ต้องการมากกว่าเลิก ม.๑๑๒-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ถือว่าชัดเจนแล้ว

ก็เป็นอันว่าในรัฐบาลชุดนี้ รัฐสภาชุดนี้ จะยังไม่มีการแก้ไข ม.๑๑๒

ส่วนรัฐบาลหน้า รัฐสภาชุดถัดไป ไม่ทราบได้

อยู่ที่ผลการเลือกตั้ง

หากพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งแลนด์สไลด์ ถล่มทลาย ตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ก็มีแนวโน้มสูงว่า ไม่แก้ไข  ม.๑๑๒ แต่ยกเลิก

รวมทั้ง ม.๑๑๖

ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ปฏิรูปสถาบัน

เหล้าเสรี

โสเภณีเสรี ฯลฯ

ก็อยู่ที่ประชาชนตัดสินใจว่าอยากจะไปทางไหน

ฉะนั้นการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น นอกจากปัญหาเศรษฐกิจปากท้องแล้ว นโยบายที่พรรคการเมืองต้องนำเสนอให้ชัดเจนคือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

หรือถ้าให้ชัดเจนเจาะจงไปเลยว่า ยกเลิก หรือไม่ยกเลิก ม.๑๑๒

ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ตามแนวทางของพรรคก้าวไกลหรือไม่

จะได้รู้กันชัดเจนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ต้องการอะไร

แต่กว่าจะถึงวันเลือกตั้ง ก็อีกปีกว่า

วันนี้มีโพลสำรวจออกมาให้เห็นเป็นแนวทาง

สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ทำสำรวจ  ม.๑๑๒ ผลที่ออกมา ไล่เป็นข้อๆ ดังนี้

ร้อยละ ๙๘.๕ ระบุ การมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์เป็นส่วนสำคัญของความสัมพันธ์เชิงลึกของคนในชาติและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเชิงประวัติศาสตร์ เช่น ไทย-จีน  ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-อังกฤษ เป็นต้น

ร้อยละ ๙๗.๐ ระบุ สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันหลักของการก่อร่างสร้างชาติในการกอบกู้เอกราช ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และดูแลทุกข์สุขของราษฎร

ร้อยละ ๙๖.๑ ระบุ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการยกเลิก หรือแก้ไข มาตรา ๑๑๒ เพราะการมีอยู่ ไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตปกติและสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนทั่วไป

ร้อยละ ๙๙.๑ ไม่ต้องการให้ใคร หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด นำสถาบันกษัตริย์และการแก้ ม.๑๑๒ มาเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง หาคะแนนเสียงและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว สร้างความแตกแยกขัดแย้งในชาติ

ร้อยละ ๙๘.๙ ระบุ จำเป็นต้องป้องกันและปกป้องการล้มล้างสถาบันฯ จากกลุ่มไม่หวังดี บิดเบือนใส่ร้ายและจาบจ้วง

ร้อยละ ๙๘.๔ ระบุ ประมุขของทุกประเทศ เป็นเกียรติศักดิ์ศรีและสถาบันหลักของชาติ จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองด้วยกฎหมาย

ร้อยละ ๙๘.๔ เช่นกัน ระบุ ไม่ต้องการให้นำสถาบันกษัตริย์และ ม.๑๑๒ มาเป็นเครื่องมือปลุกปั่นเยาวชน คนรุ่นใหม่ให้ล้มล้างสถาบันอันเป็นศูนย์รวมจิตใจและความศรัทธาภักดีของคนในชาติ

ร้อยละ ๙๗.๒ ระบุ มีความพยายามจากขบวนการต่างชาติมหาอำนาจ เข้ามาแทรกแซง เชื่อมโยงกับกลุ่มต่อต้านสถาบัน ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย เพื่อกอบโกยผลประโยชน์ชาติไทย

ร้อยละ ๙๖.๒ เชื่อว่ามีกลุ่มต่อต้านสถาบันและแกนนำรับเงินและผลประโยชน์อื่น เป็นเครื่องมือของประเทศมหาอำนาจในการโค่นล้มสถาบัน

จะพบว่าในแต่ละประเด็น เสียงส่วนใหญ่ยังคงต้องการให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ และไม่ต้องการให้ใครบิดเบือนใส่ร้าย นำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

แน่นอนครับนี่คือโพล

ไม่ใช่ความเห็นของประชาชนทั้งประเทศ

และไม่ใช่ผลเลือกตั้ง

แต่อย่างน้อยสะท้อนให้พรรคการเมืองต่างๆ ได้เห็นเป็นทิศทางว่า อะไรคือสิ่งที่ประชาชนต้องการอย่างแท้จริง

