สํานักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เดินหน้าขับเคลื่อน โครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา โดยเป็นการผนึกความร่วมมือภาคีเครือข่าย 8 องค์กร ประกอบด้วย สํานักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) และธนาคารออมสิน เพื่อส่งเสริมสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชนในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด ต้นไม้ยั่งยืน กองทุนมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประธานการดำเนินโครงการฯ กล่าวว่า “โครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา ภายใต้แนวคิด “ต้นไม้ยั่งยืน กองทุนมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง” เป็นโครงการความร่วมมือของภาคีเครือข่าย 8 องค์กร ประกอบด้วย สํานักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) และธนาคารออมสิน เพื่อเป็นการผนึกกำลังและขับเคลื่อนโครงการกองทุนต้นไม้ฯ ได้อย่างมั่นคงและเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ ในวันนี้ทาง สทบ. ได้จัดการลงนามความร่วมกับภาคีเครือข่ายขึ้น เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามแผนการดำเนินงานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปลูกต้นไม้พร้อมกันของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ โดยกำหนดไว้ในวันกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติในวันที่ 25 กรกฎาคม 2563 จะเป็นวันครบรอบ 19 ปีกองทุนฯ และก้าวสู่ปี 20 จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเปิดโอกาสให้ทุกกองทุนได้ร่วมกันสร้างสินทรัพย์ให้กับแผ่นดิน โดยการส่งเสริมให้สมาชิกปลูกต้นไม้ร่วมกัน ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการฯ ได้นำร่องที่จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และจังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อต้นเดือนธันวาคม โดยได้มอบกล้าไม้มีค่าแก่ผู้แทนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองไปแล้ว 6,000 ต้น
พร้อมกันนี้ยังได้เปิดการฝึกอบรมโครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา โดยมีประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระดับอำเภอ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ผู้บริหารและพนักงานของทั้ง 8 หน่วยงาน ร่วมให้ความรู้ในหัวข้อต่างๆ อาทิ หัวข้อการบริหารจัดการเรือนเพาะชำกล้าไม้พันธุ์ดี การดูแลรักษา และหัวข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ โดยกรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หัวข้อการสร้างเครือข่ายต้นไม้ร่วมพัฒนา แนวทางการสร้างรายได้จากโครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา โดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หัวข้อการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนเครดิต โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากโครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสิน ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ
“โครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา” เป็นโครงการที่ให้สมาชิกกองทุนฯ ได้มีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นป่าประเทศไทยให้มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยทางกองทุนหมู่บ้านฯ มีสมาชิกกองทุนฯ ทั่วประเทศกว่า 10 ล้านคน ที่จะเป็นกำลังในการปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกกองทุนฯ และประชาชนในพื้นที่อีกด้วย นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กล่าวในที่สุด
นายนที ขลิบทอง ผู้อํานวยการสํานักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ก่อตั้งมา 18 ปี มีการตั้งกองทุนฯ รวมกว่า 70,000 กองทุนทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการปลูกต้นไม้ผ่านโครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา ภายใต้แนวคิด ต้นไม้ยั่งยืน กองทุนมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง ให้เต็มแผ่นดินให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการสร้างสินทรัพย์แผ่นดิน คือ ต้นไม้ โดยนอกจาก “ต้นไม้” จะสามารถเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้แล้ว ยังสามารถขยายไปสู่การเป็นสินทรัพย์ และสามารถนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้อีกด้วย นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างงาน และรายได้ อาทิ อาชีพในการเพาะกล้าไม้ ทำเรือนเพาะชำ ซึ่งเป็นการส่งเสริมอาชีพและส่งเสริมรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนฯ และประชาชนในหมู่บ้านและชุมชน
สทบ. ได้ผนึกความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ในเบื้องต้น ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษาและสถาบันการเงินใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ การอบรมให้ความรู้ตามความเชี่ยวชาญและบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานภาคที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการปลูกต้นไม้ของกองทุนหมู่บ้านฯ ผ่านโครงการตามแนวทางประชารัฐ และการรณรงค์เพื่อสร้างความร่วมมือและการสนับสนุนการดำเนินการจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐ เอกชน หรือภาคประชาชน
“ทั้งนี้ทาง สทบ. ขอประชาสัมพันธ์และเปิดรับข้อมูลความต้องการของสมาชิกกองทุนฯ ทั่วประเทศ โดยสามารถเข้ามาลงทะเบียนได้ที่ http://smartiotdevice.ddns.net:1234/Web/register.htm โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1. ผู้ต้องการปลูกต้นไม้ สามารถระบุความต้องการกล้าไม้ เพื่อทางกองทุนฯ จะได้จัดเตรียม
และ 2. ผู้ประสงค์ทำเพาะชำกล้าไม้ ที่จะสร้างเป็นศูนย์เพาะชำกล้าไม้ เพื่อบริการแก่สมาชิกต่อไป
โดยในวันที่ 5 ธันวาคม 2562 เป็นวันที่ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคีและเปิดปฏิบัติการการอบรมกล้าไม้ และในวันที่ 25 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นวันขึ้นปีที่ 20 ของกองทุนหมู่บ้านฯ จะได้เชิญชวนให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ” เจ็ดหมื่นกว่ากองทุนทั่วประเทศ ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ เพื่อสร้างสินทรัพย์ และความอุดมสมบูรณ์ให้กับแผ่นดินร่วมกัน นายนที ขลิบทอง กล่าวเพิ่มเติม