“ตรีนุช” เผย “ครม.” อนุมัติจัดสรรงบส่วนกลาง 1,800 ล้าน ให้ลูกจ้างสพฐ. พร้อมมั่นใจมีเงินดูแลกลุ่มบุคลากรได้อย่างเพียงพอจนถึงสิ้นปีงบประมาณแน่นอน ขณะเดียวกันของบปี 66 ครอบคลุมเรียบร้อยแล้ว
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า วันนี้ (15 มี.ค.) ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในการจัดสรรงบประมาณ 1,800 ล้านบาท ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอขอไป โดยเป็นงบที่จะต้องมาดูแลโดยเฉพาะครูทั้ง 16 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นกลุ่มหลัก ได้แก่ ครูผู้สอน กลุ่มครูขาดแคลน กลุ่มครู8ลังสมอง ครูวิทย์-คณิต กลุ่มครูที่ดูแลน้องเด็กพิเศษ บุคลากรด้านธุรการ นักการภารโรง
“โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกกลุ่ม จึงได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อให้ดูแลกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ถึงสิ้นเดือนกัยนยน หรือสิ้นปีของงบประมาณ” นางสาวตรีนุช กล่าว
นางสาวตรีนุช กล่าวเสริมว่า โดยงบประมาณดังกล่าว เป็นการอนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 ซึ่งเป็นงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น เพื่อเป็นค่าตอบแทนและค่าจ้างผู้ปฏิบัติงาน ให้ราชการสำหรับเขตพื้นที่และโรงเรียนเป็นวงเงินประมาณ 1,848 ล้านบาทโดยประมาณ
“ทั้งนี้งบดังกล่าวนั้น ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านได้จัดสรรงบส่วนกลางมาให้ เนื่องจากงบปกตินั้นไม่เพียงพอ” นางสาวตรีนุช กล่าว
ทั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการ มีอัตราลูกจ้างดังกล่าวทั้งหมดอยู่ที่ 61,119 อัตรา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ขอจัดตั้งงบประมาณ แต่ปรากฏว่าเราได้งบประมาณมา 43,700 ล้านบาท แต่ที่เราจำเป็นต้องใช้ 4,379 ล้านบาท แต่งบประจำปีที่ให้มาแล้ว 2,531 ล้านบาท ซึ่งเหลือ 1,800 ล้านบาท เพื่อทำให้ได้งบประมาณที่เพียงพอที่จะใช้จ่ายทั้งปี ซึ่งก่อนหน้านี้คาดว่าจะมีงบจ่ายไม่เพียงพอ แต่ขณะนี้ก็จะมีงบจ่ายได้อย่างเพียงพอแล้วหลังจากได้งบดังกล่าวมา
“ขอให้ทุกคนสบายใจได้ว่า จะมีงบประมาณเพียงพอที่จะดูแลบุคลากรได้ไปจนถึงสิ้นปี และปี 66 กระทรวงศึกษาธิการก็ได้จัดทำงบประมาณเข้าไปแล้ว ซึ่งงบประมาณดังกล่าวสามารถครอบคลุมได้ทั้งหมดแล้ว” นางสาวตรีนุช กล่าว
ส่วนเรื่องการรับนักเรียนเข้าเรียนต่อระดับม.1 และม. 4 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการได้แบ่งออกเป็น 3 ช่วงในการรับเด็กนักเรียนดังกล่าว โดยในช่วงวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นการสอบคัดนักเรียนโรงเรียนที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ซึ่งในการสอบครั้งนั้น ได้พบปัญหาว่า หากมีเด็กนักเรียนติดโควิด-19 จะจัดการอย่างไร มีสิทธิสอบหรือไม่ หรือหากมาสอบจะมีการบริหารจัดการอย่างไรเพื่อไม่ให้ติด เราจึงได้ทดลองการสอบของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยได้มีการแยกสถานที่สอบ กรณีเด็กที่ติดโควิด-19 ที่จะสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดม ก็จะมาสอบที่โรงเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการจัดสถานที่ไว้ให้ ส่วนกลุ่มเด็กนักเรียนที่ไม่ติดโควิด-19 ก็ยังคงไปสอบที่อิมแพคเมืองทองธานี โดยจะมีการแยกกลุ่มนักเรียนออกจากกันชัดเจน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย รวมถึงมาตรการต่างๆ
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ยังได้เรียนรู้ปัญหาต่างๆ จากการสอบ GAT/PAT เรื่องการทุจริตในการสอบ ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเอง ท่านก็ได้มีการกำชับในเรื่องนี้เวลาที่จะมีการสอบ ก็คือม.1 และ ม.4 ที่จะมีการสอบในวันที่ 26 มีนาคม และวันที่ 27 มีนาคม ที่จะถึงนี้ ซึ่งได้มีการกำชับตั้งแต่ขบวนการผลิตและการออกข้อสอบ ว่าจะมีขบวนการอย่างไรให้มีความรัดกุม และไม่ให้มีการทุจริต ไม่ให้มีข้อสอบรั่วออกมาได้ โดยจะมีมาตรการในการควบคุมเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งทาง สพฐ. ก็ได้มีแนวให้ไปแล้ว
นอกจากนี้ ในส่วนของการบริหารวันสอบ นายอัมพร กล่าวว่า ก็มีตั้งแต่เรื่องการจัดห้องสอบ การจัดแยกเด็กที่จะติดเชื้อหรือไม่ติดเชื่อโควิด-19 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกาธิการ ยังได้เน้นย้ำ เรื่องของการให้เด็กนักเรียนทุกคนได้มีสิทธิ ในการเข้าสอบตัดเลือกในครั้งนี้ เว้นแต่บุคคลที่ไม่สามารถมาที่สนามสอบได้ ที่เป็นเหตุสุดวิสัยรวมไปถึงการคัดกรอง เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่เป็นอิเลกทรอนิกส์ เข้าไปในห้องสอบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนการสอบ GAT/PAT ซึ่งในส่วนนี้ได้เน้ย้ำและกำชับไปแล้ว
ทั้งนี้โรงเรียนที่มีการสอบคัดเลือกเข้าเรียนม.1 และม.4 มีทั้งหมด 215 โรง นอกนั้นก็เป็นโรงเรียนที่สามารถรับเด็กได้ตามจำนวน อย่างไรก็ตามในปีนี้แม้เด็กจะมีจำนวนน้อยลง แต่โรงเรียนก็ยังคงเท่าเดิม และยืนยันว่าเด็กทุกคนมีที่เรียนแน่นอน
“ภาพรวมของเราขณะนี้ เราต้องการเน้นไปที่ให้เด็กได้มีโอกาส เพราะกระทรวงศึกษาธิการได้มีการทำงานร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขมาโดยตลอดอยู่แล้วในเรื่องของการวางแผน ในการที่จะให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสและสามารถเดินทางไปสอบได้ แม้ว่าจะตรวจแล้วเจอว่าเด็กเป็นโควิด-19 เราก็สามารถแยกห้องสอบได้”นางสาวตรีนุช กล่าวย้ำ
ส่วนปัญหาการรับแป๊ะเจี๊ยะนั้น นางสาวตรีนุช กล่าวว่า เรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญ และมีการเน้นย้ำในเรื่องมาโดยตลอด ให้มีการสร้างความโปร่งใส และให้ทุกคนได้มีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน