วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในไทย ซึ่งมีสัญญาณดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แนวโน้มผู้ติดเชื้อใหม่มีจำนวนลดลงอยู่ในหลักพัน และยอดผู้เสียชีวิตต่ำกว่าร้อยติดต่อกันหลายสัปดาห์ และมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง
จำนวนผู้รักษาหายป่วยกลับบ้านมากกว่ายอดผู้ป่วยติดเชื้อรายวัน แสดงถึงศักยภาพของสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการปรับมาตรการควบคุมโรคที่ได้ผลและความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในปฏิบัติตามมาตรการ
โดยล่าสุด ข้อมูลจากเว็บไซต์บลูมเบิร์ก (ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2564) ระบุความคืบหน้าการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในประเทศต่างๆ 184 ประเทศทั่วโลก ขณะนี้ทั่วโลกได้ฉีดวัคซีน แล้วมากกว่า 7,200 ล้านโดส โดยประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก และอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน โดยประเทศที่ฉีดวัคซีนได้มากที่สุดได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา บราซิล และอินโดนีเซีย
ซึ่งขณะนี้ ยอดการฉีดวัคซีนสะสมของไทยกว่า 80 ล้านโดสแล้ว (ข้อมูล ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2564) แบ่งเป็น เข็มที่ 1 สะสม 43,978,814 โดส เข็มที่ 2 สะสม 33,950,925 โดส เข็มที่ 3 สะสม 2,551,969 โดส และเข็มที่ 4 สะสม 2,719 โดส รวม 80,484,427 โดส คิดเป็น 65.44% ของประชากรไทยทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ด้วยอัตราการฉีดต่อวันประมาณ 6-8 แสนโดสต่อวัน ทำให้บลูมเบิร์กคาดการณ์ว่าหากไทยฉีดด้วยความเร็วระดับนี้ต่อไป จะสามารถฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 โดสให้ครอบคลุมประชากร 75% ได้ภายใน 1 เดือน สอดคล้องกับนโยบายเปิดประเทศแบบปลอดภัย (Smart Entry) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากรัฐบาลจะดำเนินการจัดหาและกระจายวัคซีนให้กับคนทุกกลุ่มในประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดอาการติดเชื้อรุนแรงและป่วยหนักและลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อแล้ว
นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดติดตามเจรจาเพื่อสั่งซื้อยารักษาโควิด-19 ทั้ง “แพกซ์โลวิด (Paxlovid)” ของบริษัทไฟเซอร์ และ “โมลนูพิราเวียร์” ของบริษัทเมอร์ค ที่ช่วยลดการรักษาตัวในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงได้ให้เร็วที่สุด
เพื่อให้ประเทศไทยได้รับยารักษาโควิด-19 ที่มีการพัฒนาเป็นคิวแรกๆ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนไทยสามารถกลับมาดำเนินชีวิตและทำมาหากินได้อย่างปกติสุขโดยเร็วแบบ New Normal และร่วมเดินหน้าพลิกฟื้นเศรษฐกิจต่อไป
นายธนกร กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีพอใจและขอบคุณทุกคน ที่ปรับเปลี่ยน เรียนรู้ วิถีชีวิตแบบ ปกติใหม่ เน้นการอยู่ร่วมกับไวรัสโควิด-19 ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลตัดสินใจเดินหน้าเปิดประเทศเพราะต้องการสร้างโอกาส สร้างความหวังให้กับธุรกิจ เอกชน โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าผู้ประกอบการรายย่อย และ รวมทั้งอุตสาหกรรมบริการต่าง ๆ ได้กลับมาดำเนินกิจการกิจกรรมได้เกือบเหมือนปกติอีกครั้ง เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรียังกำชับให้ทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือ รักษาวินัยของตัวเองอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ และเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว ตลอดจนลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของไทยอีกด้วย