลธรรม หรือกันพรรคออกไปไม่ให้ได้รับความเสียหายกันแน่

ฉะนั้นอนาคตของประชาธิปัตย์ยังเหมือนอยู่ปากเหวที่สมาชิกพรรคด้วยกันขุดเอาไว้

“ชวน หลีกภัย” พยายามเข้ามากอบกู้สถานการณ์ ก็ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะสถานะในพรรคไม่เอื้ออำนวย

แต่การที่ นายหัวชวน อาบน้ำร้อนมาก่อน จึงมองเห็นภาพกว้างมากกว่า

สิ่งหนึ่งที่ นายหัวชวน ยอมรับคือ มีความขัดแย้งในพรรคจริง และต้องแก้ไข

 “…วันนี้ก็ต้องดูปัญหาและอย่าไปหนีปัญหา ยอมรับความจริงว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร และก็ต้องแก้ไขกันไป อย่าไปหวั่นไหวเกินไปจนทำให้มีปัญหาตามมา

จึงอยากให้สมาชิกที่อยู่ในพรรคและได้ประโยชน์จากพรรค มีตำแหน่ง เป็นสมาชิก เป็น ส.ส. ให้ตระหนักว่าหากมีอะไรก็อย่าไปซ้ำเติม เราต้องช่วยเหลือกัน…”

“…สมัยที่ผมจะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคก็ต้องผ่านการแข่งขันเช่นกัน แต่สมัยนั้นความขัดแย้งไม่ค่อยมี

แต่สมัยนี้แข่งขันกันเยอะ มีหลายกลุ่ม พอกลุ่มที่แพ้ไป บางคนก็หนีออกไป แต่บางคนก็ยังอยู่ แต่ว่าคนที่เป็นหัวหน้าก็จะเหนื่อย ซึ่งผมรู้สึกเห็นใจและขอให้เป็นกำลังใจทุกคน…”

 “…ขอร้องสมาชิกพรรคหากไม่ทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับพรรค ก็อย่าเป็นตัวถ่วงของพรรค

หมายความว่าอย่าคอยวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิเพียงอย่างเดียว ต้องพยายามหาทางช่วยเหลือ เพราะแต่ละคนก็ได้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกพรรค เพราะมีตำแหน่ง

ขอให้คิดถึงคนที่เขาอยู่ในระบบเลือกตั้งบ้าง และคิดถึงคนที่เขาสนับสนุนพรรคด้วย ความยากลำบากและด้วยความศรัทธา

คนเหล่านี้เราต้องคิดถึงให้มาก จึงอยากให้กำลังใจและขอบคุณคนที่ให้กำลังใจ โดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่ที่ให้กำลังใจพรรคมาหลายคน…”

ถ้าวัดเรื่องบารมี ในประชาธิปัตย์วันนี้ ไม่มีใครเกิน นายหัวชวน

และหากอยากให้ศึกในประชาธิปัตย์จบลงได้ ก็ต้องอาศัย นายหัวชวน

แต่การใช้วิธีนี้อาจส่งผลเสียกับพรรคในระยะยาว  เพราะ นายหัวชวน ไม่ได้อยู่เป็นอมตะ วันหนึ่งไม่มีนายหัวชวน แล้วเกิดปัญหาเดิมซ้ำอีก จะเรียกใช้ใคร

พรรคที่ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันทางการเมือง ไม่อาจยึดติดกับใครคนใดคนหนึ่งได้ ความรับผิดชอบจะถูกส่งต่อเป็นรุ่นๆ และประชาธิปัตย์เป็นเช่นนั้นมาตลอด

วันนี้ดูเหมือนจะถึงทางตัน

หากยังแก้ไขแบบเดิมโดยคนเดิม ประชาธิปัตย์ อาจดำดิ่งกว่าทุกครั้งในอดีต เพราะครั้งนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาการเมืองภายในพรรค

แต่เป็นเรื่องความรับผิดชอบทางศีลธรรม

การลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ของ  “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เกิดขึ้นเพราะความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง

เป็นเหตุผลทางการเมือง

๑๐ มกราคม ๒๕๓๐ การชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคระหว่าง “พิชัย รัตตกุล” กับ “เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์” สร้างตำนาน กลุ่ม ๑๐ มกราคม

ครั้งนั้นเป็นความขัดแย้งครั้งประวัติศาสตร์ของประชาธิปัตย์

สถานการณ์ แตกหัก มาจากเกมรุนแรง ที่สมาชิกพรรคการเมืองนำมาใช้เพื่อล้มรัฐบาลของตัวเอง

การโหวตร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๑ ส.ส. ๓๒ คนจาก ๑๐๑ คนของพรรคประชาธิปัตย์ยกมือสวน

แม้เสียงของรัฐบาลยังชนะ แต่ ๑๖ รัฐมนตรี ของพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้ง “พิชัย รัตตกุล” แสดงความรับผิดชอบด้วยการยื่นใบลาออก

ทำให้ “ป๋าเปรม” ตัดสินใจประกาศยุบสภา

นี่ก็เหตุผลทางการเมือง

จะเห็นว่าในอดีตวิกฤตทางการเมืองที่เกิดกับประชาธิปัตย์ ล้วนมีสาเหตุจากความขัดแย้งทางการเมือง เป็นผลจากการช่วงชิงตำแหน่งในพรรคเป็นหลัก

แต่ครั้งนี้ ต่างออกไป

แม้ความขัดแย้งทางการเมืองยังคงอยู่ การช่วงชิงตำแหน่งในพรรคก็ยังคงอยู่ แต่มีเหตุผลหลักที่ไม่เหมือนเดิม

มีการถามหาความรับผิดชอบทางศีลธรรมจากผู้บริหารพรรค ที่สืบเนื่องจากการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าไร้ศีลธรรมของสมาชิกพรรค

เขย่าความรู้สึกของสังคมมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา วันนี้ลำพัง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” อาจแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว


Written By
More from pp
ผู้หญิงคนนั้นมีอะไรให้ต้องกลัว?-สันต์ สะตอแมน
ผสมโรง สันต์ สะตอแมน “ขอแนะนำว่า.. คนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนต่อไป ควรที่จะมีคุณสมบัติที่สามารถทำงานร่วมกับทางสภากทม.ได้ดี..
Read More
0 replies on “ความรับผิดชอบทางศีลธรรม-ผักกาดหอม”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
'); }); var ratingTotalIndicator = function() { var indicator = document.querySelectorAll('.rating-total-indicator'); if (typeof indicator === 'undefined' || indicator === null) { return; } for ( var i = 0, len = indicator.length; i 0 || bottom > 0) && top