เชียงใหม่, ประเทศไทย, 29 พฤศจิกายน 2562 – คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันการแพทย์ชั้นนำระดับมาตรฐานสากล พัฒนา ‘Smart Connected Healthcare’ ผ่าน “ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีแพทยศาสตรศึกษา (Medical Technology Education Center – MTEC)” เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนด้านเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์ให้กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งสู่การเป็นโรงเรียนแพทย์ดิจิทัลระดับสากล
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านการแพทย์ที่ค่าใช้จ่ายไม่สูงมากแต่มีคุณภาพระดับสูง ขณะที่การบริการยังถูกจำกัดอยู่ในเขตเมืองใหญ่ และมีความต้องการทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนงานการศึกษา การวิจัย และการบริการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ติดตั้งโซลูชั่นต่าง ๆ ภายในศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีแพทยศาสตรศึกษา ซึ่งประกอบด้วย:
- Tele-education: การเรียนรู้และการเรียนการสอนทางไกลผ่านระบบจัดการสื่อดิจิทัล (Digital Media Information Technology) ระบบการเรียนการสอนทางไกล รองรับการจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์อย่างครบวงจร เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ทุกคนสามารถเข้าถึงเนื้อหา บทเรียน ประสบการณ์ในการวินิจฉัยโรค และการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
- Tele-medicine: ระบบแพทย์ทางไกล และการปรึกษาอาการเจ็บป่วยทางไกลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากโรงพยาบาลศูนย์ ผ่านระบบวิดีโอคอลล์ที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งการเห็นและการได้ยิน เสมือนได้ปรึกษากับแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยตรง โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเอง ซึ่งช่วยประหยัดเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่ยังได้รับการวินิจฉัยที่แม่นยำ
- Tele-training / Tele- R&D: การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ทางการแพทย์ร่วมกับสถาบันการแพทย์ต่างประเทศ รวมถึงโรงเรียนแพทย์และสถาบันการแพทย์ภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมความรู้ทางการแพทย์ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา
- Live surgery: การถ่ายทอดหัตถการทางการแพทย์จากห้องผ่าตัด และห้องฝึกหัตถการจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่งสัญญานภาพและเสียงที่สมบูรณ์แบบซึ่งสามารถโต้ตอบกันได้ทั้ง 2 ทาง เชื่อมโยงไปยังโรงพยาบาลร่วมสอน สถาบันการศึกษา และสถาบันการแพทย์ เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้เห็นมุมมองการทำงาน การใช้อุปกรณ์การแพทย์ รวมทั้งประสบการณ์ในการผ่าตัดแบบเรียลไทม์เพื่อเป็นกรณีศึกษา และช่วยทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
- Digital Medical Media: เป็นแหล่งผลิตและเผยแพร่สื่อดิจิทัลทางการแพทย์ (digital medical media) เพื่อถ่ายทอดความรู้ทางการแพทย์ ให้แก่นักศึกษา บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไปได้ใช้เป็นแหล่งศึกษาสำหรับการเรียนรู้ทางการแพทย์ตลอดชีวิต
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาศัยแนวคิดด้านการเรียนการสอนแบบ Asynchronous learning ที่ผู้สอน และผู้เรียนไม่จำเป็นต้องพบกันตามเวลาในตารางที่กำหนดไว้ แต่สามารถติดต่อกันได้ตลอดเวลา โดยใช้เครื่องมือสื่อสารต่างๆ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา และสถานที่ ผู้เรียนสามารถเรียนที่ไหน เวลาใดก็ได้ ตามความต้องการและความสะดวกของผู้เรียน โดยอาศัยการสื่อสารระยะไกล (Telecommunication) แต่ใกล้เคียงกับการเรียนในระบบห้องเรียน หรือการเรียนการสอนที่ผู้สอนกับผู้เรียนได้พบหน้ากัน (Face- to- Face Learning)
โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ขยายขอบเขตการถ่ายทอดการเรียนการสอนไปยังโรงพยาบาลอีก 6 แห่งในภาคเหนือ ได้แก่ โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลลำพูน โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลแม่สอด โดยมีนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ถึงปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลเหล่านั้นเพื่อแลกเปลี่ยนทักษะ เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ทางการแพทย์
