จากจุดเล็ก ๆ ของงานบุญปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของชุมชนตำบลเสียว อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ หนึ่งในเครือข่ายของสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) โดยเริ่มจากงานศพปลอดเหล้า ก่อนขับเคลื่อนการทำงานขยายไปสู่งานบุญประเพณีอื่น ๆ
อาทิ งานกฐิน งานบวช และงานเก็บอัฐิ และด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของชุมชนแห่งนี้ ที่ยังคงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะเปลี่ยนค่านิยมให้ทุกงานบุญประเพณีเป็นงานปลอดเหล้า จากการยืนหยัดต่อสู้อย่างเหนียวแน่นจนกลายเป็นอัตลักษณ์ชุมชนปลอดเหล้า กระทั่งไปสู่การเป็นต้นแบบขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ขยายวงกว้างขึ้นเป็นลำดับ
ทั้งในระดับ ตำบล อำเภอ และระดับจังหวัด โดย จ.ศรีสะเกษ ประกาศให้งานเทศกาลทุกระดับในจังหวัดเป็นงานบุญปลอดเหล้าและมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม มายาวนานกว่า 14 ปี เป็นอีกต้นแบบของชุมชนเข็มแข็งซึ่ง สคล.เตรียมนำไปต่อยอดขยายผลสู่เครือข่ายทั่วประเทศ
นายจันทร์ โต๊ะสิงห์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสียว กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานจนกลายเป็นต้นแบบความสำเร็จในการสร้างค่านิยมงานบุญประเพณีปลอดเหล้า ว่า ยึดหลัก บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) บวกกับ หน่วยงานราชการในการดำเนินงานที่ต้องประสานภาครัฐและภาคประชาชนไปด้วยกัน โดยมี 5 ปัจจัยหลักของความสำเร็จ ประกอบด้วย
1) คณะทำงาน ซึ่งต้องมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน โดยมีคณะกรรมการสุขภาวะทั้งในระดับชุมชนหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อคุณภาพชีวิตที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนั้น จึงมีคณะทำงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในคณะกรรมการสุขภาวะทุกระดับด้วยเช่นกัน
2) ภาคประชาสังคม ก่อนจะประกาศให้แต่ละงานบุญเป็นงานปลอดเหล้านั้น ต้องขอฉันทามติจากชาวบ้านในชุมชนก่อน จากหมู่บ้านเดินหน้าขับเคลื่อนไปสู่ระดับ ตำบล อำเภอ ตามลำดับ เช่นกัน
ปัจจัยข้อ 3) การประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจน โดยในครั้งนั้นได้จัดงาน Kick off พร้อมกันทั้งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ เพื่อประกาศให้ 4 งานบุญ เป็นงานปลอดเหล้า ประกอบด้วย งานศพ งานกฐิน งานบวช และงานอัฐิ รวมไปถึงสถานที่ราชการ ซึ่งการประกาศออกเป็นเช่นนี้ นับเป็นการเตือนตนให้เฝ้าระวังและปฏิบัติตามอย่างเข้มงวดในสิ่งที่ได้ประกาศไว้ต่อสาธารณชน
4) ติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด โดยมีคณะทำงาน ซึ่งระดับหมู่บ้านจะมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ที่คอยชมและเชียร์ให้เจ้าภาพไม่จัดให้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงาน พร้อมกันนี้ จะมีการเก็บข้อมูลค่าใช้จ่ายที่สามารถประหยัดได้จากการไม่ให้มีเครื่องดื่มแอลกอออล์ภายในงานดังกล่าว โดยที่ผ่านมาพบว่าในละงานบุญประหยัดได้ถึง 3-4 หมื่นบาททีเดียว
และ 5) การจัดการคืนข้อมูล ในทุกสิ้นปีของการทำงานและติดตามผลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้ข้อมูลการทำงานในระหว่างปีนำมาวิเคราะห์สำหรับวางแผนการทำงานในปีถัดไป จึงจัดให้มีการคืนข้อมูล ในทุกวันที่ 14 ธันวาคมของทุกปี ภายใต้ชื่อ “งานบุญปลอดเหล้าสร้างความดีโพธิ์ศรีสุวรรณ” และเพื่อรำลึกถึงความภาคภูมิใจในการขับเคลื่อนงานบุญปลอดเหล้า ที่เริ่มตั้งแต่งานศพปลอดเหล้าจนสำเร็จเป็นรูปธรรมและขยายผลไปสู่งานบุญอื่น ๆ ทั่วทั้งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ โดยเริ่มตั้งแต่ ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน
นายจันทร์ กล่าวเพิ่มเติม ว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เราไม่ได้ทำงานแบบโดดเดี่ยว มีการประสานทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมคิดร่วมทำ นำทุกปัญหามาร่วมหารือกัน และความเป็นเครือข่ายของอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ ซึ่งมีคณะกรรมการระดับอำเภอ มีนายกอบต. กำนัน ตัวแทนสาธารณสุขอำเภอ ตัวแทนกลุ่มต่าง ๆ ที่ร่วมมือกัน เมื่อชาวบ้านเห็นการทำงานอย่างเข้มแข็งก็เข้ามาร่วมด้วย นี่คือ หัวใจในการทำงาน เมื่อคณะทำงานเดินหน้าด้วยความมุ่งมั่นพี่น้องชาวบ้านก็เดินตามไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดความยั่งยืน คณะทำงานได้ขยายการทำงานไปยังกลุ่มเยาวชนมากขึ้น โดยหวังจะให้เป็นคลื่นลูกต่อไปในการเข้ามาสานต่อเจตนารมย์งานบุญประเพณีปลอดเหล้าให้คงอยู่สืบไป
ด้านนางสาวพรฤดี ครองชัย นร.ชั้น ม.6 โรงเรียนกระแซงวิทยา กล่าวว่า ปัจจุบันมีสิ่งเข้ามายั่วยุวัยรุ่นมากมาย โรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งในการปลูกฝังให้เยาวชนได้เรียนรู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ อะไรที่ดีหรือไม่ดีและจะส่งผลต่อเราอย่างไรในอนาคต หากผู้ใหญ่ต้องการให้เยาวชนเติบโตขึ้นไปเป็นอย่างไรนั้น การขีดเส้นให้เด็กเดินตามเลย เด็กอาจจะรู้สึกกดดันและอาจไม่ได้ผลตามที่ผู้ใหญ่ต้องการ แต่การสอนแบบทางอ้อมให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตนเอง มีแบบอย่างที่ดีให้เยาวชนเห็นน่าจะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการมากกว่า การมีสิ่งแวดล้อมหรือต้นแบบที่ดีรอบตัวเด็กน่าจะเป็นการสอนได้ดีกว่าโดยให้เขาได้เรียนรู้เองผู้ใหญ่ต้องเข้าใจและเรียนรู้พฤติกรรมของเด็กด้วย
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวเสริมว่า การป้องกันนักดื่มหน้าใหม่โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปกับงานบุญประเพณีปลอดเหล้าให้คงอยู่ต่อไปและมีการขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ โดยเครือข่าย สคล.จะได้นำแนวทางการทำงานของอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนให้มากขึ้น
“สำหรับหัวใจสำคัญของการทำงาน ในเรื่องของการปกป้องเด็กและเยาวชน คือ การดึงผู้ใหญ่หรือหน่วยงานที่ทำงานในเรื่องนี้เข้ามาทำงานร่วมกันและต้องดึงเด็กเยาวชนเข้ามาด้วย มาทำงานด้วยกัน ภาครัฐอาจมีกฎระเบียบที่บางครั้งกลายเป็นกำแพงกั้นเด็กให้เข้ามาหาเราไม่ได้ เมื่อเด็กหันไปที่อื่น เราไม่รู้ว่าเขาจะไปเจออะไรบ้าง เขาไม่ได้อยู่ในสายตาเราจึงเสี่ยงที่เด็กจะหลงทางไปในอบายมุขหรือสิ่งยั่วยุต่าง ๆ ในสังคม ดังนั้น เราต้องหาขบวนการว่าทำอย่างไรที่จะดึงเด็กเยาวชนมาอยู่ในสายตาเรา จึงอยากให้ภาครัฐผ่อนปรนระเบียบข้อบังคับบางอย่างเพื่อให้เด็กเยาวชนสามารถเข้ามาร่วมทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ เป็นเครือข่ายเยาวชนที่จะร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนให้เป็นเติบโตเป็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติต่อไป” ผจก.สคล.กล่าวในตอนท้าย