ทั้งนี้ วัคซีนจุฬาฯ-ใบยา เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ ก.พ. 63 ทดสอบในหนูทดลองและลิง พบว่าช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี สธ.โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จึงสนับสนุนงบ 160 ล้านบาท ให้แก่จุฬาฯและบริษัทฯ ปรับปรุงพัฒนาโรงงานต้นแบบ พร้อมรองรับการผลิตวัคซีนในขั้นต้น เริ่มตั้งแต่ เพาะเลี้ยงแบคทีเรียพาหะสารพันธุกรรมของโคโรนาไวรัส ปลูกถ่ายลงในใบยาสูบ เพาะพันธุ์เพิ่มจำนวน และเก็บเกี่ยวเพื่อสกัดโปรตีนสำหรับใช้ผลิตวัคซีน ก่อนนำส่งไปทำวัคซีนให้บริสุทธิ์ ที่บริษัท คินเจ่น ไบโอเทค จำกัด จากนั้นผสมและแบ่งบรรจุวัคซีนที่สถานเสาวภาต่อไป