โรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา เผยอินไซด์ผู้ป่วยมะเร็งที่รักษามะเร็งด้วยแพทย์แผนปัจจุบันกว่า 80-90% ใช้แพทย์ทางเลือกรักษาเสริมการรักษาแผนการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบัน พร้อมนำบริการแพทย์แผนทางเลือก ทั้งแพทย์แผนจีน แพทย์แผนไทย และกัญชาทางการแพทย์ ควบคู่การรักษามะเร็งด้วยแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งเป็นแนวทางการรักษาหลัก ด้วยทีมแพทย์และบุคลากรผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน ตามแนวทางการรักษาแบบองค์รวม มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตและจิตใจที่ดีในผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตร่วมกับมะเร็งได้อย่างมีคุณภาพชีวิตตามสมควรและอย่างมีความสุข
นายแพทย์ธนุตม์ ก้วยเจริญพานิชก์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางโรคมะเร็งแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเครือ บริษัท โมเดอร์นฟอร์ม เฮลท์แอนด์แคร์ จำกัด (มหาชน) “MHC” กับแพทย์ผู้มีความชำนาญการด้านมะเร็งรักษาและมะเร็งวิทยา เปิดเผยว่า โรงพยาบาลให้บริการแพทย์แผนทางเลือก ด้วยแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน และคลินิกกัญชา โดยผู้ชำนาญการเฉพาะทางและได้รับใบอนุญาตให้บริการอย่างถูกต้อง ควบคู่กับการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มทางเลือกด้านการรักษาให้กับผู้ป่วยและญาติ ประกอบกับการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตทั้งด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถช่วยลดอาการข้างเคียงจากการรักษาได้ โดยปัจจุบันทั่วโลกผู้ป่วยและญาติมีแนวโน้มต้องการการรักษามะเร็งด้วยแพทย์แผนทางเลือกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ในประเทศจีน รักษามะเร็งด้วยแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนจีน ด้านประเทศกลุ่มยุโรปใช้แพทย์แผนทางเลือกสมุนไพร
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันผู้ป่วยที่เข้ารับบริการการรักษาในโรงพยาบาลชีวามิตราราว 80-90 % เลือกรักษาด้วยแพทย์แผนทางเลือกเสริมเข้ากับการรักษาหลัก เนื่องจากการรักษาหลักเน้นพุ่งเป้าไปที่การรักษามะเร็งเป็นหลักประกอบด้วยการผ่าตัด การฉายรังสี การให้เคมีบำบัด การให้ยาพุ่งเป้า และการให้ยาภูมิต้านทานบำบัด ซึ่งอาจเกิดอาการข้างเคียงตามมา และอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ แทรกซ้อน โดยการเสริมการรักษาด้วยแพทย์แผนทางเลือก ทั้งแผนไทย แผนจีน และสมุนไพร กัญชา ตอบวัตถุประสงค์การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง 2 ด้าน ได้แก่ 1.ป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น ป้องกันอาการช่องท้องและทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อด้วยยาขิง การนวดเพื่อลดอาการบวมน้ำเหลืองในมะเร็งเต้านม 2.เพื่อลดอาการข้างเคียงจากการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น ลดอาการอาเจียน เบื่ออาหารจากการทำเคมีบำบัด ลดอาการปวดจากการผ่าตัด
ทั้งนี้ แพทย์แผนไทย (Thai Traditional Medicine) เน้นการรักษา การดูแลแบบองค์รวมไม่ใช่รักษาโรคอย่างเดียว ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้ง ด้านร่างกาย และจิตใจ ด้วยบริการนวดแผนไทย สมุนไพรไทย ด้วยแพทย์แผนจีน (Traditional Chinese Medicine) ด้วยบริการฝังเข็ม ครอบแก้ว ปรับสมดุลร่างกาย ปรับการ ทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ให้เป็นปกติ โดยคำนึงถึง คุณภาพชีวิตและจิตใจ การอยู่ร่วมกันกับโรคมะเร็ง อย่างเป็นสุข การยืดชีวิตให้ยืนยาวเป็นสำคัญ โดยการรักษาด้วยแผนไทยและแพทย์จีนมีแพทย์และผู้ชำนาญการเฉพาะมีใบอนุญาตรับรอง และกัญชาทางการแพทย์ (Medical Cannabis) รักษาและให้คำปรึกษากัญชาทางการแพทย์ โดยแพทย์ Complementary and Alternative Medicine และเภสัชกร ที่ได้รับการอบรมและขึ้น ทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งบริการ ให้คำปรึกษาทาง Telemedicine โดยไม่มีค่าใช้จ่ายจากแพทย์และเภสัชที่ได้รับใบอนุญาตการสั่งยา
“การให้เสริมการรักษาแพทย์แผนทางเลือกทุกรูปแบบของโรงพยาบาล จะต้องผ่านการวางแผนการรักษาอย่างละเอียดร่วมกันของทีมแพทย์ผู้ชำนาญการทั้งแผนปัจจุบันและแผนทางเลือกอย่างละเอียดและรัดกุมโดยจะมีการตรวจเช็คร่างกาย ตรวจเช็คระบบเลือด ผลเลือด ผลเอ็กซ์เรย์ต่าง ๆ มาพิจารณาร่วมกันโดยกระบวนการพิจารณาร่วมกันเราจะเรียกว่าเป็นการทำ Tumor conference นำข้อมูลผู้ป่วยมาเข้าที่ประชุมโดยมี ทีมสหสาขาวิชาชีพ มีทั้งแพทย์รังสีรักษา แพทย์มะเร็งวิทยา แพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน รวมทั้งเภสัชกร นักรังสีเทคนิค รวมถึงนักกำหนดอาหารด้านการออกแบบแผนการรักษาร่วมกันแพทย์แผนจีนหรือ แพทย์แผนไทยในผู้ป่วยแต่ละรายที่มีความเหมาะสม
เช่น การนวดผ่อนคลายเราจะไม่พิจารณานวดในผู้ป่วย ที่มีความผิดปกติของกระดูกเนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ การจ่ายยาสมุนไพรต้องเป็นการดูแลร่วมกันระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยมีโอกาสที่จะมีปัญหาตับกับไต โดยแผนการรักษาของโรงพยาบาลเน้นการดูแลผู้ป่วยแบบใกล้ชิดต่อเนื่อง ผู้ป่วยสามารถปรึกษาหรือแจ้งอาการกับทีมแพทย์ผ่านระบบ Telemedicine ผ่านโทรศัพท์ วิดีโอคอล ได้ตลอดเวลาเพื่อลดการเดินทางและช่องว่างในการดูแลผู้ป่วย และยังมีการปรับวางแผนการรักษาให้สอดคล้องกับอาการ วิถีชีวิตของผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา โดยการนำข้อสรุปจากข้อมูลผู้ป่วย Tumor conference และข้อสรุปจากการ family meeting การประชุมเพื่อประมวลข้อมูลที่สำคัญของผู้ป่วยและญาติมาออกแบบแผนการรักษาเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ป่วยและญาติ โดยมีเป้าหมายหลักคือการเพิ่มคุณภาพชีวิตด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้นช่วยให้อยู่กับมะเร็งอย่างเป็นสุขและเพิ่มโอกาสในการรักษาให้มีมากขึ้น” นายแพทย์ธนุตม์ กล่าวทิ้งท้าย