8 ต.ค. 64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อกรณีรัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ประกาศปรับหรือลดจำนวนประเทศหรือดินแดนที่อยู่ใน “บัญชีสีแดง” หมายถึง ประเทศและดินแดนที่มีความเสี่ยงสูงในการเดินทางไปเยือน
ลดลงจาก 54 ประเทศ เหลือ 7 ประเทศ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกปลดออกจากบัญชีแดง จะเริ่มมีผลตั้งแต่ เวลา 04.00 น. ของวันที่ 11 ต.ค.64 ตามเวลาสหราชอาณาจักร นั้น
ต่อประเด็นดังกล่าว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ขอบคุณประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกหน่วยงานที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างดี และเชื่อมั่นว่าเป็นความสำเร็จจากความมุ่งมั่นของรัฐบาลต่อมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่ได้สร้างความเชื่อมั่นในระดับนานาชาติ
ทั้งนี้ นายธนกรฯ กล่าวว่านายกรัฐมนตรีได้หารือกับ นายมาร์ก กุดดิง (H.E. Mr. Mark Gooding) เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ซึ่งในระหว่างการหารือนั้น เอกอัครราชทูตได้ชื่นชมการดำเนินนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยในประเด็นเพื่อต่อสู้กับความท้าทายโรคไวรัสโควิด – 19 รวมทั้งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร นายบอริส จอห์นสัน ได้ฝากความปรารถนาดีมายังนายกรัฐมนตรีไทยด้วย
“เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมที่ไทยได้รับความไว้วางใจ เป็นสัญญาณที่ดีต่อการดำเนินนโยบายของไทย และเชื่อมั่นว่ามาตรการดังกล่าวของสหราชอาณาจักรจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ประสงค์เดินทางด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ รวมทั้งส่งผลให้เห็นแนวทางการดำเนินชีวิตได้ตามปกติภายใต้ “วิถีใหม่” นายธนกรฯ กล่าว
อนึ่ง การปลดชื่อประเทศไทยออกจากบัญชีแดงจะส่งผลแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 ผู้ที่เดินทางจากประเทศไทย ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด – 19 ครบโดสของ 4 ยี่ห้อที่สหราชอาณาจักรรับรองไม่น้อยกว่า 14 วัน ได้แก่ 1. แอสตร้าเซเนก้า 2. ไฟเซอร์ 3. โมเดอร์นา และ 4. แจนเซน หรือ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จะสามารถเดินทางเข้าสหราชอาณาจักรได้โดยไม่ต้องกักตัว
กรณีที่ 2 ผู้ที่ยังได้รับการฉีดวัคซีนโควิด – 19 ไม่ครบโดส หรือได้รับวัคซีนโควิด – 19 ที่สหราชอาณาจักรไม่รับรอง ยังคงต้องเข้ารับการตรวจโควิด – 19 จำนวน 1 ครั้ง 3 วันก่อนเดินทางเข้าสหราชอาณาจักร และต้องกักตัวที่บ้านหรือโรงแรมเป็นระยะเวลา 10 วัน พร้อมกับตรวจหาโควิด – 19 ในวันที่ 2 และ 8 หลังมาถึง