จบ! คกก.อุทธรณ์ สั่ง กปน.พิจารณาข้อเสนอ 2 เอกชน ชี้ คุณสมบัติครบ ปมขยายโรงประปามหาสวัสดิ์

จากกรณีที่ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ถูกคณะกรรมการของการประปานครหลวง ตัดสิทธิ์ ไม่ให้ประมูลโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยอ้างว่าขาดคุณสมบัติ เนื่องจากผลงานที่ยื่นไปนั้น ไม่ตรงตามสเป็กที่กำหนด หรือผู้เข้าร่วมประมูลต้องมีผลงานก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปา ไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท ตามเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11

ส่งผลให้ทั้ง 2 บริษัทยื่นอุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว บริษัท ซิโน-ไทย ระบุว่า ผลงานที่ทางเอกชนได้ยื่นไปนั้น คือ งานก่อสร้างระบบประปา โครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคเทศบาลนครนครราชสีมา ตามสัญญาจ้างเลขที่ 3/2550 และจากหนังสือรับรองระบุชัดเจนว่า

บริษัทฯ มีงานติดตั้งระบบผลิตประปา ขนาด 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และเมื่อคำนวณมูลค่างานตามสัดส่วน 80% ในกิจการร่วมค้าออกมา ก็พบว่า มีมูลค่ามากกว่า 300 ล้านบาท สอดคล้องกับคุณสมบัติที่กำหนดมา ในประเด็นดังกล่าว กปน. มาให้เหตุผลภายหลังว่า ผลงานการติดตั้งระบบผลิตประปา ขนาด 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ที่ กปน.ได้ตั้งคุณสมบัติไว้นั้น หมายถึงกำลังการผลิตสุทธิ ซึ่งไม่นำตัวเลขปริมาณน้ำสูญเสียเข้ามารวมด้วย อย่างไร ก็ตาม ทางเอกชน ยืนยันว่า ได้ชี้แจงข้อสงสัยอย่างครบถ้วนแล้ว

ทั้งนี้ นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทยเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า การอุทธรณ์ มิได้หวังแพ้ชนะ เนื่องจากทางบริษัท ไม่ได้เป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด แต่การดำเนินการนั้น เป็นไปเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของบริษัท ซึ่งถูกกล่าวหาว่า มาร่วมประมูลทั้งที่ขาดคุณสมบัติ

ขณะที่ ขณะที่หนังสืออุทธรณ์ของ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด ระบุว่า ได้ยื่นผลงานก่อสร้างระบบประปามาตรฐานของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และงานจ้างเหมาก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุราษฎร์ธานี ตามสัญญาเลขที่ กจห. 24/2556 ลงวันที่ 11 เม.ย. 2556 เป็นไปตามประกาศประกวดราคาข้อที่ 11 แต่กลับถูกตัดสิทธิ และคณะกรรมการฯไม่เคยเรียกบริษัทฯให้มาชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม

ล่าสุด 21 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน ที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลาง ทำหน้าที่เป็นประธาน ได้พิจารณาข้อเรียกร้องจากเอกชน และมีมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน คณะที่ 1 เสนอ โดยมีมติว่า บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด มีคุณสมบัติตามเอกสารประกวดราคา (TOR) ในการเข้าร่วมการประมูลจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์

พร้อมกันนั้น คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ได้ให้ กปน.กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องไปต่อไป ตามนัยมาตรการ 119 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

มีรายงานเพิ่มเติม ว่า การประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน คณะที่ 1 ที่มีนายสมศักดิ์ ภู่สกุล รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธานอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่า ข้อกล่าวอ้างของผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 ราย ฟังขึ้น คือ บมจ.ซิโน-ไทยฯ และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด มีคุณสมบัติตาม TOR และให้ กปน.กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องไปต่อไป ตามนัยมาตรการ 119 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และให้ กปน.แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 ราย ทราบด้วย

ทั้งนี้ ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว คณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ระบุว่า ตามเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11 ที่ กปน.กําหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานก่อสร้างระบบตกตะกอนและระบบกรองน้ำสำหรับระบบผลิตน้ำประปา พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง ขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันในสัญญาเดียวกัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท และเป็นสัญญาที่ได้ทํางานแล้วเสร็จตามสัญญา นั้น

ตามเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11 ดังกล่าว กปน.มิได้กำหนดเงื่อนไขว่า จะพิจารณาผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอโดยใช้ขนาดของระบบผลิต ซึ่งต้องหักน้ำสูญเสียออกจากผลงานก่อน

ดังนั้น กรณีนี้ผู้อุทธรณ์รายบริษัท ซิโน-ไทยฯ ยื่นหนังสือรบรองผลงานที่มีงานติดตั้งระบบผลิตน้ำประปา ขนาด 100,000 ลบ.ม./วัน และผู้อุทธรณ์รายบริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ ได้ยื่นหนังสือรับรองผลงานที่มีกําลังผลิต Nominal Capacity 4,000 ลบ.ม./ชม. (96,000 ลบ.ม./วัน) เผื่อสูญเสียภายในอีก 10% เป็น 4,400 ลบ.ม./ซม. (105,600 ลบ.ม./วัน) จึงยื่นข้อเสนอเป็นไปตามเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11 แล้ว

ประกอบกับ กปน.มิได้แสดงเอกสารทางวิชาการของหน่วยงานในสหรัฐอเมริกาที่แจ้งว่ากําลังการผลิตสุทธิควรพิจารณาโดยหักน้ำสูญเสียออก เพื่อให้ผู้ยื่นข้อเสนอทราบตั้งต้น โดยมาแสดงเอกสารดังกล่าวในชั้นอุทธรณ์ ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างของผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 ราย ฟังขึ้น และมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสําคัญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ราคากลาง 6,526.97 ล้านบาท โดยมีเอกชนยื่นข้อเสนอ 5 ราย จากเอกชนที่ซื้อซอง 9 ราย ดังนี้ 1.บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ยื่นเสนอราคา 6,150 ล้านบาท 2.บมจ.ซิโน-ไทยฯ ยื่นเสนอราคา 6,195.3 ล้านบาท 3.ITA Consortium (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และบริษัท อาควาไทย จำกัด) ยื่นเสนอราคา 6,490.56 ล้านบาท 4.บริษัท ช.การช่าง จำกัด ยื่นข้อเสนอราคา 6,523.8 ล้านบาท 5.กิจการร่วมค้า สี่แสงเอสจี ยื่นเสนอราคา 6,525 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ฯ ของ กปน. มีมติให้ ITA Consortium เป็นผู้ชนะการเสนอราคา โดยเสนอราคาเป็นเงิน 6,460.56 ล้านบาท และ ITA Consortium ยินดีลดราคาให้คงเหลือ 6,400 ล้านบาท โดยเป็นผู้ที่เสนอราคามาเป็นอันดับ 3


Written By
More from pp
ร่วมดูแลช้างและคืนสมดุลป่า ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ทรู ส่งมอบเงินบริจาคลูกค้า กว่า 450,000 บาท ในโครงการ Eco for Elephant พร้อมสนับสนุนเพิ่มซิมทรูมูฟ เอช และแพ็กเกจดาต้า ต่อเนื่อง 3 ปี มูลค่า 5,400,000 บาท เสริมประสิทธิภาพโครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า
กลุ่มทรู ตอกย้ำภาคเอกชนไทยที่ดำเนินธุรกิจควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรมที่สร้างคุณค่าแก่สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นำศักยภาพเทคโนโลยีสื่อสารดิจิทัลร่วมสานต่อการอนุรักษ์ช้างไทยและคืนสมดุลให้ป่า ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
Read More
0 replies on “จบ! คกก.อุทธรณ์ สั่ง กปน.พิจารณาข้อเสนอ 2 เอกชน ชี้ คุณสมบัติครบ ปมขยายโรงประปามหาสวัสดิ์”