24 พ.ย.2564 – ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้ช่วย ผบ.ตร. และพล.ต.ต.ไตรรงค์ ผิวพรรณ รอง ผบช.น. ร่วมแถลงผลการจับกุมเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ MBC Club มูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ระบุว่า เครือข่าย MBC Club ได้ชักชวนผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนใน Forex โดยหลอกลวงว่าจะได้กำไรเฉลี่ย 40% ของเงินที่ลงทุนต่อเดือน และจะนำผลกำไรมาปันผลให้กับผู้ร่วมลงทุน
แต่หากลงทุนครบจำนวน 40,000,000 บาท ภายในสิ้นปีจะได้รับรางวัลเป็นรถยนต์เก๋ง ยี่ห้อ Porsche 718 Boxster จากบริษัท ซึ่งการลงทุนดังกล่าวมีแผนการร่วมลงทุน แบ่งเป็น 5 แพ็กเกจ ดังนี้
แพ็กเกจที่ 1 MEMBER ทุนจำนวน 50,758 บาท ทาง CLUB เพิ่มทุนให้ 110% เฉลี่ยกำไรต่อวันคิดเป็น 27.50 %
แพ็กเกจที่ 2 SILVER ทุนจำนวน 253,750 บาท ทาง CLUB เพิ่มทุนให้ 115% เฉลี่ยกำไรต่อวันคิดเป็น 28.75%
แพ็กเกจที่ 3 TITANIUM ทุนจำนวน 507,500 บาททาง CLUB เพิ่มทุนให้ 120% เฉลี่ยกำไรต่อวันคิดเป็น 30%
แพ็กเกจที่ 4 GOLD ทุนจำนวน 2,537,500 บาท ทาง CLUB เพิ่มทุนให้ 125% เฉลี่ยกำไรต่อวันคิดเป็น 31.25%
และเเพ็กเกจที่ 5 PLATINUM ทุนจำนวน 5,075,000บาท ทาง CLUB เพิ่มทุนให้ 130% เฉลี่ยกำไรต่อวันคิดเป็น 32.50% โดยระยะเวลาจ่ายผลตอบแทน 40 วัน โดยจ่ายทุก 10 วัน
“คดีนี้มีผู้ตกเป็นผู้เสียหายกว่า 1,000 ราย ในช่วงแรกๆ ผู้เสียหายได้รับผลตอบแทนจาก MBC CLUB จริง ยิ่งทำให้ผู้เสียหายเกิดความเชื่อมั่นว่าสามารถลงทุนไปแล้วได้ผลตอบแทนจริง
จากนั้นคนร้ายจะชักชวนให้ลงทุนเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ต่อมาเริ่มไม่มีการจ่ายผลตอบแทนตรงตามที่กล่าวอ้าง ซึ่งทาง Club ยังชักชวนให้ผู้เสียหายลงทุนแบบใหม่คือ Save Coin SME
โดยวิธีการลงทุนคือ ต้องโอนเงินเข้าไปซื้อเหรียญ CMBC Coin และให้เก็บไว้ ทาง CLUB จะปันผลให้เดือนละ 20% และเหรียญนี้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ค่อยนำออกมาขายเมื่อราคาเป็นที่น่าพอใจ
หลังจากผู้เสียหายร่วมลงทุนไปแล้ว คนร้ายได้จ่ายผลตอบแทน ต่อมาคนร้ายแจ้งว่าจะหยุดจ่ายผลตอบแทนเป็นเงินสด รวมทั้งการคืนทุนด้วยแต่จะจ่ายในรูปแบบเหรียญดิจิตัล CMBC Coin ให้แทน
โดยบอกว่าเหรียญนี้ขายในกระดานซื้อขายเหรียญดิจิทัลชื่อ FFF Exchange ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการหลอกลวงของคนร้าย ทำให้ผู้เสียหายจำนวนมากหลายพันคน รวมความเสียหายรวมเป็นเงินรวมกันประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท”
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าวว่า คดีนี้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นจำนวนมาก จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ PCT สืบสวนจนสามารถขอศาลอนุมัติหมายจับและจับกุมผู้ต้องหาได้ คือ นายวินกรณ์ สงวนนามสกุล ในความผิดฐานฉ้อโกง และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ซึ่งนายวินกรณ์ เป็นเจ้าของบัญชีที่ผู้เสียหายโอนเงินเข้าไป โดยจะขยายผลจับกุมคนร้ายที่เหลือทั้งหมดต่อไป
รอง ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีการสั่งการให้ทุกหน่วยทั่วประเทศระดมกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 กลุ่ม ในห้วงวันที่ 11-20 พ.ย. ที่ผ่านมานี้ โดยแบ่งเป็นการหลอกลวงออนไลน์ทางด้านการเงิน 227 คดี ผู้ต้องหา 198 คน การหลอกลวงจำหน่ายสินค้าออนไลน์และสินค้าผิดกฏหมาย 418 คดี ผู้ต้องหา 444 คน
การเผยแพร่ข่าวปลอมและคดีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 500 คดี ผู้ต้องหา 446 คน การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและสตรีทางอินเตอร์เน็ต และ การค้ามนุษย์ 94 คดี ผู้ต้องหา 79 คน การพนันออนไลน์ อาชญากรรมข้ามชาติและอื่นๆ 1,400 คดี ผู้ต้องหา 1,464 คน สามารถจับกุมได้ รวมทั้งสิ้น 2,631 ราย
ผอ.PCT กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รวมทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ได้กำชับให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งปราบปรามอาชญากรรมที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19
ซึ่งมีการหลอกลวงประชาชนโดยใช้ Social Media เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน หลังจากนี้จะได้แจ้ง ปปง. ให้ตรวจสอบเพื่อยึดทรัพย์สินของผู้ต้องหาและผู้ที่เกี่ยวข้องและดำเนินคดีฐานฟอกเงินต่อไป
หากพบเบาะแส หรือเกรงจะตกเป็นเหยื่อ สามารถแจ้งเข้ามาได้ที่ สายด่วน PCT 1599 ตลอด 24 ชม. หรือสายตรง 08-1866-3000 หรือ www.pct.police.go.th