“หรือรัฐสภากล้าสวนศาล?” – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

“คำวินิจฉัยกลาง” ของศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว ร้อนๆ
พวกเนติบริกรที่บอก….
“๔ บรรทัดครึ่ง อ่านแล้วงง ต้องรอฉบับเต็ม” นั้น
“ฉบับเต็ม” มาแล้ว ได้อ่านแล้ว เปลี่ยนจากงง เป็นจะกลิ้งต่อยังไง อย่างนั้นกระมัง?

ก็อยากเห็นนะ ว่าพรุ่งนี้ ๑๗ มีนา.รัฐสภาจะโหวตวาระ ๓ หรือไม่ หรือจะกลับไปนับ ๑ ตามช่องทางที่ศาลฯ บอก ถ้ายังอยาก “เขียนใหม่” ทั้งฉบับ

ศาลฯ ท่านฟันฉับ….
“แม้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากแต่เป็นอำนาจที่ได้รับมอบมาซึ่งถูกจำกัดทั้งรูปแบบกระบวนการ และเนื้อหา

รัฐสภาจึงต้องทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบอย่างเคร่งครัด โดยไม่อาจกระทำนอกขอบของหน้าที่และอำนาจที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงต้องอยู่ในเงื่อนไขที่มีความผูกพันกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ยึดโยงกับหลักการพื้นฐานและให้เหมาะสมและสอดคล้องกับมติมหาชน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ หมวด ๑๕

“เพียงบัญญัติให้สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น”

การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด ๑๕/๑
ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐

“ไม่มีบทบัญญัติให้จัดทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับ”!

ชัดเจน…….
รัฐสภามี “อำนาจหน้าที่” แค่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เท่านั้น
อำนาจ “จัดทำ” รัฐธรรมนูญ
คนละเรื่อง-คนละอำนาจ กับอำนาจ “สถาปนา” รัฐธรรมนูญ

“อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” เป็นของประชาชน ไม่ใช่อำนาจของรัฐสภา
ถ้ารัฐสภาอยากเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ต้องถามประชาชนก่อนว่า “ยอมมั้ย”?

ถ้าประชาชนยอม รัฐสภาจึงจะมีอำนาจหน้าที่จัดทำใหม่ทั้งฉบับได้

สรุป ที่สส.-สว.ทำกันอยู่ตอนนี้ในรัฐสภา “ผิด” เพราะไม่มีบทบัญญัติให้จัดทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับ
ทำได้เพียง “แก้ไขเพิ่มเติม” รายมาตราเท่านั้น!

ถ้าอยาก “เขียนใหม่” ทั้งฉบับจริงๆ
ต้องไปถามประชาชน “ผู้มีอำนาจสถาปนา” รัฐธรรมนูญก่อน ว่าต้องการมีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่?

ไปอ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็มได้ในไทยโพสต์ได้ เผยแพร่ทาง “เว็บไซต์ไทยโพสต์” ไปแต่เย็นวานแล้ว (๑๕ มีค.)

ส่วนผม จะนำเฉพาะประเด็นที่ตีความกันไปร้อยแปดมาให้อ่าน ว่าคำวินิจฉัยของศาลนั้น ยึดโยงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญทุกประการ
ไม่มีประเด็นไหนวินิจฉัยโดยไม่มีกฎหมายรองรับ
………………

“……ดังนั้น หลักการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กำหนดข้อความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๕ มิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยเด็ดขาด
ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นไปตามมาตรา ๒๕๖(๑)ถึง(๙)

และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสามารถกระทำได้โดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามมาตรา ๑๕๖(๑๕)

โดยกำหนดให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๕๖ ซึ่งต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดโดยเคร่งครัด ว่า
กรณีใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้โดยเด็ดขาด ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๕
หรือกรณีใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ หากแต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยการจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามมาตรา ๒๕๖(๘)

การที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่….) พุทธศักราช….ทั้งสองฉบับต่อที่ประชุมร่วมกันรัฐสภาตามมาตรา ๒๕๖ ซึ่งมีหลักการและเหตุผลให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น

โดยมีเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด ๑๕/๑ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
และมาตรา ๒๕๖/๑ ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ นั้น

(ศาลฯ) เห็นว่า….
การที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๕๖(๑๕)บัญญัติให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกระทำโดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มุ่งประสงค์ให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการใช้อำนาจของรัฐสภาโดยเฉพาะ
อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้กระบวนการใช้อำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภา

ในกรณีดังกล่าว มีหลักเกณฑ์และวิธีการซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากการทำหน้าที่ในกระบวนนิติบัญญัติทั่วไป
โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญและรักษาความต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ

กล่าวได้ว่า….
แม้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากแต่เป็นอำนาจที่ได้รับมอบมาซึ่งถูกจำกัดทั้งรูปแบบกระบวนการ และเนื้อหา

รัฐสภาจึงต้องทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบอย่างเคร่งครัด โดยไม่อาจกระทำนอกขอบของหน้าที่และอำนาจที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงต้องอยู่ในเงื่อนไขที่มีความผูกพันกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ยึดโยงกับหลักการพื้นฐานและให้เหมาะสมและสอดคล้องกับมติมหาชน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ หมวด ๑๕ เพียงบัญญัติให้สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น
ไม่มีบทบัญญัติให้จัดทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับ
การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด ๑๕/๑ ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐
อันเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญ ที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมต้องการปกป้องคุ้มครองไว้

หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อน
ว่า…สมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
ถ้าผลการออกประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป

เมื่อเสร็จแล้ว….
ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการให้ประชาชนพิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมภิไธยแล้ว จึงนำประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป
อันเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญตามคัลลองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า….

รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อน

ว่า…ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว
ต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

นายวรวิทย์ กังศศิเทียม
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นายวิรุฬ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นายจิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นายบรรจงศักดิ์ วงปราชญ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
……………………

ครับ…ชัดขนาดนี้ จบมั้้ย?
ถ้าสส.-สว.ไม่ยอมจบ
“ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ”จะช่วยทำให้จบ!

Written By
More from plew
เหนือกฎหมาย คือ กฎกรรม-เปลว สีเงิน
คลิกฟังบทความ..⬇️ เปลว สีเงิน พวกคิด “ล้มเจ้า”…… สุดท้าย “ตัวเอง” เป็นฝ่ายล้ม! ได้รับการเสนอเป็นนายกฯ ก็ตกใต้ถุน
Read More
0 replies on ““หรือรัฐสภากล้าสวนศาล?” – เปลว สีเงิน”