ผักกาดหอม
โควิดดุจริงๆ
เห็นมะรุมมะตุ้มแถวๆ ตลาดคลองเตย เผลอแป๊บเดียว แตกแถวมาเคาะก๊อกๆๆ ถึงประตูสำนักงานไทยโพสต์แล้ว
สถิติการติดเชื้อหลังๆ มานี้ อยู่ในที่ทำงาน ในครอบครัว เสียมาก
คนไทยจำนวนไม่น้อยยังอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ จึงประมาทไม่ได้เลย การ์ดตกนิดเดียว วุ่นวายขายปลาช่อนแน่นอน
ครับ…ควรจะกลัวโควิด-๑๙
แต่ไม่ควรกลัวที่จะฉีดวัคซีน
ตั้งแต่ต้นปีที่แล้วมาถึงวันนี้ พวกปากเสีย วิวัฒนาการปากตัวเอง เรื่อยมา และคงจะใช้ปากสร้างความเสียหายไปเรื่อยๆ
ช่วงแรกด่ารัฐบาลบริหารวัคซีนผิดพลาด
วัคซีนมาช้าแทงม้าตัวเดียว
คนไทยได้ฉีดวัคซีนช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน
พอวัคซีนมา พากันก่นด่าวัคซีนเซินเจิ้น ไม่มีประสิทธิภาพ
เริ่มจะปูพรมฉีดวัคซีน มันมาอีกแล้ว ฉีดแล้วแพ้ ฉีดแล้วตาย อย่าฉีด
จี้ให้รัฐบาลบอกให้หมดว่า ฉีดแล้วแพ้-ตายไปกี่คนแล้ว ทั้งที่เขาชี้แจงมาตลอด
คนพวกนี้ก็หาข้อโต้แย้งไปเรื่อย
ส.ส.บางคนฉีดวัคซีนซิโนแวคไปหยกๆ เพิ่งจะถอนเข็มออก ก็ย้อนมาด่าวัคซีนจีนซะงั้น
ไทยมีวัคซีน AstraZeneca อยู่ในมือแน่ๆ แล้ว ๖๓ ล้านโดส
สยามไบโอไซเอนซ์ มีกำลังผลิตปีละ ๒๐๐ ล้านโดส
แต่ก็ยังมีเสียงค่อนแคะ ทำไมไม่เอา Pfizer มาฉีดให้ประชาชน
สรุปคือ ไปทางไหนมันก็หาเรื่องด่าได้หมด
สนใจมากก็ใช่เรื่อง ปล่อยให้เห่าไป เอาไว้อีก ๓-๔ เดือน ดูซิยังจะเห่าอยู่อีกหรือเปล่า
ฉะนั้นมาเตรียมตัวสู่โหมดฉีดวัคชีนกันดีกว่า
เดือนมิถุนายน เป็นต้นไป วัคซีนล็อตแรกลง ๑๖ ล้านโดส เพื่อ ๑๖ ล้านคน
ผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ๑๑.๗ ล้านโดส
ผู้ป่วย ๗ กลุ่มโรคเรื้อรัง ๔.๓ ล้านโดส
๗ โรค มี ผู้ป่วยทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง (ระยะสุดท้าย ระยะที่ ๕) โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคอ้วน (น้ำหนัก ๑๐๐ กิโลกรัมขึ้นไป)
เริ่มฉีดวัคซีน ๗ มิถุนายน ถึง ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔
เพจหมอพร้อมแจ้งตัวเลขวานนี้จองคิวไปแล้วกว่า ๑.๗ ล้านคน
ถามว่ามากหรือน้อย ก็แล้วแต่จะมอง
ล็อตแรกสำหรับคนแก่ คนป่วย ก็อาจมีปัญหาเรื่องการใช้เครื่องไม้เครื่องมือ ทำเองไม่เป็น รอลูกหลานทำให้ ยังกล้าๆ กลัวๆ
หรือเป็นนิสัยคนไทยชอบลุ้นเอาท้ายๆ
เหมือนลงทะเบียนแอปคนละครึ่ง แรกๆ ไม่มีใครสนใจ หลังๆ บ่นกันอุบแอปเฮงซวยเข้าไม่ได้ ก็จะเข้าไงล่ะครับ เล่นกระหน่ำไปพร้อมๆ กันเป็นแสนเป็นล้านคน
มาดูว่าก่อนฉีดวัคซีนต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
มีข้อมูลจากกรมอนามัยมาฝากครับ
