ล้มกระดูกหัก จนนำมาซึ่งความพิการ อาจไม่ใช่แค่อุบัติเหตุธรรมดาแต่มาจากภาวะกระดูกพรุน โรคซ่อนเร้นที่เป็นโดยไม่รู้ตัว
โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือโรคที่ความหนาแน่นและมวลกระดูกลดลง จนทำให้กระดูก เปราะบาง พรุน และแตกหักง่าย เนื่องจากความสามารถในการรับน้ำหนัก รับแรงกดหรือแรงกระแทกของกระดูกลดลงเมื่อเกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย เช่น ลื่น สะดุด หกล้ม เป็นต้น จนนำไปสู่ความพิการและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในที่สุด
นายแพทย์ธนวัฒน์ อำพันทรัพย์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านโรคกระดูกพรุนและโรคกระดูกในผู้สูงอายุ โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า โรคกระดูกพรุนเป็นสาเหตุที่ทำให้กระดูกหักง่าย โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง สะโพกและข้อมือ ซึ่งสาเหตุการเกิดโรคมาจากการทำงานที่ไม่สมดุลกันระหว่างเซลล์สลายเนื้อกระดูกเก่า (Osteoclast) และเซลล์สร้างกระดูกใหม่ (Osteoblast) ทำให้มีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก เนื่องจากอายุที่มากขึ้น การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน และความสามารถในการดูดซึมแคลเซียมลดลง
“โรคกระดูกพรุนเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งกรรมพันธุ์ อายุที่มากขึ้น ฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงหรือฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในผู้ชายลดลง หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม แคลเซียมและวิตามินดีที่ไม่เพียงพอ สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอร์เป็นประจำ รวมถึงการใช้ยาบางชนิดที่มีฤทธิ์รบกวนกระบวนการสร้างกระดูก ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวว่ามีภาวะกระดูกพรุน ทำให้หลายคนเรียกโรคนี้ว่าภัยเงียบเนื่องจากไม่มีอาการแสดง กว่าจะทราบว่าเป็นโรคกระดูกพรุนก็ต่อเมื่อเกิดกระดูกแตกหักง่าย ตำแหน่งที่พบได้บ่อย เช่น ข้อมือหัก สะโพกหัก กระดูกสันหลังหักทรุด เป็นต้น สิ่งที่น่ากังวลที่จะเกิดตามมาได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาโรคกระดูกพรุนคือ การเกิดกระดูกหักซ้ำ จนนำมาสู่ความพิการและทุพลภาพได้” นายแพทย์ธนวัฒน์กล่าว
เราสามารถประเมินและสังเกตตัวเองได้ว่าเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่ โดยประเมินจากความเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหลังเรื้อรังแบบหาสาเหตุไม่ได้ หลังค่อมหรือกระดูกสันหลังส่วนบนโค้งผิดปกติ ความสูงลดลง หรือกระดูกหักง่าย แม้จะเป็นการกระแทกเบา ๆ หรือแค่การบิดเอี้ยวตัวตามปกติ ซึ่งแพทย์เฉพาะทางจะวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนโดยการส่งไปตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกด้วยเครื่อง DXA ก่อนวางแผนการรักษาต่อไป โดยการรักษาโรคกระดูกพรุนนั้นมีทั้งการรับประทานยา ฉีดยา และการเสริมฮอร์โมน เพื่อกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก รวมถึงลดการทำงานของเซลล์สลายกระดูกขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ใช้
นอกจากนี้ นายแพทย์ธนวัฒน์ยังแนะนำวิธีลดความเสี่ยงการเกิดโรคกระดูกพรุน ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ฝึกการทรงตัวเพื่อป้องกันการหกล้ม รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน หากจำเป็นต้องรับประทานยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะหากพบความเสี่ยงเร็วก็สามารถรักษาหรือชะลอการสูญเสียมวลกระดูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งควรมาติดตามการรักษากับแพทย์และมาตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกอย่างต่อเนื่อง