เปิดมุมมองการศึกษาด้วยวิธี ‘ฮัฟรูทา’ กับ ฯพณฯ ดร.เมเอียร์ ชโลโม เอกอัคราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย

ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและอัตราการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ พ่อแม่และบุคคลากรทางการศึกษาต่างเร่งพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้ถึงขีดสุด แต่ผลลัพธ์ของเด็กไทยยังไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าไรนักเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของนักเรียนประเทศอื่น…

วันนี้ นานมีบุ๊คส์ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ฯพณฯ ดร.เมเอียร์ ชโลโม เอกอัคราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยถึงการศึกษาของประเทศอิสราเอล และการเรียนการสอนแบบ ‘ฮัฟรูทา’

Q: ‘ฮัฟรูทา’ คืออะไรคะ

A: หากแปลแบบตรงตัว ‘ฮัฟรูทา’ หมายถึง ‘มิตรภาพ’ ครับ ตามธรรมเนียมแล้ว วิธี ‘ฮัฟรูทา’  จะให้เด็กจับคู่วิเคราะห์และถกเถียงเกี่ยวกับหัวข้อจากคัมภีร์ทาลมุด (Talmud) ซึ่งเป็นคัมภีร์ของศาสนายูดาห์ และส่งเสริมให้ทั้งคู่เป็นครูของกันและกัน วิธีนี้ช่วยปลูกฝังให้เด็กรู้จักร่วมมือร่วมใจกัน ฝึกมีทักษะการคิดเชิงวิพากย์ และทักษะการเข้าสังคม

Q: เราสามารถนำวิธีฮัฟรูทาไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์แขนงอื่นได้ไหมคะ

A: วิธีฮัฟรูทามีรากมาจากการศึกษาศาสนายูดาห์ก็จริง แต่ปัจจุบันมีการใช้วิธีนี้ในระบบการศึกษาของอิสราเอลแล้ว และด้วยความที่อิสราเอลเป็นประเทศที่สังคมก้าวหน้า เราส่งเสริมให้เด็กๆฝึกการระดมความคิด ถามคำถาม โต้แย้งถกเถียง และสงสัยสิ่งต่างๆ พูดง่ายๆคือเราฝึกให้พวกเขาถามคำถามด้วยคำว่า ‘ทำไม’ มากกว่า ‘อย่างไร’

Q: เราต่างลงความเห็นกันว่าชาวยิวเป็นชนชาติที่ฉลาดที่สุด ท่านเห็นด้วยหรือไม่ และอะไรทำให้ชาวยิวได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบนั้นคะ

A: วัฒนธรรมอิสราเอลมองหาวิธีการคิดนอกกรอบและเปิดกว้างทางความคิด ซึ่งมาจากพื้นฐานองค์ความรู้ที่กว้างขวางและวิธีการศึกษาแบบสหวิทยาการครับ วิธีการเรียนรู้จากกลุ่มเพื่อนคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้เข้าไปสำรวจสิ่งใหม่อย่างแท้จริง ปัจจัยเหล่านี้บวกกับลักษณะสังคมเฉพาะตัวของอิสราเอลทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจอิสราเอลพัฒนาจนติดอันดับต้นๆในดัชนีนวัตกรรมโลกหลายสำนัก ซึ่งตัวชี้วัดคืออัตราส่วนจำนวนบริษัท start-up ต่อประชากรในประเทศที่มีมากที่สุดในโลก และการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐที่สูงที่สุดครับ

Q: สุดท้ายนี้ อยากให้ท่านช่วยแนะนำเคล็ดลับพัฒนาวิธีการสอนของครูสักหน่อยค่ะ ท่านคิดว่าครูจะพัฒนาวิธีการสอนได้อย่างไรบ้างคะ

A: ครูควรนำนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอนและนำวิธีฮัฟรูทามาใช้จริงในห้องเรียน เช่น ปล่อยให้เด็กๆค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง และไม่ใช้วิธีการสอนแบบเดิมๆที่ไม่เป็นผลดีต่อตัวเด็กครับ

นอกจากนี้ ฯพณฯ ดร.ชโลโมยังเพิ่มเติมอีกว่าประเทศอิสราเอลนั้นพยายามแบ่งปันความรู้อันเฉพาะตัวนี้ไปทั่วโลกผ่านศูนย์ความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างประเทศของอิสราเอลหรือ ‘มาชาฟ’ หน่วยงานจัดฝึกอบรมผู้ประกอบวิชาชีพหลากหลายแขนง ไม่เว้นแม้แต่วิธีการเรียนการสอนของอิสราเอลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หน่วยงานนี้กระจายตัวอยู่ทั่วโลก ในประเทศไทย ‘มาชาฟ’ ก่อตั้งมาร่วม 60 ปีแล้ว มีผู้เข้าร่วมโครงการฝึกมากกว่า 1,000 ท่าน และแต่ละท่านล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับอาวุโสจากหลากหลายอาชีพ รวมถึงบุคลากรผู้ให้การศึกษาด้วย

Written By
More from pp
เพื่อไทย ยัน ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือนป.ตรี 25,000 บาท ทำได้จริง แต่ไม่ใช่ตอนนี้
เพื่อไทย ยัน ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บ.เงินเดือน ป.ตรี 25,000 ทำได้จริง เหตุหากรัฐบาลเพื่อไทยยกระดับ ศก.ทั้งระบบ ภาคการผลิต การเกษตร...
Read More
0 replies on “เปิดมุมมองการศึกษาด้วยวิธี ‘ฮัฟรูทา’ กับ ฯพณฯ ดร.เมเอียร์ ชโลโม เอกอัคราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย”