มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 3 ในผู้ชาย และพบมากเป็นอันดับ 4 ในผู้หญิง โดยพบว่า 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้มีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่นไปแล้ว
ดังนั้น การรู้จักสังเกตอาการเตือน และมาส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่อถึงอายุที่เหมาะสม จะช่วยให้พบติ่งเนื้อที่เป็นสาเหตุ แล้วตัดออกเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ถ้าพบมะเร็งก็จะเป็นโรคในระยะต้นๆ ซึ่งโอกาสที่จะรักษาหายขาดสูงขึ้น
นายแพทย์สุกิจ ภัทรเจียรพันธุ์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่าในปี 2018 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้เก็บรวบรวมข้อมูลและพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่รายใหม่เพิ่มขึ้นมากถึง 17,500 คน ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแพร่กระจายแล้ว สะท้อนว่าคนไทยยังตื่นตัวในการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่น้อยมาก
การมาคัดกรองมะเร็งด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เมื่อถึงอายุที่เหมาะสมคือ 50 ปี ถ้าไม่มีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว แต่ถ้ามีญาติสายตรงเป็นควรมารีบตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปี นอกจากนี้ยังควรสังเกตสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่พบบ่อย ได้แก่
- ถ่ายเป็นเลือด มูกเลือด หรือ ขับถ่ายผิดปกติไปจากเดิม เช่น อุจจาระออกมาเป็นเม็ดเล็กลง
- อาการซีด ซึ่งอาจเกิดจากการเสียเลือดเรื้อรัง แม้ไม่มีเลือดในอุจจาระที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า
- คลำได้ก้อนที่ท้อง ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนแข็งนูนออกมาบริเวณท้องน้อยด้านขวา
- บางรายอาจมีอาการของลำไส้อุดตัน เช่น อาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน และถ่ายอุจจาระหรือผายลมลดลง
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ แบ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เราปรับเปลี่ยนได้ และปรับเปลี่ยนไม่ได้ สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ ได้แก่ อายุที่มากขึ้น โดยพบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ทั้งหมด อยู่ในกลุ่มอายุ 60 – 75 ปี และอีกปัจจัยคือ พันธุกรรม เช่น มีคนในครอบครัวที่เป็นสายเลือดเดียวกันเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะทำให้มีโอกาสเป็นมากขึ้น
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนได้ เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการบริโภค เช่น เนื้อแปรรูปจำพวกไส้กรอก แหนม กุนเชียง ลูกชิ้น หมูยอ และเนื้อแดงที่ผ่านความร้อนสูงจำพวกเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแพะ เนื้อแกะ เนื่องจากเนื้อแดงเมื่อโดนความร้อนสูง ๆ จะทำให้เกิดสารที่ชื่อว่า อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Aromatic Hydrocarbons) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ปัจจัยเสี่ยงอื่นที่พบบ่อยยังมีการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และโรคอ้วนด้วย
หากรู้ตั้งแต่ระยะแรกจะทำให้การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่มีความซับซ้อน โดยในผู้ป่วยบางคนที่มีติ่งเนื้อที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งและเป็นมะเร็งในระยะเริ่มต้นแล้ว สามารถใช้เทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องในการรักษาโดยไม่มีแผลได้ (endoscopic submucosal dissection) ซึ่งแพทย์จะต้องประเมินโดยใช้เทคโนโลยีปรับแสงสี (Narrow band imaging) ก่อน ว่าตัวโรคอยู่ในระยะที่สามารถทำได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ ก็จะใช้วิธีตัดลำไส้ผ่านกล้องแทน (laparoscopic colectomy) ซึ่งข้อดีคือ แผลเล็ก เสียเลือดน้อย เจ็บน้อย นอนโรงพยาบาลสั้นลง และลดการเกิดผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อที่แผล ผู้ป่วยจึงกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น
นายแพทย์สุกิจ ภัทรเจียรพันธุ์
ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
โรงพยาบาลเวชธานี