นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า วานนี้ (30เม.ย.) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นรองประธานฯ เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เพื่อเป็นการยกระดับรายได้เกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน อีกทั้ง ลดผลกระทบจากแนวโน้มที่จะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
โดยแนวทางการขับเคลื่อนฯ มุ่งเป้าที่การพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคัล (หรืออุตสาหกรรมการผลิตสารสกัดธรรมชาติจากปาล์มน้ำมันเพื่อพัฒนาเป็นสินค้ามูลค่าสูง) ประกอบด้วย 6 ผลิตภัณฑ์หลัก คือ
1)ผลิตภัณฑ์สารหล่อลื่นพื้นฐาน 2)น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า 3) สารตั้งต้น MES ใช้ผลิตผงซักฟอกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4)น้ำมันหล่อลื่นและจารบีชีวภาพ 5)พาราฟิน 6)สารกำจัดศัตรูพืช/แมลง
ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีความต้องการต่อปีของตลาดโลกขยายตัวต่อเนื่อง เช่น ผลิตภัณฑ์สารหล่อลื่นพื้นฐาน ความต้องการ 14 ล้านตัน อัตราการขยายตัว 3% น้ำมันหมอแปลงไฟฟ้าชีวภาพ 2 ล้านตัน ขยายตัว 8.3% ผลิตภัณฑ์ผงซักฟอกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 1ล้านตัน ขยายตัว 9% น้ำมันหล่อลื่นและจารบีชีวภาพ ปริมาณ 36 ล้านตัน ขยายตัว 1%
ในส่วนการดำเนินการ นางสาวรัชดา กล่าวว่า จะเป็นการบูรณาการของหลายภาคส่วน ร่วมกัน ดังนี้
1) ด้านกระบวนผลิต/เทคโนโลยี/วิจัย นวัตกรรม จะมี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และกรมควบคุมมลพิษ รับผิดชอบเรื่องการขึ้นทะเบียนสินค้าและบริการ ทั้งที่เป็นนวัตกรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้การส่งเสริมการวิจัยด้านวัตถุดิบและกระบวนการผลิต
2) ด้านมาตรฐานและการทดสอบ อาทิ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิชาการเกษตร กรมธุรกิจพลังงาน รับผิดชอบเรื่อง การพัฒนาและยกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบ การตรวจสอบรับรองอ้างอิงตามมาตรฐานของต่างประเทศได้แก่ JASO API NSF International เป็นต้น
3) ด้านสิทธิประโยชน์และการลงทุน อาทิ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงการคลัง รับผิดชอบเรื่อง มาตรการส่งเสริมการลงทุน การยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
4) ด้านอุปสงค์ อาทิ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมเจ้าท่า กรมควบคุมมลพิษ กรมบัญชีกลาง รับผิดชอบเรื่อง การจัดซื้อสินค้าและจัดจ้างบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green procurement) ผลักดันการรับรองสีเขียว (Green label)
และ 5) ด้านอื่นๆ เช่น คณะกรรมการEEC เกี่ยวข้องกับมาตรการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ภายใต้ EEC เพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมโอลิโอเคมีคอล
“แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคัล ที่เห็นชอบในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในประเทศที่หลักๆคือการอุปโภคบริโภค และการใช้ด้านพลังงาน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ เชื่อมั่นว่า แนวทางดังกล่าวจะสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่การผลิตของปาล์มน้ำมัน สร้างเสถียรภาพด้านราคา เพิ่มทางเลือกให้กับเกษตรกร พัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ลดการนำเข้าเคมีภัณฑ์จากต่างประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนยกระดับเทคโนโลยี และสร้างนวัตกรรมให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยต่อไป” รองโฆษกฯ กล่าว