แรงงาน MoU ชาวลาวกลุ่มแรกเดินทางเข้าไทยแล้ววันนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย แรงงานชาวลาว กว่า 2 ร้อยคน ที่เข้ามาทำงานตาม MoU เดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อกักตัว ณ สถานที่กักกัน จ.หนองคาย ก่อนนายจ้างในประเทศรับตัวไปทำงาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า วันนี้ (วันที่ 28 มีนาคม 2565) แรงงานสัญชาติลาวที่เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU จำนวน 236 คน ได้เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหนองคาย เพื่อเข้ากักตัวในสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organization Quarantine) ) ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย จำนวน 2 แห่ง

ประกอบด้วยโรงแรมแกรนด์พาราไดซ์ หนองคาย จำนวน 158 คน และห้องเช่าเรือนเพชร (บมจ.ก้องพัฒนโชค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด) จำนวน 78 คน รวมทั้งสิ้น 236 คน มีค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 6,900 – 7,500 บาทต่อคน ขึ้นอยู่กับการเลือกสถานที่กักตัว มีรถของสถานกักตัวรับจากด่านมาที่พัก พร้อมบริการอาหาร 3 มื้อ โดยทั้งหมดต้องกักตัวอย่างน้อย 7 วัน ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข

เนื่องจากได้รับวัคซีน ครบ 2 เข็มจากประเทศต้นทาง และมีการซื้อกรมธรรม์ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล ซึ่งคุ้มครองการรักษาโรคโควิด-19 เมื่อครบกำหนดจะให้นายจ้างรับแรงงานต่างด้าวไปยังสถานประกอบการ ซึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 138 คน จังหวัดสระบุรี 78 คน และจังหวัดนนทบุรี 20 คน

“พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกะทรวงแรงงาน ห่วงใยนายจ้าง สถานประกอบการที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ท่านได้กำชับให้กระทรวงแรงงานเตรียมความพร้อมการนำเข้าแรงงานต่างด้าว เพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างรัดกุม เข้มงวด และครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อนายจ้าง สถานประกอบการในประเทศไทยมีแรงงานในการขับเคลื่อนกิจการ รับสถานการณ์โควิด – 19 ที่กำลังคลี่คลาย

ซึ่งผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายกรมการจัดหางานเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี โดยขณะนี้มีการเตรียมสถานที่กักกันสำหรับแรงงาน 3 สัญชาติที่เข้ามาทำงานตาม MoU ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว มุกดาหาร ตาก ระนอง และหนองคาย สำหรับจังหวัดหนองคายที่แรงงานชาวลาวเดินทางเข้ามาในวันนี้มี ศูนย์ OQ จำนวน 12 แห่ง เป็นจำนวนห้องพักรวม 763 ห้อง สามารถรองรับผู้กักตัวสูงสุด 1,847 คน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับนายจ้าง สถานประกอบการที่ต้องการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU มีขั้นตอน ดังนี้

1.นายจ้างยื่นแบบคำร้องกับสำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน ได้แก่ แบบ นจ.2 หนังสือแต่งตั้ง สัญญาจ้างงาน และเอกสารนายจ้าง

2.การจัดส่งคำร้องความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว โดยกรมการจัดหางาน/สจจ. สจก. 1-10 มีหนังสือแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวผ่านสถานเอกอัครราชทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทยไปยังประเทศต้นทาง

3. ประเทศต้นทางรับสมัคร คัดเลือก ทำสัญญา และจัดทำบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าว (Name List) ส่งให้กรมการจัดหางานผ่านสถานเอกอัครราชทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทย และกรมการจัดหางานส่งให้นายจ้าง

4. นายจ้างที่ได้รับบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าว (Name List) แล้วยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนแรงงานต่างด้าว พร้อมด้วยเอกสารที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