โซลูชันการทำงานร่วมกัน (Intelligent Video Collaboration) ของซิสโก้ถือเป็นโซลูชั่นสื่อสารที่ครบถ้วน เป็นการรวมเอาเทคโนโลยีการสื่อสาร ข้อมูล เสียง ภาพเคลื่อนไหว และเว็บ (Data, Voice, VDO และ Web) มาเชื่อมโยงให้เป็นระบบเดียวกัน ช่วยให้เกิดการประสานความร่วมมือในการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานมากขึ้น ทำให้แพทย์ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้นในกรณีที่แพทย์จะต้องตรวจวินิจฉัยหรือบอกค่าผลตรวจต่างๆ กับผู้ป่วย ขณะที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนการดำเนินงานได้ในเวลาเดียวกัน
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “ท่ามกลางยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่น หลายอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและเติบโต ในฐานะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศ ได้เล็งเห็นประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบและยกระดับการเรียนการสอน และการให้บริการทุกภาคส่วน เพราะเชื่อว่าเทคโนโลยีคือกุญแจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เรายังพบว่ามีความเป็นไปได้อีกมากที่การเชื่อมโยงถึงกันบนโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์จะสามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดกับองค์กร ผู้ปฏิบัติงาน ผู้รับบริการ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ ที่ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาททางการแพทย์มากขึ้น ช่วยคนให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น ปลอดภัยขึ้น สุขภาพแข็งแรงขึ้น และใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ดีขึ้น เราจึงไม่หยุดที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน และการให้บริการที่ครอบคลุมที่สุด เพื่อให้องค์กรของเราเป็นหนึ่งในองค์กรที่พัฒนาและขับเคลื่อนผ่านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) อย่างสมบูรณ์”
ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำระดับมาตรฐานสากล และด้วยพันธกิจที่ต้องสร้างสรรค์งานวิจัย และการบริการสุขภาพมาตรฐานระดับสากล เรามีความวางใจในคุณภาพเทคโนโลยี และการให้บริการของซิสโก้ รวมถึงการให้คำปรึกษาและแนวทางต่างๆ พร้อมการสนับสนุนเครื่องมือและโซลูชั่นที่หลากหลาย ส่งเสริมให้คณะแพทยศาสตร์ของเรามีความพร้อมในด้านเทคโนโลยี สามารถเชื่อมโยงทุกแผนกที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน ทำให้บุคลากรของเราก็ทำงานง่ายขึ้น ขณะเดียวกันผู้ป่วยที่มาใช้บริการของเราก็สามารถสื่อสาร และขอรับบริการต่างๆ ของโรงพยาบาลได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งพื้นฐานสำคัญที่จะก้าวสู่การเป็นโรงเรียนแพทย์ดิจิทัลระดับสากล และ Connected Healthcare อย่างแท้จริง”
นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของซิสโก้ กล่าวว่า “หลายประเทศได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไอทีเข้ากับการแพทย์และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ขณะที่ประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขกำลังอยู่ระหว่างการร่างแผนยุทธศาสตร์ eHealth ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการผลักดัน Digital Healthcare ให้ก้าวไปสู่การแพทย์ที่เข้าถึงและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในทุกพื้นที่
ซิสโก้สนับสนุน Connected Health โดยนำเทคโนโลยีไอทีมาเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลเพื่อให้บริการแบบครบวงจรโดยไร้ข้อจำกัดของการบริการสุขภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่เป็นผู้รับบริการปลายทาง ช่วยให้แพทย์สามารถหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด และให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือเข้าถึงผู้ป่วยได้ก่อนที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาล และช่วยให้ผู้ป่วยมีบทบาทในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของตนเองมากขึ้น ซิสโก้มีความยินดีที่เทคโนโลยีของเราช่วยสนับสนุนให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำทางการแพทย์เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน การรักษาที่ทันสมัย โดยไม่มีข้อจำกัด ส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัลสำหรับการเรียนรู้ทางการแพทย์ให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนทางการแพทย์ในศตวรรษที่ 21”