ในเมื่อนักการเมืองมักอ้างประชาชนเสมอ ฉะนั้นแล้วนี่ก็เป็นการเปล่งเสียงของประชาชนไปยังพรรคการเมือง  พรรคการเมืองจะฟังหรือไม่ ก็แล้วแต่ธงที่วางไว้

สำหรับพรรคก้าวไกล มีธงที่ปักไว้ชัดเจนตั้งแต่แรก คือให้การสนับสนุนการทำผิด ม.๑๑๒ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ขบวนการนี้ไม่ได้ทำเฉพาะในประเทศไทย แต่มีแรงสนับสนุนจากต่างประเทศ

มีการเคลื่อนไหวผ่าน องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ภายใต้ชื่อ Article 19

ช่วงต้นปี Article 19 เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำตาม ๓ ข้อ

๑.ยุติการดำเนินคดีอาญาด้วยมาตรา ๑๑๒ ในประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยโดยทันที

๒.ปล่อยบุคคลที่ถูกคุมขังจากการละเมิดมาตรา ๑๑๒  ในประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบันทุกคน โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข

๓.ยกเลิกมาตรา ๑๑๒ ในประมวลกฎหมายอาญา

ประเด็นนี้สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของ พรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะ  “ปิยบุตร แสงกนกกุล”

วันนั้น “ปิยบุตร”บอกว่า

…มาถึงวันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว เสียงสนับสนุนให้ยกเลิก ๑๑๒ มีมากกว่าเดิมเยอะ ประชาชนจำนวนมากพร้อมสนับสนุน และอนาคตของชาติ พร้อมเป็น ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก ให้กับ ส.ส.

ผมทราบดีว่า แม้ ส.ส.จะร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก ๑๑๒ แล้ว ก็อาจต้องใช้เวลานานกว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร อาจเจอกลยุทธ์เตะถ่วงไม่ใช่ “ญัตติด่วน” ต้องต่อแถวญัตติอื่นๆ จนสภาหมดอายุก็ยังไม่ได้พิจารณา

แต่อย่างน้อย การเสนอร่างฯ เข้าไปก่อน ก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับการรณรงค์ กดดันต่อเนื่องต่อไป

 “รัฐบุรุษ” กับ “นักการเมือง” ต่างกันตรงที่นักการเมืองคิดถึงการเลือกตั้งครั้งถัดไป แต่รัฐบุรุษคิดถึงอนาคตของชาติ  คิดถึงคนรุ่นถัดไป…             

ในขณะที่ “ปิยบุตร” พูดถึงการยกเลิก ม.๑๑๒ นั้น ก็ยังมีข้อเสนออื่นๆ ตามมาด้วย

เช่นพูดถึงการ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หมวด ๒  เกี่ยวกับ พระมหากษัตริย์

พูดถึงการลดพระราชอำนาจ

ยกเลิกองคมนตรี

เปลี่ยนแปลงกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ

ให้พระมหากษัตริย์และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่

กำหนดระบบเงินรายปีแก่พระมหากษัตริย์ โดยให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการกำหนดวงเงินและอนุมัติ และให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบการใช้จ่ายเงินรายปีและรายงานให้สภาผู้แทนราษฎรทราบ

ยกเลิกการลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตําแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า ให้คงไว้เพียงการลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยและอำนาจตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น อันได้แก่  รัฐมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม  ตุลาการศาลปกครอง และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

ยกเลิกพระราชอำนาจในการยับยั้งการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้กฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากสภา

ปฏิรูปศาล

ปฏิรูปกองทัพ

“ปิยบุตร” สรุปว่า การเหนี่ยวรั้งขัดขวางการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล กองทัพ การดึงดันก่อรูประบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง คือ หนทางไปสู่ความขัดแย้งอันร้าวลึก

นั่นคือสิ่งที่ “ปิยบุตร” คิดมาตลอด และวันนี้ ผลักดันผ่านพรรคก้าวไกล

และหากพรรคก้าวไกลเข้าสู่อำนาจ สิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่เฉพาะยกเลิก ม.๑๑๒ เท่านั้น

ฉะนั้นนี่คือสิ่งที่ประชาชนควรรู้


Written By
More from pp
ต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก
บุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดงานวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก 12 มิถุนายน ประจำปี 2566 มุ่งขจัดปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบเลวร้ายทุกรูปแบบให้หมดสิ้นไป ภายใต้การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ พ.ศ....
Read More
0 replies on “ต้องการมากกว่าเลิก ม.๑๑๒-ผักกาดหอม”