เสรีภาพไร้มารยาท-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี

            ฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ๙๘๖ จุด

            ฉีดไป ๑๔๓,๑๑๖ ราย

            บางคนบอกว่าน้อยไป เป็นแบบนี้อีก ๑๐ ปีถึงจะครบ

            ใจเย็นๆ ครับ วัคซีนเพิ่งจะเริ่มทยอยออกมาล็อตแรกๆ  จำนวนไม่มากนัก

            หลังจากนี้สยามไบโอไซเอนซ์ จะติดเทอร์โบ ผลิตสำหรับประเทศไทยเดือนละ ๑๐ ล้านโดส ภายในไม่เกิน ๕  เดือนได้ฉีดกันเกือบครบทุกคน

            แต่เบื้องต้น คุณหมอโอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายไทม์ไลน์วัคซีน ฟังแล้วชัดเจน ไม่ต้องไปเดากันอีกต่อไป

            ขณะนี้มีวัคซีนจำนวน ๓.๕๔ ล้านโดส

            เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ๒.๐๔ ล้านโดส และซิโนแวค  ๑.๕ ล้านโดส

            จะมีวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ทยอยส่งมอบไปทุกจังหวัดอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์

            โดยสัปดาห์ที่ ๓ ของเดือนมิถุนายนนี้จะมีวัคซีน ๘.๔  แสนโดส

            สัปดาห์ที่ ๔ อีก ๒.๕๘ ล้านโดส

            ในภาพรวมตลอดเดือนมิถุนายน จะมีวัคซีน ๖ ล้านโดส

            ตามแผนที่ ศบค.กำหนด และคาดว่าในเดือนมิถุนายนนี้ จะฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปทั้งหมด ๑๐ ล้านโดส

            สรุปคือในเดือนมิถุนายนจะมีการฉีดวัคซีนต่อเนื่องตามที่นัดหมายกันไว้

            ไม่ใช่ฉีดวันที่ ๗-๘ แล้วหยุดตามที่พวกจิตไม่ว่างในโซเชียลปล่อยข่าวให้คนด่ารัฐบาลกัน

            ครับ…เรื่องวัคซีนคงได้คุยกันเรื่อยๆ แต่วันนี้ขอคั่นด้วยปรากฏการณ์ที่เกิดจากคนรุ่นใหม่ ที่คิดจะเขียนถึง มาหลายรอบแล้ว แต่ความคิดมันวนๆ เพราะไม่ได้สัมผัสกับคนกลุ่มนี้โดยตรงสักเท่าไหร่

            โชคดีครับ มีผู้สัมผัสโดยตรงเขียนบอกเล่าให้อ่าน จะเรียกว่าเป็นการชำแหละคนรุ่นใหม่ บางคน บางกลุ่ม ก็ไม่ผิดนัก

             รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดชุดใหญ่ ในเฟซบุ๊ก  Puangthong Pawakapan ลองอ่านดูครับ

            “….ข้างล่างนี้เป็นข้อความที่เพิ่งส่งถึงนิสิตปี ๒ นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี

                ๓ วันที่ผ่านมาทำเอาเส้นความอดทนขาดลง เพราะมีนิสิต ๓ คน inbox มาหาหลังเที่ยงคืนด้วยเรื่องคะแนน….  ต่อไปนี้จะเริ่มคลาสด้วยการแปะข้อความนี้ก่อนทุกครั้ง

                ลูกชายเราบอกว่าถ้าแม่ไม่บอกเรื่องพวกนี้ก่อนที่เขาจะไปเรียนต่อ เขาก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะไม่เคยมีใครสอนเขา

                ในขณะที่โรงเรียนไทยให้ความสำคัญกับเครื่องแบบ  การกราบไหว้ครูบาอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย แต่กลับไม่สอนมารยาทพื้นฐานในการมีชีวิตในโลกยุคใหม่ให้กับเด็ก

