เกษตรกรหมูช้ำขาดทุนสะสม 3 ปี ซ้ำต้นทุนพุ่ง ข้าวโพด-ถั่วเหลืองแพง ป้องกันโรคเข้ม หมูขาดแคลน วอนผู้บริโภคเห็นใจ

Group of pig that looks healthy in local ASEAN pig farm at livestock. The concept of standardized and clean farming without local diseases or conditions that affect pig growth or fecundity

นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวถึงสถานการณ์สุกรในปัจจุบันว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงกำลังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทุกประเภทปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ภาคปศุสัตว์ทั่วโลกกำลังประสบอยู่ โดยเฉพาะราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศเพื่อนบ้านทั้ง กัมพูชา ลาว เวียดนาม ที่ราคาปรับขึ้นไปอยู่ในระดับ 11.20-12.20 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบ 10 กว่าปี

ขณะที่จีนราคาสูงถึง 12.80 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนประเทศไทยเคยมีราคาสูงถึง 12.50 บาทต่อกิโลกรัม กลายเป็นต้นทุนสะสมที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผนวกกับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาผู้เลี้ยงต้องประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก จากการขายหมูต่ำกว่าต้นทุนเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องโรค กระทั่งเคยขายสุกรราคาต่ำสุดเพียง 50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนสูงถึง 80 บาท เป็นการซ้ำเติมภาวะขาดทุนจากที่ต้องแบกรับมาตลอด ปี เพื่อประคับประคองอาชีพเดียวนี้ไว้

“ปัจจุบันผู้เลี้ยงสุกรในภาคเหนือหายไปจากระบบแล้วมากกว่า 50% จากผลกระทบของโรคในหมูและภาวะขาดทุนสะสม ทำให้ต้องหยุดเลี้ยงหมูปล่อยเล้าว่างเพื่อรอดูสถานการณ์ ขณะที่เกษตรกรที่ยังเดินหน้าเลี้ยงต่อไปต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้น จากราคาวัตถุดิบที่พุ่งไม่หยุดทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลืองนำเข้า และปลายข้าว

ซึ่งวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นต้นทุนหลักคิดเป็น 60-70% ของการเลี้ยงสัตว์ รวมถึงต้องยกระดับระบบป้องกันโรคให้เข้มแข็งขึ้น  ทำให้มีต้นทุนเพิ่มเกือบ 500 บาทต่อตัว และยังต้องเตรียมเงินทุนจำนวนมาก เพื่อปรับเข้าสู่ระบบมาตรฐานทั้ง GFM และ GMP แม้รู้ว่าต้นทุนต้องเพิ่มขึ้น แต่เกษตรกรยินดีทำเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารโปรตีนให้ผู้บริโภคในประเทศ” นายกสุนทราพร กล่าวและว่า

สำหรับการบริโภคของประชาชนในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากห้างร้านต่างๆกลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติ ไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวในช่วงก่อนนี้ โรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอน และยังเข้าสู่ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ส่งผลในเชิงจิตวิทยาทำให้คนเริ่มออกมาจับจ่ายมากขึ้น สวนทางกับปริมาณผลผลิตสุกรขุนลดลงมากกว่า 30% ราคาสุกรจึงเป็นไปตามกลไกตลาด

อย่างไรก็ตามพบว่าประเทศอื่นๆที่มีปัญหาขาดแคลนสุกรระดับราคาต่างปรับขึ้นต่อเนื่อง อย่างเช่น จีนราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่ 90-103 บาทต่อกิโลกรัม และฟิลิปปินส์ ราคา 137-147 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรขอความเห็นใจในปัญหาที่ต้องเผชิญกับภาวะราคาหมูตกต่ำมานานกว่า 3 ปี ขอให้กลไกตลาดได้ทำงานเสรี เพื่อให้สามารถไปต่อในอาชีพนี้ได้ ขณะที่ประชาชนยังมีทางเลือกบริโภคอาหารอื่นทดแทน ทั้งปลา ไข่ ไก่ ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแท้จริง


Written By
More from pp
CP LAND X เจมส์ จิรายุ เปิดตัวพรีเซ็นเตอร์คนใหม่ ร่วมเติมฝัน “สุขจริงทุกจินตนาการ”
7 สิงหาคม 2567  บริษัท ซี.พี. แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP LAND หนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศไทย...
Read More
0 replies on “เกษตรกรหมูช้ำขาดทุนสะสม 3 ปี ซ้ำต้นทุนพุ่ง ข้าวโพด-ถั่วเหลืองแพง ป้องกันโรคเข้ม หมูขาดแคลน วอนผู้บริโภคเห็นใจ”