ข้อเท็จจริงกระบวนการสรรหาและการหยั่งเสียง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

11 กุมภาพันธ์ 2565-วาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต ดำรงตำแหน่งครบกำหนด 4 ปี 2 วาระ ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 และสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี เพื่อดำเนินการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  และได้เปิดรับสมัครผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2565 – 2569  ระหว่างวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ถึง วันที่ 5 มกราคม 2565

โดยเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 6 – 7 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา  ซึ่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดีกำหนดให้รายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้มาจาก 2 ทาง คือ 1) การสมัครของผู้ที่มีความสนใจ และ 2) การเสนอชื่อ ซึ่งมีผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาอธิการบดี จำนวนมากกว่า 20 คน

การสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีกระบวนการอย่างไร? กระบวนการสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เริ่มจากการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาโดยสภามหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยของไทยส่วนใหญ่

ซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคน ประธานสภาพนักงาน นายกสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทคณาจารย์ประจำ กรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทพนักงานมหาวิทยาลัยที่มิใช่คณาจารย์ประจำ และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัย รวมทั้งสิ้น 7 คน เรียกว่า “คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่”

คณะกรรมการสรรหาชุดนี้จะดำเนินการให้มีการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี และรับสมัครบุคคลที่ประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งอธิการบดี เมื่อได้รายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีจากการเสนอชื่อและการรับสมัครแล้ว คณะกรรมการสรรหาจะตรวจสอบและกลั่นกรองรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน มีประวัติและผลงานดีไว้จำนวนไม่น้อยกว่าสามชื่อแล้วดำเนินการทาบทาม

ผู้ที่ตอบรับการทาบทามและผู้สมัครจะต้องนำเสนอวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหา เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดีให้เหลือจำนวนสองชื่อ ก่อนจะนำเสนอรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกต่อสภามหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ในกรณีที่คณะกรรมการสรรหาเห็นว่าเมื่อได้มีการเสนอวิสัยทัศน์แล้วบุคคลใดมีความโดดเด่นเหนือกว่าผู้อื่นอย่างชัดเจน

คณะกรรมการสรรหาอาจเสนอชื่อต่อสภามหาวิทยาลัยเพียงชื่อเดียวก็ได้ จากนั้นสภามหาวิทยาลัยจะเชิญผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการสรรหามานำเสนอวิสัยทัศน์ต่อสภามหาวิทยาลัยอีกครั้งื้ เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีจำนวนหนึ่งชื่อ และนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

เมื่อได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอธิการบดีแล้ว สภามหาวิทยาลัยจะดำเนินการแต่งตั้ง “คณะกรรมการประเมินผลการบริหารงานของอธิการบดี” เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหารงานและภาวะความเป็นผู้นำของอธิการบดีว่ามีการบริหารงานเป็นไปตามความคาดหวังหรือไม่ โดยมีการประเมินผลจำนวน 2 ครั้งในวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี คือ รอบ 1 ปี 6 เดือน และรอบ 3 ปี แล้วรายงานผลการประเมินต่อที่ประชุมสภาฯ พิจารณาทุกครั้ง ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารงานของอธิการบดีเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นไปตามแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่สภาฯ ได้กำหนดไว้ให้มากที่สุด

เพราะเหตุใดจึงไม่สามารถนำผลการหยั่งเสียงโดยประชาคม มช. มาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การหยั่งเสียง คือ รูปแบบการลงคะแนนเพื่อหาความนิยม ซึ่งมิได้เป็นเป้าประสงค์หลักของการสรรหาอธิการบดีที่มุ่งคัดหาผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในการดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นอกจากนี้ ผลจากความแตกแยกภายในองค์กรหลังจากการโจมตีระหว่างกันในกระบวนการหาเสียงเพื่อเรียกความนิยมในอดีตนั้น ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสรรหาอธิการบดีโดยไม่นำการหยั่งเสียงมาเป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2546 ได้ระบุถึงร่างพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยว่าด้วยการได้มาซึ่งอธิการบดีว่า “ต้องเป็นกระบวนการที่โปร่งใส ไม่ใช้การเลือกตั้ง แต่ให้ใช้วิธีการสรรหาตามข้อบังคับของสภามหาวิทยาลัย”

ประกอบกับมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 14/2564 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ได้มีการปรึกษาหารือและได้กำหนดว่า “การหยั่งเสียงสามารถทำได้โดยสภาพนักงาน มช. หรือองค์กรอื่นที่ได้รับมอบหมาย แต่ไม่ใช่การดำเนินการของคณะกรรมการสรรหา และผลการหยั่งเสียงที่ได้ดังกล่าวไม่ให้นำมาเป็นเกณฑ์ชี้ขาดในการพิจารณา ทั้งในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาและของสภามหาวิทยาลัย”

นักศึกษาจะสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหาครั้งนี้ได้อย่างไรบ้าง ในการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดรับฟังเสียงของนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากร ของมหาวิทยาลัยผ่านเวทีของสภาพนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อนำประเด็นต่าง ๆ ไปพิจารณาต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย

ข้อเท็จจริงการจัดการหยั่งเสียงเลือกอธิการบดี โดยสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านระบบออนไลน์

จากการจัดการหยั่งเสียงเลือกอธิการบดี โดยสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา มีผู้ลงคะแนนทั้งหมด 1,375 คน ได้แก่ กลุ่มบุคลากรสายวิชาการ 80 คน กลุ่มบุคลากรสายสนับสนุน 58 คน กลุ่มนักศึกษา 1,237 คน และผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 12 คน  (0.87 % ของผู้มาหยั่งเสียง)

จะเห็นได้ว่าสัดส่วนผู้มาหยั่งเสียงมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนของนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยทั้งหมด ดังนั้น ผลการหยั่งเสียงในวันดังกล่าวจึงไม่สามารถนำมาเป็นความคิดเห็นส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยได้


Written By
More from pp
พีพีทีวี ปรับเวลา “เข้มข่าวเย็น” เร็วขึ้น ดึง “เอก-เอกพร” นั่งแท่นผู้ประกาศคู่ “เฟิร์น-สุชาดา” เริ่ม 12 ก.ค.นี้ 
 พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36 ปรับธงรบรายการข่าว ให้สมกับสโลแกน “เรื่องข่าว เรื่องใหญ่”  เปิดตัวผู้ประกาศข่าวคู่ใหม่ ดึง “เอก–เอกพร” ประกบคู่กับ เฟิร์น–สุชาดา ใน “เข้มข่าวเย็น” พร้อมเพิ่มเวลาและขยับเวลาใหม่ 16.30 น. เริ่ม 12 ก.ค.นี้ 
Read More
0 replies on “ข้อเท็จจริงกระบวนการสรรหาและการหยั่งเสียง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่”