                นิสิตคะ

                เราเข้าใจว่าสมัยคุณเป็นนักเรียนมัธยม ไม่มีใครบอกคุณเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ ที่การติดต่อส่วนใหญ่กระทำผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ทำให้พวกคุณแยกแยะไม่ออกว่าการติดต่อระหว่างเพื่อน ระหว่างนิสิตกับอาจารย์  นิสิตกับเจ้าหน้าที่ นิสิตกับบุคคลภายนอก

                เช่น การสมัครงาน การสมัครเรียน ฯลฯ พึงมี code  of conduct อย่างไร ฉะนั้น ทุกปีทั้งอาจารย์ และบุคคลภายนอกที่ต้อง deal กับนิสิตนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ จะบ่นเรื่องเด็กไม่มีมารยาทกันบ่อยมาก

                ฉะนั้น อาจารย์ถือเป็นหน้าที่ที่ควรจะต้องบอกให้พวกเราได้รับรู้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อไปภายหน้า

                ยกเว้นกับเพื่อนและคนในครอบครัวของคุณแล้ว ความสุภาพยังเป็นสิ่งสำคัญ การมีเสรีภาพในการแสดงออกไม่ได้แปลว่าไม่ต้องมีมารยาทและการให้เกียรติแก่กันและกัน  สองอย่างนี้ควรดำเนินไปด้วยกันเสมอ และอันนี้ไม่เกี่ยวกับ  ‘ความเป็นไทย’ หรืออนุรักษนิยม

                ในสังคมฝรั่ง ความสุภาพเป็นสิ่งสำคัญไม่ย่อหย่อนกว่ากัน แน่นอนว่าความสุภาพของแต่ละสังคมมีระดับต่างกัน

                สิ่งที่อาจารย์เรียกร้องจากคุณคือ ‘ขั้นพื้นฐาน’ ที่มนุษย์ควรมีต่อกัน เช่น ทักทายกันด้วยคำว่า ‘สวัสดี’ หรือ ‘เรียน’ ก็พอ ไม่ต้องถึงกับ ‘กราบเรียน’

                ในกรณีจดหมายทางการ ใช้คำว่า ‘เรียน’ เท่านั้น

                หากอาจารย์วิชาใดให้คุณส่งงานทางอีเมล จะต้องมีข้อความในอีเมลด้วย เช่น สวัสดีครับ/เรียน อาจารย์… ผมขอส่งรายงานวิชา…. ด้วยความนับถือ…. ลงชื่อ (เขียนเหมือนจดหมายปะหน้า พวกคุณเรียนการเขียนจดหมายกันแล้วใช่ไหม)

                อย่าส่งงานโดยไม่มีข้อความใดๆ ติดไปด้วยโดยเด็ดขาด คนรับจะรู้สึกเหมือนนิสิตโยนงานใส่หน้า อย่าทำแบบนี้ในเวลาที่คุณไปเรียนต่อต่างประเทศด้วย

                อย่าทำแบบเดียวกันนี้ในการสมัครงาน หรือสมัครเรียนโดยเด็ดขาด

                อย่าติดต่ออาจารย์ผ่านทาง messenger หรือ  line หากเขาไม่ได้อนุญาตให้คุณทำ ยกเว้นมีเรื่องสำคัญมากจริงๆ เช่น คุณต้อง withdraw แล้วเป็นวันสุดท้ายแล้ว คุณติดต่อไปทางอื่นก่อนหน้านี้แล้วแต่อาจารย์ไม่เห็น — ในความเป็นจริง คุณควรจะติดต่อผ่านเจ้าหน้าที่ภาค และให้เขาติดต่ออาจารย์เอง แต่นี่หมายความว่าคุณต้องมีเวลาเผื่อล่วงหน้า ไม่ใช่วิ่งเต้นแก้ปัญหาให้ตัวเองในวันสุดท้าย

                ที่เลวร้ายมากคือ ส่งข้อความมาหลัง ๔ ทุ่ม หลายคนส่งมาหลังเที่ยงคืน

                หากเขาไม่ได้อนุญาตไว้ก่อน อาจารย์ฝรั่งจะถือมาก  หากคุณติดต่อเขาผ่าน inbox ของ social media  เขาถือว่าคุณละเมิด privacy ของเขา

                วิชานี้มี TA คุณสามารถติดต่อสอบถามเขาก่อน

                การขอให้อาจารย์ช่วยแก้คะแนนให้ หรือขอทำงานแก้ตัวใหม่ ไม่ควรกระทำเด็ดขาด โอกาสในชีวิตหลายๆ อย่างผ่านไปแล้ว ก็จะไม่ผ่านมาอีก ถ้าพลาด ก็ถือเป็นบทเรียน —  ยกเว้นในกรณีที่อาจารย์ได้บอกข้อยกเว้นไว้แล้ว เช่น  อนุญาตให้เฉพาะคนที่ติด probation หรือเสี่ยงกับการติ ด probation

                หากนิสิตมีปัญหาส่วนตัว เช่น เป็นโรคซึมเศร้า หรือสภาพที่บ้านเป็นอุปสรรคต่อการเรียน คุณควรแจ้งให้อาจารย์ทราบแต่เนิ่นๆ ผ่านทางอีเมล อาจารย์ก็อาจจะหาทางออกที่เป็นไปได้ ไม่ใช่แจ้งหลังจากผลคะแนนออกแล้ว เพราะจะแก้ไขอะไรยากมาก และไม่แฟร์กับคนอื่นค่ะ

                แค่นี้ก่อนแล้วกัน ถ้าใครมีคำถามอะไรก็ถามมาได้ค่ะ…”

            ครับ…ผมเห็นด้วย การมีเสรีภาพในการแสดงออกไม่ได้แปลว่าไม่ต้องมีมารยาทและการให้เกียรติซึ่งกันและกัน  สองอย่างนี้ควรดำเนินไปด้วยกันเสมอ

            ปัญหาของคนรุ่นใหม่คือ ใช้เสรีภาพไม่เป็น

            ไม่เข้าใจเสรีภาพดีพอ

            ความเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะในแง่รากเหง้า วัฒนธรรม เป็นตัวบ่งบอกตัวตนของสังคม

            ขณะที่วัฒนธรรมนั้น ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับเสรีภาพ

            แต่ลองสังเกตดีๆ คนรุ่นใหม่มักอ้างว่าเสรีภาพต้องอยู่เหนือวัฒนธรรมเสมอ เพราะวัฒนธรรมคือสิ่งล้าหลัง โดยเฉพาะวัฒนธรรมของชาติตนเอง       

            การใช้เสรีภาพโดยไม่มีมารยาทในรั้วมหาวิทยาลัย อาจกระทบในวงไม่กว้างนัก

            แต่เสรีภาพที่ไร้มารยาทวันนี้มันพบเห็นได้ทั่วไปนอกมหาวิทยาลัย  

            การไม่ให้ความเคารพ ไม่ให้เกียรติ เกิดขึ้นเป็นปกติทุกวัน

            และพบเห็นได้ง่ายในโลกโซเชียล

            ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ส่วนหนึ่งมีตัวเร่งมาจากการใช้เสรีภาพแบบไร้มารยาท ทั้งจากคำพูด ข้อเขียนในโซเชียล และการกระทำ

            ชาชิน จนความหยาบคายคือเรื่องปกติที่ใครๆ ก็แสดงออกกัน

            โควิดยังมีวัคซีนให้ฉีดป้องกันเชื้อ ลดการตาย ในสองสามเดือน

            แต่หยาบคายไร้มารยาทมันติดทนนานเป็นรุ่นคน

 

Written By
More from pp
“จุรินทร์” ขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันทำให้ ร่างแก้ไข รธน. ผ่านความเห็นชอบวาระสาม สะท้อนว่า รธน.ฉบับนี้แม้แก้ยาก แต่สามารถแก้ได้ หากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน
10 ก.ย. 2564 เวลา 12.15 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภายหลังประชุมร่วมกันของรัฐสภา...
Read More
0 replies on “เสรีภาพไร้มารยาท-ผักกาดหอม”