4.1 บัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าวที่ประเทศต้นทางรับรอง
4.2 แบบ บต.31 หรือ บต.33 พร้อมเอกสารและหลักฐาน
4.3 หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือใบรับรองแสดงประวัติการเคยติดเชื้อมาก่อนในช่วงไม่เกิน 3 เดือน
4.4 หนังสือยืนยันการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการกักตัว ได้แก่ ค่าสถานที่กักกัน ค่าตรวจโรคโควิด -19 ค่าบริการทางการแพทย์ ค่ารักษากรณีติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงกรณีป่วยฉุกเฉินหรือโรคอื่นระหว่างกักตัว/กรมธรรม์ที่คุ้มครองการรักษาโรคโควิด -19
4.5 หลักฐานยืนยันว่ามีสถานที่กักตัวตามที่ราชการกำหนด
4.6 หลักฐานที่ยืนยันว่ามียานพาหนะเพื่อรับแรงงานต่างด้าวไปยังสถานที่กักตัว
4.7 กรณีเข้าประกันสังคมซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัย 4 เดือน
4.8 กรณีเข้าประกันสังคม นายจ้างแจ้งขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน
– ชำระค่าคำขอและค่าใบอนุญาตทำงาน (2 ปี) 1,900 บาท
– วางเงินประกัน (กรณีนายจ้างดำเนินการด้วยตนเอง) หลักประกัน 1,000 บาท/แรงงานต่างด้าว 1 คน

5. กรมการจัดหางานมีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศต้นทางของแรงงานต่างด้าวเพื่อพิจารณาออกวีซ่า (Non – Immigrant L-A) ให้แก่แรงงานต่างด้าวตามบัญชีรายชื่อ และหนังสือแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่ออนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองตามที่นายจ้างได้แจ้งไว้ โดยจะอนุญาตให้นำเข้าตามจำนวนสถานที่รองรับในการกักตัว

6.เมื่อแรงงานต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องแสดงหนังสือยืนยันการอนุญาตให้เข้ามาทำงาน ใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าไม่เป็นโรคโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR และ ATK (ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง) หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือใบรับรองแสดงประวัติการเคยติดเชื้อในช่วงไม่เกิน 3 เดือน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร เป็นระยะเวลา 2 ปี จากนั้นจึงเดินทางไปยังสถานที่กักตัว โดยยานพาหนะที่นายจ้างแจ้งไว้ (ไม่เดินทางร่วมกับบุคคลอื่น และหยุดพัก ณ สถานที่ใดๆ ก่อนถึงสถานที่กักกัน)

7. แรงงานต่างด้าวต้องเข้ารับตรวจสุขภาพ 6 โรคเป็นขั้นตอนแรก หากพบเป็นโรคต้องห้ามจะส่งกลับประเทศต้นทาง เพราะไม่สามารถอนุญาตให้ทำงานได้ตามกฎหมาย หากไม่พบเป็นโรคต้องห้ามจะเข้าสู่กระบวนการกักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ด้วยวิธี RT – PCR ดังนี้

1. แรงงานต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนมาจากประเทศต้นทางครบแล้วเข้ารับการตรวจสุขภาพ 6 โรค หากตรวจผ่าน กักตัวอย่างน้อย 7 วัน และตรวจหาเชื้อโควิด – 19 จำนวน 2 ครั้ง

2. แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ฉีดวัคซีนหรือฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังไม่ครบเข้ารับการตรวจสุขภาพ 6 โรค หากตรวจผ่าน กักตัวอย่างน้อย 14 วัน และตรวจหาเชื้อโควิด – 19 จำนวน 2 ครั้ง โดยกระทรวงแรงงานจะสนับสนุนวัคซีนเพื่อดำเนินการฉีดให้แก่คนต่างด้าว

ทั้งนี้ กรณีตรวจพบเชื้อโควิด – 19 ให้เข้ารับการรักษา โดยนายจ้างหรือประกันสุขภาพที่นายจ้างซื้อไว้ให้เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษา จากนั้นเมื่อตรวจไม่พบเชื้อแล้ว จึงฉีดวัคซีนให้แก่แรงงานต่างด้าว และให้นายจ้างรับแรงงานต่างด้าวไปยังสถานประกอบการ

8. แรงงานต่างด้าวรับการอบรมผ่านระบบ Video Conference ณ สถานประกอบการ เมื่อผ่านการอบรมแล้ว รับใบอนุญาตทำงาน โดยการอนุญาตให้ทำงานจะเริ่มจากวันที่แรงงานต่างด้าวได้รับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้เดินทางเข้ามาในประเทศ


Written By
More from pp
เปิดแล้ว งานถนนสายวิทย์ฯ รับวันเด็กแห่งชาติ 2566 ภายใต้แนวคิด “KIDS SCIENCE คิดส์สร้างโลก อย่างสร้างสรรค์”
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ผนึกกำลังภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ เปิดงาน “ถนนสายวิทยาศาสตร์ รับวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี...
Read More
0 replies on “แรงงาน MoU ชาวลาวกลุ่มแรกเดินทางเข้าไทยแล้ววันนี้”