นักวิจัย ม.ขอนแก่น พัฒนาโครงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชสมุนไพรท้องถิ่นในจังหวัดอำนาจเจริญ เสริมรายได้เกษตรกร-การท่องเที่ยว มุ่งสร้างความยั่งยืน

จากข้อมูลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่า มูลค่าการบริโภควัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศช่วงปี 2562 สูงถึง 52,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีมูลค่า 43,000 ล้านบาท สะท้อนถึงความสำคัญในการสร้างรายได้จากการปลูกสมุนไพร โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดห่างไกล ให้กลายเป็นหนึ่งในจังหวัดที่สามารถนำสมุนไพรเป็นจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ภายในจังหวัดได้ด้วยเช่นกัน จากปัจจัยดังกล่าว

ทำให้ ดร.ศุภณัฏฐ์ กาญจนวัฒนาวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เริ่มจัดทำ “โครงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชสมุนไพรท้องถิ่นจังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อส่งเสริมการปลูกเป็นอาชีพเสริมและเพื่อการอนุรักษ์” โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)

ดร.ศุภณัฏฐ์ เล่าถึงที่มาของโครงการว่า ที่ศูนย์แพทย์แผนไทย โรงพยาบาลพนา มีบุคลากรที่ผลิตยา และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร ซึ่งต้องการหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ใหม่ของจังหวัด โดยนำพืชสมุนไพรที่อยู่ในจังหวัดมาใช้เป็นวัตถุดิบหลัก จึงได้เริ่มสำรวจจากหมอยา ปราชญ์ชาวบ้าน เมื่อได้ตัวอย่างมาบางส่วนก็พบว่า

สมุนไพรบางชนิดเป็นพืชที่หายาก ต้องเข้าไปเก็บในพื้นที่ป่าดังนั้นจึงได้เริ่มต้นศึกษาวิธีการผลิตต้นพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชให้มีความยั่งยืนมากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถนำเพาะปลูกได้ แล้วนำสมุนไพรมาขายที่ศูนย์การแพทย์ ซึ่งการขยายพันธุ์ตามโครงการนี้จะได้ต้นสมุนไพรที่มากขึ้นแต่ใช้เวลาสั้นกว่า

ขณะเดียวกัน ประชาชนในพื้นที่ ได้เลือกสมุนไพรที่มีศักยภาพในท้องถิ่น เพื่อมาขยายพันธุ์ 3 ชนิดได้แก่ ส่องฟ้า ชะเอมไทย และเร่วหอม โดยแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป เช่น ชะเอมไทย มีเนื้อไม้ที่มีรสหวานสามารถผสมยาชนิดต่าง ๆ ให้มีรสหวานได้

ส่วนเร่วหอมสามารถนำมาใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อทำเป็นลูกประคบได้ และมีสรรพคุณในการช่วยระบายลมและเพิ่มการไหลเวียนโลหิตที่ดีอีกด้วย ขณะที่ส่องฟ้าสามารถนำใบมาทำเป็นน้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นหอมมากขึ้น

พร้อมระบุว่า การดำเนินโครงการนี้เริ่มต้น ตั้งแต่การคัดเลือกต้นพันธุ์จากเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อนำมาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ จากนั้นฆ่าเชื้อชิ้นส่วนให้สะอาด นำมาเลี้ยงด้วยการกระตุ้นสารฮอร์โมนต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้เจริญเติบโตได้เร็วขึ้น ได้จำนวนต้นที่มากขึ้น จากนั้นเพิ่มปริมาณของต้นเพาะเลี้ยง นำมาเพาะเลี้ยงให้เกิดราก จากนั้นปรับสภาพเพื่อให้นำมาเพาะปลูกภายนอกได้

 พร้อมกันนี้ ยังได้ร่วมมือกับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ศูนย์การแพทย์ที่เข้ามาเรียนรู้ในทุกขั้นตอน โดยผลที่ได้คือ เกษตรกรได้ต้นสมุนไพรที่เพาะเลี้ยงทั้งหมด พร้อมส่งมอบขวดแก้วที่มีต้นสมุนไพรพร้อมกับห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงให้ทางศูนย์การแพทย์แผนไทยโรงพยาบาลพนา กับโรงพยาบาลชานุมาน ได้นำมาเรียนรู้และเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์เพิ่มเติมในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ หลังจบกิจกรรมของโครงการพบว่า ตัวแทนชุมชนซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์งานวิจัยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการขยายพันธุ์สมุนไพรด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สามารถปฏิบัติในขั้นตอนต่าง ๆ ได้เอง ตลอดจนสามารถถ่ายทอดความรู้แก่ผู้อื่นได้ นอกจากนี้จากการตอบแบบสอบถามทั้งกลุ่มผู้ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการและเกษตรยังมีความพึงพอใจมากโครงการนี้

“ประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากโครงการนี้คือ มีพืชสมุนไพรทางเลือกที่จะปลูกให้กับศูนย์แพทย์ได้มากขึ้น สามารถขายวัตถุดิบสมุนไพรให้กับกลุ่มแพทย์ได้มากขึ้น ขายพื้นที่ปลูกได้ เพิ่มชนิดของพืชได้ ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่วนในกลุ่มศูนย์แพทย์แผนไทยเอง จะทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอำนาจเจริญจากการคิดค้นของศูนย์ ทำให้เป็นจุดขายเรื่องของการท่องเที่ยวด้านสุขภาพมากขึ้นส่งผลให้ชุมชนรอบข้างมีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย” ดร.ศุภณัฏฐ์ กล่าวทิ้งท้าย


Written By
More from pp
ภาพประวัติศาสตร์ ผบ.ทบ.สหรัฐฯ รับการตรวจ Nasopharyngeal Swab COVID-19 Test ณ ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 ดอนเมือง
ภาพประวัติศาสตร์ ผบ.ทบ.สหรัฐฯ รับการตรวจ Nasopharyngeal Swab COVID-19 Test ณ ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 ดอนเมือง
Read More
0 replies on “นักวิจัย ม.ขอนแก่น พัฒนาโครงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชสมุนไพรท้องถิ่นในจังหวัดอำนาจเจริญ เสริมรายได้เกษตรกร-การท่องเที่ยว มุ่งสร้างความยั่งยืน”