ทีมเศรษฐกิจเสนอนายกรัฐมนตรี เร่งตรวจคัดกรองเชิงรุก ฉีดวัคซีน เยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบรายละ 2,000 บาท พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่มนอกระบบประกันสังคม ลงทะเบียนผ่าน “ถุงเงิน” รับเงินสมทบ 3,000 บาท

28 มิถุนายน 2564 เวลา 13.00 น. ณ ทางเชื่อมตึกภักดีบดินทร์และตึกไทยคู่ฟ้า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

แถลงภายหลังการประชุมคณะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจเพื่อหารือถึงมาตรการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แสดงความเข้าใจถึงความคับข้องใจของภาคประชาชน จึงได้เร่งหารือเพื่อตัดสินใจแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จากการออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25)

โดยให้กระทวงแรงงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจคัดกรองเชิงรุกและฉีดวัคซีนในเวลา 30 วัน  โดยหวังว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อในกทม.และปริมณฑลต่ำกว่า 10 คน  นอกจากนั้นยังพิจารณาการเยียวยาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน

รวมทั้งเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ คนละครึ่งเฟส 3 ยิ่งใช้ยิ่งได้ ตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันก็เร่งเยียวยาผู้ประกอบการรายย่อยที่มีลูกจ้างจำนวนไม่เกิน 200 คน และลูกจ้างทั้งในระบบและนอกระบบ ทั้งนี้ คาดหวังว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ที่มีผลบังคับใช้ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ครอบคลุม 6 จังหวัด และ 4 จังหวัดชายแดนใต้  มีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบคือ ธุรกิจการก่อสร้าง ที่มีการปิดไซต์งาน และร้านอาหารที่ให้เปิดบริการเฉพาะซื้อกลับไปทานเท่านั้น (Take Away)

ดังนั้น มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในระบบประกันสังคมได้ จ่ายชดเชยสิทธิประโยชน์ว่างงานเหตุสุดวิสัยแก่ลูกจ้าง ร้อยละ 50 ของฐานเงินเดือน สุงสุดไม่เกิน 7,500 บาท  รวมทั้งภาครัฐยังสมทบเงินเพิ่มเติมทางให้แก่ลูกจ้างในระบบประกันสังคม 2,000 บาทต่อราย

กรณีลูกจ้างถูกลดเงินเดือนหรือบางธุรกิจไม่จ่ายเงินเดือน ขณะเดียวกัน นายจ้าง ผู้ประกอบการ ในระบบประกันสังคม จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท ต่อจำนวนลูกจ้างในบริษัท สูงสุดไม่เกิน 200 คน เป็นระยะเวลา 1 เดือน

ทั้งนี้ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังขอความร่วมมือนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” เพื่อที่จะได้รับความช่วยเหลือ ให้นายจ้างได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000  และลูกจ้างที่มีสัญชาติไทยได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท

สำหรับเงินเยียวยาเหตุสุดวิสัยนั้น ตามกฎหมายประกันสังคมลูกจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือนจึงจะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 50 ของฐานเงินเดือน ทำให้ลูกจ้างนอกระบบประกันสังคมจะไม่ได้รับเงินเยียวยาดังกล่าว สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมได้เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง สามารถลงทะเบียนในแอปพลิเคชันถุงเงินผ่านทางโครงการคนละครึ่ง โดยเป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยจะได้รับเงินจำนวน 3,000 บาท

นอกจากนี้  ที่ประชุมยังได้หารือร่วมกับ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างและสมาคมร้านอาหาร ในการจัดอาหารให้แรงงานก่อสร้างในแคมป์ต่าง ๆ และยังมีมาตรการช่วยหลือ SMEs ในระยะถัดไป ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป พร้อมยืนยันไม่เลื่อนโครงการ “คนละครึ่ง” เพื่อเป็นการกระตุ้นการบริโภคในพื้นที่ต่าง ๆ โดยมีการวางกรอบงบประมาณไว้ 4,000 ล้านบาท และประกันสังคม 3,500 ล้านบาท

ในตอนท้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังตอบคำถามถึงจำนวนแรงงานในระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบในแต่ละจังหวัด รวมแล้ว กว่า 690,000 คน ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบแรงงานนอกระบบที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมเพิ่มเติมว่ามีจำนวนเท่าไหร่ รวมถึงแรงงานต่างด้าวในระบบประกันสังคมก็จะได้รับความช่วยเหลือตามกฎหมายประกันสังคม ส่วนเงินสมทบเพิ่มเติม 2,000 บาทนั้น  จะจ่ายให้แก่ลูกจ้างสัญชาติไทยเท่านั้น ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยืนยันว่าการปิดแคมป์ ไม่ใช่ปิดเพื่อไม่ให้เข้าอยู่ แต่ปิดทางเข้า-ออก หรือ Bubble & Seal

ซึ่งระหว่างนี้จะระดมตรวจเชิงรุกและฉีดวัคซีนแก่แรงงานในแคมป์งานก่อสร้างเพื่อให้สามารถกลับมาเปิดทำการปกติอย่างเร็วที่สุด และยังหารือร่วมกันระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างและผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงงานผลิตอาหาร เพื่อพิจารณาสั่งข้าวกล่องสำหรับแรงงานที่อยู่ในแคมป์งานก่อสร้าง

กรณีแรงงานเคลื่อนย้ายกลับบ้านต่างจังหวัดนั้น  กระทรวงแรงงานประสานกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ อสม. ในพื้นที่ ให้ดูแลสอดส่องในพื้นที่ เพื่อกักตัวสังเกตอาการอย่างถูกต้อง ทั้งนี้  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังย้ำ ถึงการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19  ไม่ใช่เฉพาะแต่ผู้ประกันตน ม 33 แต่ยังดูแลไปถึงครอบครัวของผู้ป่วยติดเชื้ออีกด้วย

Written By
More from pp
นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยด้วยความเรียบร้อย
2 มีนาคม 2564 เวลา 12.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี  พลเอก ประยุทธ์...
Read More
0 replies on “ทีมเศรษฐกิจเสนอนายกรัฐมนตรี เร่งตรวจคัดกรองเชิงรุก ฉีดวัคซีน เยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบรายละ 2,000 บาท พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่มนอกระบบประกันสังคม ลงทะเบียนผ่าน “ถุงเงิน” รับเงินสมทบ 3,000 บาท”