วันที่ 19 สิงหาคม 2564 เวลา 8.30 น. นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้เวลา 14.30 น. มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบ Zoom ณ ห้อง 201 สภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนาครั้งที่ 2/2564 ซึ่งฝ่ายเลขาฯ คือสำนักกฎหมายและที่ดินกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นางสาวรัชดา กล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินค่าขนย้าย กรณีที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 350 แปลง เนื้อที่ 770-1-59 ไร่ ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ เฉพาะกลุ่มโนนสัง กลุ่มราษีไศล และกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน
โดยมติที่ประชุม เห็นชอบรายชื่อราษฎรผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่ถูกเขตการก่อสร้างที่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนค่าขนย้าย (ที่ดิน) ตามหลักเกณฑ์แห่งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการฯ ทั้งสองคณะ จำนวน 350 แปลง เนื้อที่ 770-1-59 ไร่ เป็นเงิน 34.66 ล้านบาท โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
“และรองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์ยังได้กำชับให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ทั้งนี้ไม่ให้เป็นปัญหายืดเยื้อและให้อำนวยความสะดวกให้กับราษฎรอย่างเต็มที่เนื่องจากที่ผ่านมาใช้เวลาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้นานมากแต่สำเร็จในยุคนี้ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์แก่ราษฎร” รองโฆษกรัฐบาล กล่าว
การประชุมครั้งนี้ใช้เวลาพอสมควรเนื่องจากนายจุรินทร์ต้องการเร่งรัดแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งยืดเยื้อมานานสำหรับการประชุมครั้งนี้นอกจากตัวแทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องแล้วยังมีผู้แทนกลุ่มราษฎรในพื้นที่ทุกฝ่ายเข้าร่วมด้วย เช่น ตัวแทนสมัชชาคนจนตัวแทนราษฎรตำบลโนนสัง เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ยืดเยื้อมา 20 ปีเพราะการพิสูจน์สิทธิและการแก้ไขปัญหาเกษตรกรที่มีผู้แทนหลายกลุ่ม แต่ยุติได้ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนาชุดนี้เพราะมีนายจุรินทร์ เป็นประธาน เนื่องจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ใช้ข้อมูลประสบการณ์การแก้ไขปัญหาเกษตรกรควบคุมการประชุมให้ความขัดแย้งในตัวแทนชาวบ้านยุติและเกิดความยุติธรรม ซึ่งหลังจากนี้ไปจะมีการนำเข้าอนุมัติในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและจ่ายเงินให้เกษตรกรตามสิทธิเป็นลำดับถัดไป