เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 กระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งประกาศเรื่อง การเปิดการเรียนการสอนของสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ภายหลังจากได้มีประกาศให้ปิดสถานศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุดของการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ใน 28 จังหวัด
โดยประกาศดังกล่าวให้สถานศึกษาทุกแห่งของรัฐและเอกชน ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการเปิดการเรียนการสอนตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป แต่ต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
ยกเว้นโรงเรียนในจังหวัดสมุทรสาคร ยังคงปิดการเรียนการสอนเช่นเดิม และให้ใช้แนวทางจัดการเรียนการสอนแบบทางไกลหรือวิธีอิเล็กทรอนิกส์ หรือการให้ใบสั่งงานหรือมอบหมายงานตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียน
สำหรับโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม และปทุมธานี) ให้เปิดการเรียนการสอนได้ โดยแต่ละห้องเรียนต้องมีนักเรียนไม่เกิน 25 คน กรณีห้องเรียนไม่เพียงพอให้จัดการเรียนการสอนด้วยการสลับวันเรียน
ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามแนวทางป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขและมาตรการของหน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ดังกล่าวเพิ่มเติม ภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ว่า
ทั้งนี้ จะติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นระยะเวลา 15 เพื่อพิจารณาถึงแนวทางและมาตรการการเปิดการเรียนการสอนอีกครั้งหนึ่ง
นายณัฏฐพล กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุม สช.วันเดียวกัน ได้พิจารณาถึงข้อร้องเรียนของผู้ปกครองถึงการคืนเงินบางส่วนที่ได้ชำระค่าบำรุงการศึกษา หรือค่าเทอมไปแล้ว แต่เนื่องจากมีการปิดโรงเรียน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์แทน
โดยที่ประชุมเห็นชอบให้โรงเรียนเอกชนทั่วประเทศไปจัดทำรายละเอียดว่า สามารถให้ส่วนลดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทางการศึกษาอะไรบ้าง และให้นำส่งช้อมูลให้ทาง สช.ทราบ
“ที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนไม่สามารถคำนวณได้ว่า จะชดเชยหรือให้ส่วนลดเพื่อชดเชยภาระของผู้ปกครองอย่างไร เพราะไม่ทราบว่าจะมีการหยุดเรียนกี่วัน แต่วันนี้สามารถคำนวณได้แล้วว่าไม่ได้เปิดเรียน ให้บริการการเรียนการสอนกี่วัน มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่จะนำมาคำนวณ เช่น ค่าอาหาร ค่ารถรับส่ง ค่าทัศนศึกษา เป็นต้น
ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีแนวทางของตนเองในการนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณา และชี้แจงต่อผู้ปกครอง” นายณัฏฐพล กล่าวและว่า ตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และเลขาธิการ สช. พร้อมรับเรื่องร้องเรียนใดๆ ที่เกิดขึ้น หากมีปัญหาเกี่ยวกับการคืนค่าบริการที่ไม่เกิดขึ้นจริง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า ในส่วนของรัฐบาลกำลังพิจารณาหาแนวทางสนับสนุนค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าอินเตอร์เนท ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี.จะพิจารณาและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อการขออนุมัติต่อไป