ข้อแนะนำเตรียมตัวก่อนไปฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-๑๙ ง่ายๆ ดังนี้
-ตรวจสอบร่างกาย
-ไม่อดนอน หลับให้เพียงพอ
-เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และชา-กาแฟ
-ต้องไม่มีอาการไข้หรืออาการเจ็บป่วยสองวันก่อนฉีด และหลัง
-งดออกกำลังกายหนัก
สิ่้งที่ต้องแจ้งแพทย์ก่อนฉีด
-โรคประจำตัว
-ประวัติการแพ้ยา หรือวัคซีน
-การตั้งครรภ์
-ข้อมูลอื่นๆ ที่แพทย์ควรทราบ
สิ่งสำคัญเพิ่มเติม
-ก่อนออกจากบ้านอย่าลืมบัตรประชาชน วันเวลานัดการฉีด
-รักษามาตรการป้องกันพื้นฐานอย่างเคร่งครัด คือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง พกเจลแอลกอฮอล์
-วันที่ฉีดควรกินน้ำอย่างน้อย ๕๐๐-๑,๐๐๐ ซีซี
-ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด และหลังฉีดสองวันอย่าใช้แขนนั้น อย่าเกร็งยกของหนัก
-หลังฉีดแล้วเจ้าหน้าที่จะให้รอดูอาการในบริเวณที่ฉีด ๓๐ นาที
-ถ้ามีไข้ หรือปวดเมื่อยมาก ทนไม่ไหว สามารถกินยาพาราเซตามอลขนาด ๕๐๐ มก. ครั้งละหนึ่งเม็ด ซ้ำได้ถ้าจำเป็น แต่ให้ห่าง ๖ ชั่วโมง
-ห้ามกินยาพวก Ibuprofen, Arcoxia, Celebrex เด็ดขาด
ภาพรวมก็ประมาณนี้
ฉีดแล้วตายหรือเปล่า? เป็นคำถามยอดฮิต
ประเด็นนี้คุณหมอยง ภู่วรวรรณ เขียนในเฟซบุ๊ก แต่ถูกนำไปตีความแบบ ศรีธนญชัย
คุณหมอบอกว่า “การเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนจะเป็นข่าวใหญ่โตมาก ทั้งที่การฉีดวัคซีนเป็นล้านคนและทั่วโลกเป็นพันล้านคน เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน ทั้งที่เมื่อพิสูจน์แล้วการเสียชีวิตนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัคซีน เป็นการเสียชีวิตจากเหตุใดก็ได้ที่เกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีน”
ถูกตีความว่า “ฉีดแล้วไม่ตายเป็นไปไม่ได้”
มันคนละความหมายกันเลยครับ
เพราะ “ฉีดแล้วไม่ตายเป็นไปไม่ได้” หมายถึง “ฉีดแล้วตายทุกคน” ก็ได้
แต่ที่คุณหมอยงสื่อออกมา ฉีดแล้วมีตายบ้าง น้อยกว่าจุดทศนิยม และการตายอาจมาจากสาเหตุอื่นประกอบ ไม่ใช่เพราะวัคซีน
ตัวเลขงานวิจัยของฝั่งยุโรป ฉีดวัคซีนแล้วแพ้รุนแรง Pfizer บ่อยกว่า AstraZeneca
ในอเมริกาแพ้ Pfizer ๑๑ คน ใน ๑ ล้านโดส อังกฤษพบ ๑๒ คน ใน ๑ ล้านโดส
ขณะที่ AstraZeneca พบ ๘ คน ใน ๑ ล้านโดส
ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทั่วไป เจอ ๑ คน ใน ๑ ล้านโดส
ตัวเลขพวกนี้เป็นของจริง ไม่ใช่ตัวเลขที่ได้จากการผายลมของฝ่ายแค้น
ฉะนั้นควรจะถือเป็นหน้าที่สำหรับคนไทยทุกคน ต้องไปฉีดวัคซีน เพื่อตัวเอง เพื่อคนรอบข้าง
ที่สำคัญ เพื่อประเทศไทย.