6 ระยะเส้นเลือดขอด รักษาถูกวิธี ลดโอกาสเสี่ยงลุกลาม 

ความรุนแรงของเส้นเลือดขอด มีความแตกต่างกันในแต่ละระยะ ซึ่งหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดโอกาสในการลุกลามของแผลเส้นเลือดขอดได้ 

นายแพทย์ศุภชัย จันทร์วิทัน ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า เส้นเลือดขอด หรือชื่อในทางการแพทย์คือ โรคหลอดเลือดดำชั้นตื้นบกพร่องเรื้อรัง หมายถึงการที่เส้นเลือดมีการปูดขยายคล้ายตัวหนอนมากกว่า 3 มิลลิเมตร สาเหตุเกิดจากความเสื่อมของหลอดเลือดดำ ทำให้เกิดแรงดันภายในหลอดเลือด เลือดจึงไหลเวียนกลับไปเลี้ยงที่หัวใจได้ไม่ดีเท่าที่ควร จนเกิดอาการปวดและบวมบริเวณขาในที่สุด 

กรรมพันธุ์ เพศ อาชีพ การใช้งาน และโครงสร้างหลอดเลือดล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเส้นเลือดขอดได้ ซึ่งอาการที่พบได้ทั่วไปคือ อาการเจ็บหรือรู้สึกหนักขา, เป็นตะคริวช่วงกลางคืน, บวม ตึง แสบร้อน, รู้สึกเจ็บมากขึ้นเมื่อนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน, คันรอบ ๆ เส้นเลือดเส้นใดเส้นหนึ่งหรือหลายเส้น, อาจมีเลือดออกจากเส้นเลือดที่บิดนูน, อาการปวดในเส้นเลือดบริเวณที่ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง, เส้นเลือดแข็งหรือเปลี่ยนสี มีอาการอักเสบของผิวหนัง หรือบางรายอาจเกิดอาการอักเสบรุนแรงจนเกิดแผลได้ 

ความรุนแรงของอาการ จะมีความแตกต่างกันในแต่ละระยะ ซึ่งแบ่งเป็น 6 ระยะ ได้แก่ 

  • ระยะที่ 1 เส้นเลือดมีลักษณะคล้ายใยแมงมุม มักมีขนาดน้อยกว่า 3 มิลลิเมตร 
  • ระยะที่ 2 เส้นเลือดเริ่มปูดเป็นตัวหนอน ขนาดใหญ่มากกว่า 3 มิลลิเมตร และมีอาการปวดเมื่อใช้งานเป็นระยะเวลานาน เช่น นั่ง เดิน หรือ ยืน  
  • ระยะที่ 3 เริ่มมีอาการขาบวม และปวดมากขึ้นถึงแม้จะใช้งานในระยะเวลาสั้น ๆ  
  • ระยะที่ 4 สีผิวที่ขาเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำเข้มขึ้น ซึ่งเป็นภาวะอักเสบของผิวหนัง 
  • ระยะที่ 5 แผลหายจากการรักษา แต่ยังมีลักษณะอื่น ๆ ร่วม เช่น ผิวหนังที่เปลี่ยนสีเป็นสีดำ
  • ระยะที่ 6 เกิดแผลที่เป็นลักษณะเฉพาะของแผลบริเวณหลอดเลือดดำ เช่น ขอบแผลแดง 

เป้าหมายของการรักษาเส้นเลือดขอด คือการลดอาการปวดที่เกิดจากแรงดันในหลอดเลือด เพื่อไม่ให้รบกวนชีวิตประจำวันอีกต่อไป ดังนั้น การรักษาที่เหมาะสมคือการลดแรงดันในหลอดเลือดดำ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัด

การรักษาแบบไม่ผ่าตัด คือการให้ยาลดการอักเสบของหลอดเลือดดำ หรือ การใส่ถุงน่องเส้นเลือดขอดเพื่อให้เลือดภายในหลอดเลือดดำไหลกลับคืนสู่หัวใจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ 2 วิธีนี้ จะช่วยบรรเทาอาการเท่านั้น ไม่สามารถรักษาให้หายได้  

ส่วนการรักษาแบบผ่าตัด เหมาะสำหรับคนไข้ที่เริ่มมีอาการ ตั้งแต่ระยะ 2 ขึ้นไป โดยในปัจจุบันมีการผ่าตัดรักษาแบบแผลเล็ก ได้ผลดีเทียบเท่ากับการผ่าตัดแบบดั้งเดิม สามารถทำได้ทั้งแบบใช้ความร้อนทำลายหลอดเลือด คือการทำเลเซอร์ หรือ ใช้คลื่นวิทยุ และแบบไม่ใช้ความร้อน คือการฉีดสารเคมี หรือ ใส่กาววิทยาศาสตร์ เพื่อเข้าไปทำลายผนังหลอดเลือดดำจนไม่มีเลือดไหลผ่าน ซึ่งวิธีนี้เป็นการผ่าตัดสมัยใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม และให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการผ่าตัดแบบเดิม ทำให้มีแผลขนาดเล็กประมาณ 2 – 3 มมเจ็บน้อย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล และเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า 

 “การรักษาแผลเส้นเลือดขอด ถ้ารักษาไม่ถูกวิธี เช่น เจอแผลแล้วทำแค่แผล จะยิ่งทำให้เกิดการลุกลาม แผลอาจมีน้ำเหลืองออกมามากขึ้น โดยวิธีที่ถูกต้องคือการรักษาแรงดันในหลอดเลือดดำ เพราะถ้าไม่ลดแรงดัน แผลก็จะไม่หาย เพราะฉะนั้นหากพบว่ามีปัญหาเรื่องเส้นเลือดขอด ควรเข้ามาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องและได้รับการรักษาที่เหมาะสม” นายแพทย์ศุภชัยกล่าว 

นายแพทย์ศุภชัย จันทร์วิทัน
ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านหลอดเลือด
โรงพยาบาลเวชธานี 
Written By
More from pp
“มูลนิธิอมตะ เปิดตัวหนังสือ “ชีวิตวัย 70” ผ่าชีวิต “วิกรม กรมดิษฐ์” จุดประกายพลังบวก ผ่านมุมมองต้นแบบการใช้ชีวิตทุกช่วงวัย
มูลนิธิอมตะ ได้ฤกษ์เปิดตัวหนังสือ “ชีวิตวัย 70” เขียนโดย คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ และ เรียบเรียง โดย นพ.พงศกร...
Read More
0 replies on “6 ระยะเส้นเลือดขอด รักษาถูกวิธี ลดโอกาสเสี่ยงลุกลาม ”