เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2564 ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการระบาดระลอกใหม่ในคลัสเตอร์ทองหล่อ ซึ่งผู้ติดเชื้อรายที่ 332 หรือรายที่ 216 แสดงไทม์ไลน์การไปสถานบันเทิงมีชื่อแห่งหนึ่งย่านห้วยขวางและทองหล่อ ในเวลา 03.00 น.ได้อย่างไร
ทั้งที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) ที่อนุญาตให้สถานบันเทิง ผับ บาร์ เปิดบริการได้ถึง 23.00 น.ตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถือว่าเป็นผลของการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของ ศบค.ที่ปล่อยปละละเลยมากเกินไปจนทำให้เกิดคลัสเตอร์ครั้งใหม่กลางเมือง
ทั้งนี้สาเหตุเป็นเพราะ ศบค.ใช้หลักการจัดการโรคระบาดที่เน้นการแพทย์ทิศทางเดียว เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และความมั่นคง ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมและเศรษฐกิจ จึงไม่เคยสนใจปัญหาปากท้องและความเป็นอยู่ของประชาชนแม้แต่นิดเดียว
การประกาศสั่งปิดสถานบันเทิงในหลายพื้นที่ล่าสุด ถือเป็นการลอยแพผู้ประกอบการและลูกจ้างหลายพันชีวิต เมื่อปิดแล้วก็ควรดูแลคนกลุ่มนี้ด้วยหรือไม่ โดยอาจจะออกมาตรการช่วยเหลือเฉพาะพื้นที่ที่สั่งปิด โดยเชื่อมกับข้อมูลที่รัฐบาลมีอยู่ในมือจากสารพัดแอปพลิเคชั่นที่ทำมา
เช่น พักหนี้รายจ่ายจำเป็น เช่น ค่าบ้าน ค่ารถ หรือสนับสนุนเงินทุนให้กับคนบันเทิง ซึ่งเป็นอาชีพอิสระให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปสร้างงานอื่น หรือฟื้นฟูกิจการแบบปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งควรได้รับเงินเยียวยาจากภาครัฐตามความเหมาะสมโดยเร็ว ก่อนที่ตัวเลขคนว่างงานจะพุ่งไปมากกว่า 1 ล้านคนในปีนี้ หลังจากที่ในปี 2563 คนว่างงานมากกว่า 6.5 แสนคนแล้ว
ส่วนกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาตำหนิประชาชนไม่มีจิตสำนึกจนนำมาสู่การมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ เป็นการแสดงความถนัดของพลเอกประยุทธ์อีกครั้งในการชี้นิ้วโทษคนอื่น ใช้นิสัยโกรธแล้วพาลปล่อยวาทกรรมปนเปื้อนมลพิษทางอารมณ์มากกว่าการใช้ภาวะผู้นำ หากย้อนกลับไปดูในหลายเหตุการณ์ คนไทยแทบจะไม่เคยเห็นเลยว่า พล.อ.ประยุทธ์เคยออกมายอมรับผิดเรื่องอะไรบ้าง หากประเทศไทยยังมีผู้นำแบบนี้ สุดท้ายโควิด-19 จะวนกลับมาแบบนี้เรื่อย ๆ ไม่มีวันสิ้นสุด
“ราคาที่คนไทยต้องจ่ายจากการมีวัคซีนน้อยและช้า ช่างสูงเหลือเกิน หากพลเอกประยุทธ์จะเป็นผู้นำแต่ทำงานไม่เป็นหรือทำเองไม่ได้ ก็ต้องหาคนที่ทำได้มาช่วย และถ้าทำไม่ได้อีก ควรอยู่บ้านเลี้ยงหลาน ไม่ควรอยู่เป็นภาระให้คนไทยอีก” ผศ.ดร.อรุณี กล่าว